(0)
600.- แหนบหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อายุ84ปี ลงยาขาวชมพู สภาพสวยเดิมค่ะ








รายงานผลโหวต

จากรูปพระแท้ 0% [0]
จากรูปพระแท้แต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง     0% [0]
จากรูปพระเก๊ 0% [0]
พระดูยากจากรูป 0% [0]

จำนวน โหวต



ชื่อพระเครื่อง600.- แหนบหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อายุ84ปี ลงยาขาวชมพู สภาพสวยเดิมค่ะ
รายละเอียดแหนบหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อายุ84ปี ลงยาขาวชมพู สภาพสวยเดิมค่ะ สภาพตามรูปทุกประการค่ะ

ประวัติ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ (พระราชธรรมาภรณ์) วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม อดีตพระคณาจารย์นักพัฒนา พระเครื่อง และวัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยมด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก

ในอดีตนั้น วัด คือจุดศูนย์รวมของชุมชน โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลความเจริญ เป็นทั้งแหล่งให้วิชาความรู้เป็นแหล่งอบรมศีลธรรม เป็นแหล่งสถานพยาบาลในยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงเป็นแหล่งที่พึ่งทางจิตใจ โดยพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

นอกจากนั้นแล้ว พระสงฆ์ยังมีฐานะเป็นแกนนำสำคัญของชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีความเจริญด้านต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จาก อัตชีวประวัติของพระคณาจารย์ดังในอดีตทุกท่านทุกองค์ ต่างประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด อันเนื่องจากว่าท่านเหล่านั้นเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา และพุทธศาสนิกชน เมื่อทำการสิ่งใดจึงสำเร็จได้โดยง่าย ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านในชุมชนนั้น พระสงฆ์จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนในทุก ๆ ด้าน

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ หรือ สมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับการยกย่อง และเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้านดอนยายหอม รวมถึงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก จนได้รับสมญานามว่า เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นเสาหลักที่พึ่งพักพิงผู้เดือดร้อน อบรมบ่มนิสัยให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาพระอาราม และชุมชน ให้มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน ไม่จะเป็นเสนาสนะ ถาวรวัตถุ การศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม รวมถึงสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมไม้ของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก เคารพนับถือ และศรัทธาของตนเอง คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม งานทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ติดขัด

กล่าวได้ว่า ท่านหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม คือ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม โดยแท้ แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่สิ่งต่าง ๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ และเป็นเช่นนี้ชั่วกาลนาน

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นคนบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรมที่มีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งของบ้านดอนยายหอม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2433 (ร.ศ. 109, จ.ศ. 1252) ตรงกับขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เป็นบุตรของ พ่อพรม-แม่กรอง นามสกุล ด้วงพูลเกิด มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 คือ

1. นายอยู่
2. นายแพ
3. นายทอง
4. ท่านหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
5. นายแจ้ง
6. นายเนียม
7. นางสายเพ็ญ
8. นางเมือง

ในจำนวนบุตรทั้งหมด 7 คนนี้ ท่านเป็นคนที่ได้รับการโปรดปรานจากบิดา-มารดามากที่สุด เพราะอุปนิสัยของท่านเป็นคนอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย มีสติปัญญาเฉียบแหลม ทั้งยังได้ยึดถือตัวอย่างจากบิดาที่ประพฤติดีประพฤติชอบ ขยันขันแข็ง ไม่เป็นนักเลงอันธพาล หรือปล่อยเวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์

วัยเยาว์ของท่าน ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่บ้าน มีพ่อพรมเป็นผู้สอน ด้วยเหตุว่าพ่อพรมนั้นเป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหนังสือไทย อักขระขอม และวิชาอาคมต่าง ๆ จึงได้ถ่ายทอดให้กับลูกทุกคน ควบคู่ไปกับการสอนศีลธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ เป็นประจำ เป็นการปลูกฝังพื้นฐานที่ดีงามแก่ลูก ๆ ทั้งชายหญิง ให้มั่นคงในพระศาสนา ดังนั้น เมื่อบุตรชายคนใดอายุครบอุปสมบท พ่อพรมจะจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่ครึกครื้น มีมโหรี แตรวง กลองยาว แห่แหนกันอย่างสนุกสนาน ลูกชายคนโต ไม่ว่าจะเป็น นายอยู่ นายแพ นายทอง ต่างอุปสมบทบวชเรียนจนได้ลาสิกขาบทออกมาแต่งงาน แยกเรือนออกไปเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว

เมื่อถึงคราวท่านหลวงพ่อเงินอุปสมบท พ่อพรมได้จัดงานให้อย่างเรียบง่าย ด้วยรู้ใจของบุตรชายดีว่า เป็นคนไม่ชอบความครึกครื้นเหมือนคนอื่น ถึงเวลาก็แห่รอบพระอุโบสถสามรอบ และทำพิธีบรรพชา-อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เวลา 18.15 น. ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ

ภายหลังการอุปสมบท ได้พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนยายหอมตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย รวมถึงบทสวดมนต์ต่าง ๆ ท่านก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเพียงชั่วพรรษาแรก ก็สามารถสวดพระปาฏิโมกข์จนจบได้อย่างแคล่วคล่อง สิ่งที่ท่านทำควบคู่กันโดยตลอด คือ การฟื้นฟูทบทวนคาถาอาคมต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนศึกษามาจากผู้เป็นบิดาอย่างไม่เคยขาด

ในพรรษาต่อมา ได้เริ่มศึกษาฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่บิดาได้แนะนำ ใช้เวลาและฝึกฝนปฏิบัติอยู่นานถึง 5 ปี จนมีความเชี่ยวชาญชำนาญ พรรษาที่ 6 เริ่มออกเดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก เป็นการฝึกจิตสมาธิให้กล้าแข็ง ตามแบบของพระคณาจารย์ยุคเก่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา อันเป็นการกำจัดเอาอาสวกิเลสให้บรรเทาเบาบาง ทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาไปในตัว ท่านเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงได้ไปกราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก ซึ่งต่อมาภายหลังท่านได้นำแบบอย่างมาจำลอง สร้างเป็นวัตถุมงคลชนิดต่าง ๆ ดังปรากฏพบเห็น และเล่นหาสะสมกันอยู่ในปัจจุบัน

ในพรรษาที่ 6 นี่เอง ภายหลังที่ท่านกลับจากการออกเดินธุดงค์ ไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2459

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เนื่องจาก พระปลัดฮวย อดีตเจ้าอาวาสมรณภาพ

วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2472 เป็นพระปลัด ฐานานุกรมของเจ้าคณะเมืองนครปฐม

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2473 เป็นพระอุปัชฌาย์

วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูทักษิณานุกิจ

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมาภรณ์

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทย์วิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ท่านสร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมายจนนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังมีเมตตาต่อบรรดาลูกศิษย์อย่างเสมอภาค ไม่แบ่งแยกมั่งมี หรือยากจน ทุกคนเท่าเทียมกัน

นอกจากท่านจะเป็นที่พึ่งทางจิตใจแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่นำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นอย่างมากมาย นับเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2459 ซึ่งเป็นปีที่ท่านรับตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ขณะนั้นวัดกำลังทรุดโทรม เสนาสนะต่าง ๆ หรือ แม้กระทั่งกุฏิ ชำรุด ผุพังเกือบทั้งหมด ท่านได้เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ เพื่อให้เสนาสนะกลับฟื้นคืนสภาพดีดังเดิม นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ท่านยังได้ก่อสร้างถาวรวัตถุอีกหลายอย่าง เช่น ปี พ.ศ. 2465 สร้างหอสวดมนต์ ปี พ.ศ. 2470 สร้างศาลาการเปรียญ ปี พ.ศ. 2480 สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต ปี พ.ศ. 2492 หล่อพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตัก 4 ศอก 6 นิ้ว ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปี พ.ศ. 2470 สร้างสถานีอนามัย ปี พ.ศ. 2497 และสร้างโรงเรียนสหศึกษาบาลี สร้างตึกเรียนพระปริยัติธรรม สร้างโรงเรียนประชาบาล ฯลฯ

กิจวัตรของหลวงพ่อเงิน

กิจวัตรประจำของหลวงพ่อเงินนั้น ท่านตื่นเวลา 5.00 น. ล้างหน้าครองจีวรแล้ว ก็สวดมนต์เจริญภาวนาพอได้เห็นอรุณท่านก็ออกเดิน (สมัยยังหนุ่มท่านไปบิณฑบาตด้วย) ตรวจดูความสะอาดและสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด เวลา 7.00 น. ฉันเช้าเสร็จก็นั่งพักผ่อนหรือรับแขกที่หน้ากุฏิของท่าน ในระหว่างเวลาที่พักผ่อนนี้ ท่านมักจะนิมนต์พระในวัดมาสอบถามความเป็นไปต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสสั่งสอนบ้าง บางทีก็เรียกศิษย์วัดไปนั่งเป็นกลุ่มให้หัดท่องหนังสือบ้าง ให้มีผู้อ่านหนังสือให้ท่านฟังบ้าง หากว่างจริง ๆ ท่านก็มักจะนั่งสงบจิตอยู่ผู้เดียว ซึ่งความจริงโอกาสว่างหรือจะพักผ่อนจริง ๆ หาได้น้อยเต็มที ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปในการรับแขกเกือบทั้งสิ้น

เวลา 11.00 - 12.00 น. ฉันเพล เมื่อเสร็จแล้ว ก็กลับมานั่งหน้ากุฏิเพื่อรับแขก ซึ่งมักจะมีมากันมากหน้าหลายตาในตอนนี้ เพราะเป็นแขกที่มาจากต่างท้องที่หรือจังหวัดไกล ๆ ต้องเสียเวลาเดินทางมา ตอนเย็นราว 19.00 น. หลังจากสรงน้ำ ซึ่งเป็นเวลาพลบค่ำท่านก็จะหาโอกาสสั่งสอนพระภิกษุหรือชาวบ้านไปจนถึง 22.00 - 23.00 น. จึงจะขึ้นกุฏิเพื่อเตรียมตัวจำวัด แต่ก่อนจำวัด ท่านจะต้องเข้าห้องพระบูชาพระรัตนตรัยแล้วเข้ากลด ซึ่งทำเป็นลักษณะคล้ายกับของภิกษุซึ่งออกธุดงค์ ข้าง ๆ กลดมีรูปกะโหลกศีรษะและโครงกระดูกคน เข้าใจว่าสำหรับใช้ปลงกัมมัฏฐาน

กิจวัตรของหลวงพ่อเงินที่กล่าวข้างต้น แตกต่างกันมากมายระหว่างฤดูเข้าพรรษากับฤดูออกพรรษา เพราะในตอนเข้าพรรษามีพระบวชใหม่มาก มีชาวบ้านมาวัดมาก ประกอบกับงานนิมนต์ต่างท้องที่นอกวัดก็ลดน้อยลง หลวงพ่อเงินจึงมีเวลาอยู่วัดมากขึ้น หลวงพ่อเงินได้ใช้เวลาเหล่านี้ในการฝึกสอนอบรมพระลูกศิษย์วัดตลอดจนชาวบ้าน โดยเฉพาะอุบาสกอุบาสิกา ที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ โดยปกติ การลงอุโบสถในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หลวงพ่อเงินไม่ยอมขาดเลย สำหรับวันพระ 15 ค่ำ หลวงพ่อจะต้องพยายามลงให้ได้ แม้จะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย หลวงพ่อเงินก็ไม่ยอมเสียโอกาส

ผู้ที่อยากจะสนทนากับหลวงพ่อเงินนาน ๆ ก็จะต้องหาทางให้ท่านบรรยายธรรมะ เพราะหลวงพ่อเงินสนใจจะพูดคุยด้วยยิ่งกว่าการคุยเรื่องอื่น บ่อยครั้งที่ลูกศิษย์ลูกหาต้องนั่งฟังหลวงพ่อเงินคุยเรื่องธรรมะ ธรรมโม อยู่จนตีหนึ่ง ตีสอง โดยไม่รู้สึกง่วง เพราะหลวงพ่อเงินเข้าใจหาเรื่องมาสอนและถูกรสนิยมผู้ฟังด้วย หลวงพ่อเงินถือคติว่า “พระก็เหมือนเนื้อนา ถ้าไม่ดีก็ไม่มีใครเขาหว่านพืชผลลงไป เพราะรังแต่จะสูญเปล่า ไม่ได้ผลกลับคืน” โดยเหตุนี้ท่านจึงวางกฎสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติไว้เคร่งครัด เป็นต้นว่า ถ้าไม่มีกิจจำเป็นจริง ๆ แล้ว พระภิกษุทุกองค์จะต้องทำวัตรเช้าเย็นไม่ว่าจะเป็นออกพรรษาหรือในพรรษา และพระภิกษุต้องตื่นก่อนรุ่งอรุณ คือวัดจะตีระฆังปลุกราว 5.00 น. เมื่อตื่นแล้วต้องครองผ้า สวดมนต์ในห้องเสียก่อนที่จะเปลี่ยนผ้าครองออกไปบิณฑบาต

พระภิกษุในวัดจะต้องมาฉันเพล ฉันจังหันรวมกัน ณ หอฉัน เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วจะพักผ่อนหรือท่องหนังสือก็สุดแต่ใจสมัคร เมื่อฉันเพลแล้ว ถ้าเป็นในฤดูในพรรษาจะต้องขึ้นเรียนพระปริยัติธรรมราว 3 ช.ม. เสร็จจากการเรียนก็สรงน้ำแล้ว พักผ่อนเตรียมตัวทำวัตรเย็น หลังจากการทำวัตรเย็น หลวงพ่อเงินใช้วิธีฝึกฝนพระภิกษุด้วยการให้ฟังเทศน์ โดยพระทุกองค์ผลัดกันแสดงวันละองค์หมุนเวียนไปตามลำดับอาวุโส ถ้าเป็นวันธรรมสวนะด้วยแล้ว ก็จะมีพระภิกษุอาวุโสแสดงปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นหลวงพ่อก็จะอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ บางครั้งต้องอยู่ในอุโบสถ เพื่อฟังโอวาทของท่านถึง 21.00 - 22.00 น. พระภิกษุต้องนั่งพับเพียบเมื่อยแล้วเมื่อยอีก แต่หลวงพ่อเงินไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏ

ถ้าเป็นวันธรรมดาเมื่อเสร็จจากการทำวัตรแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะต้องไปพร้อมกันที่หน้ากุฏิเพื่อรับฟังโอวาทหรือการอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติภายในวัด มีบ่อย ๆ ที่หลวงพ่อเงินก็ไม่ย่อท้อคงรักษาวัตรปฏิบัติตามปกติ แต่เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์จะทราบและขอนิมนต์ว่า จะนวดให้ท่านในระหว่างเวลาที่หลวงพ่อเอนให้นวด หลวงพ่อเงินจะหาเรื่องสนทนาเป็นการอบรมบ่มนิสัยไปด้วยในตัว ผู้ที่หาโอกาสปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเงิน จึงเป็นผู้ที่มักจะได้รับถ่ายทอดธรรมะและความรู้ต่าง ๆ จากหลวงพ่อมากกว่าผู้อื่น ตามปกติหลวงพ่อเงินถือหลักปกครองวัดเสมือนบิดากับบุตร มีทั้งการให้ปันและเอาใจใส่เมื่อเจ็บไข้ แม้ว่าหลวงพ่อเงินจะฉันจังหันเพียงองค์เดียว แต่หลวงพ่อเงินก็แสดงเมตตาจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยการนำอาหารที่มีผู้มาถวายมาแบ่งปัน เฉลี่ยไปยังพระภิกษุสงฆ์อื่น ๆ ภายในวัดอยู่แทบทุกวัน คราวหนึ่งราว 20 ปีมาแล้ว มีพระภิกษุบวชใหม่เกิดอาพาธกะทันหันขึ้นในเวลาค่ำคืน วันนั้นบังเอิญหลวงพ่อเงินรับนิมนต์ไปนอกวัด กว่าจะกลับก็ 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่คนอื่นเข้าห้องนอนกันแล้ว เมื่อหลวงพ่อเงินทราบว่ามีพระป่วย หลวงพ่อเงินก็กระวีกระวาดสั่งลูกศิษย์จุดตะเกียงขึ้นหลายดวง (ขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) แล้วหลวงพ่อเงินก็นำเด็กออกตระเวนหาต้นยาสมุนไพรด้วยตนเอง ชาวบ้านใกล้เคียงเห็นแสงตะเกียงเคลื่อนไหวไปมามากผิดปกติ ก็ออกมาสอบถาม ได้ความว่าเด็กวัดกำลังเก็บสมุนไพร ช่วยหลวงพ่อเงินจนได้ยาครบและถวายพระที่อาพาธในคืนนั้นเอง การปฏิบัติของหลวงพ่อเงินตามที่ยกมากล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายส่วนที่ไม่สามารถจะยกมากล่าวได้ หลวงพ่อเงินสนใจในทุกข์สุขของพระภิกษุสงฆ์ในวัด และเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือด้วยความจริงใจ นับได้ว่าท่านมีความเมตตาธรรมประจำใจสูง

ทราบแล้วว่า หลวงพ่อเงิน ท่านไม่แตะต้องเงินและทอง การเงินของวัดที่มีผู้บริจาค ซึ่งปีหนึ่งเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนนั้น หลวงพ่อเงินได้มอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรรมการวัดทั้งสิ้น การใช้จ่ายจะเป็นอย่างไรสุดแต่กรรมการของวัด ซึ่งปกติกรรมการจะใช้สอยอย่างใดก็ย่อมจะทำได้ แต่โดยที่กรรมการเหล่านั้นก็ล้วนแต่ผู้ใคร่ในการกุศลและได้รับการอบรมดีจากหลวงพ่อเงิน การเงินของวัดจึงเรียบร้อยด้วยเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ทุกคนถือปฏิบัติกันเป็นประจำว่า “ของวัดไม่เอาออก” หมายความว่าการจัดงานใด ๆ เพื่อหาประโยชน์ให้แก่วัดนั้นกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงิน เช่น การจ่ายเงินค่ารถเป็นต้น กรรมการเหล่านี้จะไม่ใช้เงินของวัดเลย ทุกคนจะออกเงินส่วนตัว ส่วนรายได้เท่าใดเข้าวัดหมด และคนดอนยายหอมส่วนมากถือปฏิบัติทำนองนี้เป็นประจำ ชาวดอนยายหอมเหล่านี้ถือว่า เงินหรือทรัพย์สินที่เขาบริจาคเพื่อการบุญการกุศลควรให้ถึงวัด เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้จ่ายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ เพราะ “กลัวบาป” การทำงานของวัดที่มีการละเล่น การแสดง เช่น หนัง ลิเก ก็ตาม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ชาวดอนยายหอมจะต้องหาแยกมาต่างหาก ไม่ยอมเอาเงินทองที่ผู้อื่นทำบุญมาจ่ายในเรื่องนี้เป็นอันขาด คงจะเพราะความเชื่อมั่นเช่นนี้กระมัง คนจึงชอบบริจาคการบุญการกุศลให้แก่วัดดอนยายหอม จนท่านธรรมานันทะ อดชมเชยไม่ได้

หลวงพ่อเงิน ท่านเคยปรารภว่า “ทุกคนเขารู้จักใช้เงินเหมือนกันทั้งนั้น แต่เขาก็พอใจจะใช้จ่ายในที่ซึ่งเขาเห็นว่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ฉะนั้น ถ้าทางวัดทำให้เขาเข้าใจได้เช่นนี้ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีผู้ทำบุญ” คงจะด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดชมเชยกับวัดที่อยู่ในความดูแลของท่านเรื่อย ๆ ว่า “ให้ดูคุณเงิน สมภารวัดดอนยายหอมเขาเป็นตัวอย่างซิ สมภารเด็ก ๆ ก็จริง แต่เขาทำอะไรเป็นหลักฐานดี”

ขอนำคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเดินทางมาตรวจวัดดอนยายหอม แล้วได้ทำการประชุมสงฆ์พร้อมด้วยชาวบ้าน เพื่อเลือกรองเจ้าอาวาส เมื่อ 30 พฤษภาคม 2459 เสร็จแล้วท่านกล่าวกับหลวงพ่อตอนจะกลับว่า “คุณ (หมายถึงหลวงพ่อเงิน) จะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำทางให้เขาไปสู่แสงสว่าง อันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณก็บอกชัดอยู่ว่า เป็นผู้ชอบแผ่เมตตา ขอให้คุณเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระบวรศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด”

ปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน

หลวงพ่อเงินได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ในพระบวรพุทธศาสนาโดยแท้จริง และได้รับสมญานามจากท่านปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอมในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ว่า “จนฺทสุวณฺโณ ” นับแต่เริ่มอุปสมบทปรากฏว่าหลวงพ่อมีขันติ วิริยะยอดเยี่ยม สามารถท่องปฏิโมกข์จบและแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก แล้วยังได้บำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่คุณโยมบิดาของท่านแนะนำเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม ในปลายพรรษาที่ห้านั้นเอง หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 องค์ ก็ได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือผ่านป่าลพบุรี สระบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ค่ำที่ไหนก็กางกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว

ท่านคงจะทราบว่าการเดินทางด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้าไปยังจังหวัดลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ในสมัย 60 ปีมาแล้ว มีความยากลำบากยากแค้นประการใดบ้าง เพราะสมัยนั้นบ้านคนก็ยังไม่ค่อยมีป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสิงห์สาลาสัตว์ร้ายนา ๆ ชนิด ซึ่งยากที่บุคคลผู้ไม่มีอาวุธหรือเครื่องมือป้องกันตนเพียง 3 คน จะผ่านได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย นอกจากนั้นการเดินทางด้วยเท้ากรำแดดฝ่าลมทั้งวัน โดยมีอาหารเพียงวันละมื้อเดียว คงจะมีผู้ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวจริง ๆ และมีความเสียสละอย่างแรงกล้าเท่านั้นจึงจะปฏิบัติได้

เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบากในการฝ่าแดนทุรกันดารเช่นนี้เอง จึงมีเรื่องเล่าต่อมาว่า หลังจากธุดงค์รอนแรมอันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนแล้ว หลวงพ่อก็กลับมาปักกลดอยู่ที่ข้างบ้านดอนยายหอม แต่โดยที่ผิวกายของท่านดำกร้านรูปร่างซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่ผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้ แม้แต่นายแจ้งผู้เป็นพี่ ก็สำคัญว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น ต่อเมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ทราบความจริงเข้าก็ถึงกับตกตะลึงแทบจะปล่อยโฮออกมา ครั้นได้สติแล้วนั่นแหละจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง พี่ทิดแจ้ง” “ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาพักอยู่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีผู้ใดทักฉันสักคน”

ฝ่ายข้างโยมบิดาของหลวงพ่อ คือ “พ่อพรม” นั้นทราบว่าพระลูกชายกลับมาสู่อารามด้วยสมรรถภาพอันแข็งแกร่ง และด้วยจิตใจอันมั่นคงในการปฏิบัติธรรมวินัย ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้ม ขอย้อนกลับไปกล่าวตอนที่หลวงพ่อเริ่มบวชใหม่อีกสักเล็กน้อยก่อน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ 4 ของโยม “พนม ด้วงพูล” เกิดในจำนวนบุตร 8 คน โดยที่โยมบิดาของหลวงพ่อเงินนับได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในตำบลดอนยายหอมขณะนั้น เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่บรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกโยมบิดาของท่านว่า “อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขาบท อาตมาจะเป็นแสงสว่างให้ทางเพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ”

สาเหตุที่ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลกไม่จีรังเหมือนสุขทางธรรม เรื่องของโลกมีแต่ความยุ่งยาก มีความวุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียนและอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพย์รสของความหรรษาทางโลกย่อมมียาพิษเจืออยู่เสมอ ส่วนผู้เสพย์รสพระธรรมไม่เป็นพิษไม่เป็นโทษแต่อย่างใด ท่านมักปรารภให้ผู้ใกล้ชิดได้ยินบ่อย ๆ ว่า “ร่างกายมนุษย์เรานี้ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารที่เต็มไปด้วยกองทุกข์ มนุษย์จะหนีทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถานหรือข้าทาสบริวาร ตรงข้ามสิ่งเหล่านี้เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนหนึ่งจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง”

ตอนหนึ่ง หลวงพ่อเงินได้รับรองไว้กับโยมพ่อของท่านว่า “ฉันจะตั้งอยู่ในธรรมวินัย สร้างความศรัทธาให้แก่เขา (ซึ่งหมายถึงชาวบ้าน ตำบลดอนยายหอม) เพื่อเขาจะได้เชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำสั่งสอน...” แนวคติที่หลวงพ่อยึดถือมีดังนี้คือ

1. การปฏิบัติตามพระวินัย ทุกคนจะยอมรับว่าหลวงพ่อเงินเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ชนิดหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมีมาแล้วหลายครั้งหลายหน เช่น ในคราวที่ท่านอาพาธถึงขนาดต้องไปพักเพื่อรับการรักษาพยาบาลจากนายแพทย์ แพทย์เห็นว่าท่านเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือขาดสารอาหาร จึงประสงค์จะขอถวายอาหารอ่อนๆ จำนวนนมสดในเวลาวิกาลบ้าง เฉพาะในระหว่างที่ท่านอาพาธหนัก เพื่อจะได้ช่วยผ่อนคลายโรคให้หายรวดเร็วขึ้น แต่ทุกครั้งก็ได้รับการปฏิเสธจากท่าน ท่านกล่าวว่า “อาตมาได้เสียสละมานานแล้ว จะขอเสียสละเพื่อพระพุทธศาสนาต่อไป แม้ว่าจะสิ้นชีวิตก็ตาม” นอกจากนั้น ผู้ใกล้ชิดย่อมจะสังเกตได้ว่า หลวงพ่อเงินไม่เคยสนใจกับของขบฉันมิใยใครจะถวายอย่างไร ก็ฉันไปอย่างนั้น อาหารที่มีผู้ถวายเก็บไว้ในกุฏิ ถ้าลูกศิษย์ไม่นำมาถวาย ก็ไม่เคยเรียกร้องหรือให้ความสนใจแม้แต่น้อย ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนน้อย และที่สามารถเห็นได้เสมอ อีกเรื่องหนึ่งที่ทราบกันมานานก็คือเรื่องเกี่ยวกับเงินทอง หลวงพ่อไม่ยอมแตะต้องเด็ดขาด อย่าว่าแต่เงินที่เป็นรูปธนบัตรเลย แม้แต่เพียงเศษเงินหรือทองคำที่มีผู้ขอให้ปลุกเสก หลวงพ่อเงินก็รังเกียจที่จะจับต้องเช่นกัน

2. วิริยะภาพ หลวงพ่อเงินเป็นผู้มีความเพียรเป็นเลิศ เพียงพรรษาแรกท่านก็สามารถสวดปาฏิโมกข์ ได้หลายปีมาแล้ว ผู้ไปติดต่อนิมนต์หลวงพ่อเงินเพื่อกิจพระศาสนาใด ๆ ก็ตาม จะต้องฉวยโอกาส คือ รีบไปนิมนต์แต่เนิ่น ๆ หรือหลายเดือนก่อนวันงาน เพราะบัญชีนิมนต์ของหลวงพ่อเงินเต็มไปหมด หลวงพ่อเงินไม่เคยขัดการรับนิมนต์ในสมัยนั้น หมายถึงการต้องเดินทางด้วยเท้า เพราะถนนและรถยนต์ยังไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ ไม่ว่าแดดจะร้อน ไม่ว่าฝนจะตก หลวงพ่อเงินไปทันงานเสมอ ท้องนารอบ ๆ วัดในรัศมี 15-20 กิโลเมตร หลวงพ่อเงินเดินทะลุปรุโปร่งทุกแห่ง และรู้จักชาวบ้านทั่วไป มีบ่อย ๆ ที่ผู้นิมนต์ไป เมื่อเสร็จงานของตนแล้วก็ลืมนึกถึงหลวงพ่อ ปล่อยท่านกลับวัดตามลำพัง แต่ท่านไม่เคยปริปากบ่น การรับนิมนต์เพิ่งจะเบาบางลงใน 4-5 ปีหลังนี้ เพราะสุขภาพของหลวงพ่อไม่อำนวย แต่หลวงพ่อเงินก็ไม่เคยขัด ถ้าสามารถไปได้ หลวงพ่อเงิน รับนิมนต์เสมอบางครั้งทั้ง ๆ ที่ไม่สบายหรือเพิ่งหายป่วย ก็ยังรับนิมนต์เพื่อไม่ให้เขาเสียความตั้งใจ จนร้อนถึงคณะกรรมการวัดต้องปิดประกาศไว้หน้ากุฏิ ขอร้องให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายระงับการนิมนต์ในงานที่ต้องเดินทางไกล ๆ เสียบ้าง

3. การมีสมาธิ หลวงพ่อเงินเป็นผู้ตั้งมั่น เด็ดเดี่ยว มุ่งหน้าไปทางธรรมจนขนาดถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเดียว ท่านเคยปรารภให้ผู้ใกล้ชิดฟังเสมอว่า ท่านตั้งใจแต่ก่อนอุปสมบทแล้วว่า ท่านจะบวชและบำเพ็ญกรณียกิจอยู่ในสมณะจนตลอดชีพ จนกระทั่งบัดนี้ท่านก็ยังยึดมั่นอยู่เช่นนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง

4. สัจจะ หลวงพ่อเงินยึดมั่นอยู่ในสัจจะ ท่านกระทำทุกสิ่งด้วยความจริงใจ กิจการใด ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่านจะสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีเสมอ

5. ละโลภ หลวงพ่อเงินมีความรู้สึกที่เป็นศัตรูต่อความโลภมาตั้งแต่ก่อนอุปสมบท จะเห็นได้ว่าท่านสละมรดกของท่าน ท่านไม่เคยเกี่ยวข้องยินดีในลาภสการ ไม่เคยแตะต้องกับเงินทอง ไม่ยินดีในลาภยศสรรเสริญ มีเรื่องเล่ากันว่า ในคราวที่ท่านเจ้าคุณรัตนเวที เลขานุการของสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ซึ่งขณะนี้เป็น “พระราชโมฬี” ได้ขอให้คณะกรรมการวัดจัดทำประวัติของหลวงพ่อในการปกครองวัดดอนยายหอม เพื่อจะขอรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อเงินได้กล่าวกับลูกศิษย์อย่างเปิดอกว่า “เชื่อฉันเถอะเอ็งเอ๋ย เกียรติยศ บรรดาศักดิ์ไม่ได้เป็นของ วิเศษ ทำให้ฉันมีอายุยืนนานยืนยาวออกไปได้อีกหรอก ยังไง ๆ ฉันก็เป็นหลวงพ่อเงินอยู่นั่นเอง ใครจะมาเรียกฉันว่าเจ้าคุณนั่น เจ้าคุณนี่ คิดดูแล้วฉันก็มีผ้าห่มคือ สบง จีวร ปีละ 2 ชุดเก่า ๆ ฉันก็มีอาหารสองมื้อ สมณศักดิ์ป้องกันความเจ็บไข้ก็ไม่ได้ ฉันเบื่อความเป็นใหญ่ พระบ้านนอกอย่างฉัน เท่าที่ทางคณะสงฆ์ให้เกียรติได้เป็นถึงเจ้าคุณนั้น ก็ดีถมไปแล้ว...”

ผู้ไปนมัสการหลวงพ่อเงินที่วัดดอนยายหอม จะเห็นคติธรรมที่หลวงพ่อเงินขอให้เขียนไว้เตือนใจ 2 แผ่น แผ่นหนึ่งมีข้อความว่า “จิตหาญ ใจพ้นทุกข์ สุขด้วยธรรม” และอีกแผ่นหนึ่งว่า “รู้จักพอ ก่อสุขทุกสถาน” และอาจเป็นเพราะภาษิตหลังนี้กระมัง เหรียญที่ระลึกของหลวงพ่อเงินแทนที่จะจารึกว่า “พระราชธรรมาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อเงิน” จึงกลายเป็น “หลวงพอเงิน” ซึ่งหลวงพ่อพอใจในชื่อหลังนี้มาก

มีผู้ได้ยินพระปัญญานันทมุนี แห่งวัดชลประทานปากเกร็ด ปราศรัยกับประชาชนที่มาชุมนุม ณ ศาลาการเปรียญที่วัดนั้น คราวมีงานผูกพัทธสีมาว่า “หลวงพ่อเงินองค์นี้ ท่านศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นพระไม่มีความอยากได้ ไม่โลภ แต่คนก็ชอบถวายและชอบไปทำบุญกับท่านนัก” ในคราวมีงานฝังลูกนิมิตของวัดดอนยายหอม หลวงพ่อเงินไม่ยอมออกไปนอกหัตถบาทดังที่สมภารอื่น ๆ ถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีมิหนำซ้ำ ท่านยังร่วมทำสังฆกรรม และลงมือผลักลูกนิมิตเอง เป็นการปฏิวัติประเพณีเก่าที่เชื่อกันมาว่า สมภารของวัดผู้ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถเสร็จลุล่วงไปจนถึงขั้นจัดงานฝังลูกนิมิตหรือผูกพัทธเสมา จะต้องหนีออกไปเสียให้พ้น มิฉะนั้นจะต้องตายไปสู่พรหมโลก เพราะเทวดาเห็นว่าได้กระทำการบุญอันยิ่งใหญ่สูงสุดแล้ว

โดยที่หลวงพ่อเงินมิได้ปฏิบัติตามประเพณีนี้ ท่านเจ้าคุณกวีวงศ์ ป.9 ในสมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้รับนิมนต์ไปในงาพิธีด้วย จึงเกิดความสงสัยจนอดไว้ไม่ได้และถามว่า “การอยู่ในหัตถบาทหรือนอกหัตถบาทนั้น ท่านพระครู (ขณะนั้นหลวงพ่อเงินมีฐานะเป็นพระครู) มีหลักปฏิบัติอย่างไร” หลวงพ่อเงินตอบว่า ท่านไม่มีหลักอย่างไร ได้แต่เพียงสันนิษฐานเท่านั้น และท่านเห็นว่า เป็นแต่เพียงนโยบายหรือกลวิธีอันหลักแหลมของท่านผู้ออกบัญญัติ เพื่อจะขับสมภาคบางองค์ ที่ไม่บริสุทธิ์เพียงพอและเป็นที่รังเกียจแก่ภิกษุในอารามมาก ให้ออกไปเสียจากอารามเท่านั้น เพราะถ้าผู้ใดได้ทำความดีถึงขนาดแล้ว จะทำให้ต้องถึงแก่ชีวิต ก็เชื่อว่าไม่มีนักบุญคนใดเขาหวาดกลัวเลย นอกจากนั้นพระท่านก็สอนให้ภิกษุใช้ปัญญาปลงสังขาร ว่าไม่เที่ยงอยู่แล้ว ใยจะมากลัวอะไรกับความตาย”

เมื่อเดือน ธันวาคม 2504 หลวงพ่อเงินได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนาม “พระราชธรรมาภรณ์” ข่าวนี้ ก่อความปลื้มปิติแก่ลูกศิษย์และชาวดอนยายหอมเป็นล้นพ้น เมื่อได้ปรึกษากันแล้ว ก็ลงความเห็นว่า ควรจะมีการฉลองตราตั้ง ซึ่งพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์ แต่หลวงพ่อไม่เห็นด้วยกับความดำรินี้ และเมื่อผู้ใกล้ชิดไปขอทราบเหตุผลกับท่าน ๆ กล่าวว่า “ฉันเชื่อในศรัทธาของชาวบ้านที่มีโดยตรงต่อฉัน ฉันภูมิใจอยู่เสมอในความกตัญญูเหล่านั้น แต่ลองคิดดู ฉันอยู่อย่างเป็นสุข มีอาหารก็อย่างดี ที่อยู่ก็อย่างดี เท่านี้ก็นับว่าชาวบ้านเขาเลี้ยงชีวิตฉันแล้ว จะรวบกวนให้เขาต้องเสียเงินทองและเหน็ดเหนื่อย มีโขน มีละคร มาเฉลิมฉลองอีก ฉันว่าเอาเปรียบชาวบ้านเขาเกินไป”

ตกลงคราวนี้ คณะกรรมการวัดต้องจัดงานวางศิลาฤกษ์หอสมุดประชาชน ประจำตำบลดอนยายหอม ซึ่งที่จริงแล้วก็ถือโอกาสฉลองสมณศักดิ์แทน

กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อเงินยังมีชีวิตอยู่นั้น สร้างคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา ต่อบ้านเมืองมาโดยตลอด ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้ล่วงเลยมาถึงบั้นปลายชีวิตของท่าน ก็ยังคงปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ และแล้ววันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อเงินท่านก็ถึงแก่มรณภาพ รวมสิริอายุ 86 ปี 66 พรรษา

พระแท้รับประกันตามกฏ แท้ทั่วไทย แท้ทุกสนามพระ
ขอรับใช้สมาชิกทุกท่านด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจค่ะ

หมายเหตุ พระทุกองค์ที่ลงประมูลสามารถ inbox มาสอบถามข้อมูลได้น่ะค่ะ ราคามิตรภาพแบ่งกันบูชาค่ะ
ราคาเปิดประมูล550 บาท
ราคาปัจจุบัน600 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ50 บาท
วันเปิดประมูล - 03 เม.ย. 2559 - 09:37:16 น.
วันปิดประมูล - 09 เม.ย. 2559 - 00:29:26 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลseranee (8.3K)


(0)
ข้อมูลเพิ่มเติม 1 - 03 เม.ย. 2559 - 09:37:37 น.



...


 
ราคาปัจจุบัน :     600 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     50 บาท

!!! ปิดประมูลแล้ว !!!

ผู้ชนะประมูล    pichet344 (1.7K)

 

Copyright ©G-PRA.COM