(0)
พระลีลาเนื้อผง คลุกรักผสมสีผึ้ง หลวงปู่ทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง จ.ระยอง หลวงปู่ทิม ร่วมปลุกเศก








รายงานผลโหวต

จากรูปพระแท้ 0% [0]
จากรูปพระแท้แต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง     0% [0]
จากรูปพระเก๊ 0% [0]
พระดูยากจากรูป 0% [0]

จำนวน โหวต



ชื่อพระเครื่องพระลีลาเนื้อผง คลุกรักผสมสีผึ้ง หลวงปู่ทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง จ.ระยอง หลวงปู่ทิม ร่วมปลุกเศก
รายละเอียดพระลีลาเนื้อผง คลุกรักผสมสีผึ้ง หลวงปู่ทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง จ.ระยอง หลวงปู่ทิม ร่วมปลุกเศก รับประกันตามกฏครับ
ประวัติหลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง หรือพระครูอรรถโกศล เป็นคนระยองโดยกำเนิด เกิดที่บ้านนาตาขวัญ ต. นาตาขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันศุกร์ เดือนหก ปีฉลู ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๐ โยมบิดา ชื่อ อุ่น เพชรนคร โยมมารดา ชื่อ ฉิม พื้นเพเป็นชาวจังหวัดจันทบุรี ท่านมีพี่น้องถึง ๘ คน หลวงพ่อทาบเป็นน้องคนสุดท้อง
สมัยท่านเป็นเด็กมีคนเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน เมื่อโยมของท่านจับปลามาขังไว้เพื่อประกอบอาหาร ท่านมักจะปล่อยลงน้ำไปหมดด้วยความสงสาร จนถูกโยมบิดามารดาดุเอาหลายครั้งหลายหน แต่เมื่อมีโอกาสท่านมักจะปล่อยปลาลงน้ำไปเสมอๆ จนโยมท่านต้องงดนำปลาเป็นๆ มากักขังไว้ หลวงพ่อทาบท่านได้เริ่มต้นเล่าเรียนเมื่ออายุได้เพียง ๔-๕ ขวบ พออายุได้ ๒๐ ปี เข้าสู่วัยฉกรรจ์ ท่านก็ถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือรับใช้ชาติตามหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่ถึง ๔ ปี จึงได้ปลดประจำการ หลังจากนั้นท่านก็บวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดามารดาทั้งสองคนโดยมีพระครูสมุทรสมานคุณ (แหยว) เจ้าอาวาสวัดป่าประดู่เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มาก เจ้าอาวาสวัดนาตาขวัญเป็นพระกรรมวาจารย์ และพระอาจารย์รวม วัดบ้านแลง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อทาบเป็นพระหนุ่มที่เคร่างครัดสำรวมขยันขันแข็งมาก ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยและสามารถแปลมูลกัจจายน์มงคลทีปนี้ได้ในพรรษาแรก นอกจากนี้หลวงพ่อทาบก็ยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อมาก พระกรรมวาจารย์ของท่านอีก จากนั้นท่านก็ไปอยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์อีกประมาณ ๒ ปี ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากพระอุปัชฌาย์จนหมดสิ้น
พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อทาบ คือ พระครูสมุทรสมานคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดระยอง ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแหยว เป็นผู้มีวิชาอาคมขลังยิ่งรูปหนึ่งในจังหวัดระยองยุคนั้น โดยเฉพาะทางด้านเมตตามหานิยม เล่ากันว่าผ้ายันต์พัดโบกของท่านนั้น ใช้โบกไปทางไหนผู้หญิงก็จะต้องตามไปทางนั้นทันที เรียกว่าหลวงพ่อมีชื่อเสียงทางผ้ายันต์หรือผ้าพัดโบกมาก
เมื่อหลวงพ่อทาบ บวชได้พรรษาที่ ๕ พ้นจากการเป็นพระนวกะแล้ว ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร และแสวงหาพระอาจารย์ดี ๆ ไปตามที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น หลวงพ่อทาบชอบพอกันหลวงพ่อทิมมาก เคยไปธุดงค์และแสวงหาพระอาจารย์ด้วยกันหลายครั้งหลายหน
หลวงปู่ทิม(วัดละหารไร่) เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าสมัยท่านเป็นทหารเรือลูกหมู่อยู่นั้น มีทหารเรือรุ่นเดียวกับท่านอยู่คนหนึ่ง หน้าตาอัปลักษณ์ แอบไปหลงรักหญิงสาวหน้าตาดีอยู่คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับกองทหาร ผู้หญิงคนนี้มีทหารหลายคนไปเกี้ยวพาราสีกันอยู่ โดยเหตุที่เพื่อนของท่านหน้าตาไม่ดี จึงถูกตราหน้าว่า “แม้ชายผ้าถุงก็อย่าหมายได้เห็น” เพื่อนของท่านเกิดความอับอายเพื่อนฝูงจึงกล่าวกับท่าน (หลวงปู่ทิม) ว่า “พวกมึงคอยดู กูออกทหารเมื่อไร กูจะพาอีนี่กลับไปบ้านด้วย มันจะต้องร้องตามกู แล้วพวกมึงคอยดู...”
เมื่อเพื่อนทหารผู้นั้นถูกปลดประจำการพร้อมกับท่าน หญิงสาวขวัญใจทหารในกองร้อยที่ทุกคนหมายปองก็หอบผ้าหอบผ่อนตามพลทหารเพื่อนของท่านกลับไปบ้านค่ายด้วยท่ามกลางความงุนงงของเพื่อนทหารโดยทั่วไป และได้อยู่กินกับเพื่อนทหารผู้อัปลักษณ์ของท่านคนนั้นอย่างมีความสุข มีลูกหลานอยู่ในบ้านค่ายมาจนทุกวันนี้ หลวงปู่ทิม ท่านถามเพื่อนของท่านว่าใช้อะไรจึงทำให้ผู้หญิงตามมาทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรักเราเลย เพื่อนของท่านตอบว่า ใช้ผ้าพัดโบกของหลวงพ่อกาจ ซึ่งท่านทำให้ไว้คราวลงมาเป็นทหาร
ดังนั้นในยุคที่หลวงปู่ทิมเป็นพระหนุ่มที่ใฝ่หาวิชาอาคมใส่ตัว จึงจดจำเรื่องอานุภาพของผ้าพัดโบกหลวงพ่อกาจได้อย่างฝังใจ และชวนหลวงพ่อทาบเพื่อนเกลอไปขอร่ำเรียนวิชาพัดโบกจากหลวงพ่อกาจด้วยกัน แต่หลวงพ่อกาจให้ท่านเรียนวิชาได้เพียงคนเดียว ส่วนหลวงพ่อทาบไม่ได้เรียน ผมถามว่าเป็นเพราะเหตุใด หลวงปู่ทิมท่านตอบว่า “ก็นี่ (หลวงปู่ทิมท่านมักเรียกสรรพนามแทนตัวท่านว่า “นี่”) รู้ว่าหลวงพ่อกาจท่านชอบสูบกัญชา นี่จึงเอากัญชาติดมือไปถวายท่านด้วยหนึ่งห่อ หลวงพ่อกาจเลยสอนวิชาให้ ส่วนท่านพี่ทาบไม่เอากัญชาติดมือไปด้วย หลวงพ่อท่านก็ไม่ยอมสอนให้”
หลังจากที่ได้ยินได้ฟังเรื่องอิทธิฤทธิ์ของผ้าพัดโบกของหลวงพ่อกาจ แล้ว ผู้เขียนก็แสวงหาผ้ายันต์พัดโบกของหลวงพ่อกาจมาศึกษาก็ได้พบของจริงเข้าจนได้ พัดโบกหลวงพ่อกาจ ที่ผู้เขียนพบเป็นของครูตุ๋ย ครูโรงเรียนวัดกระบกขึ้นผึ้ง ซึ่งได้มาจากผู้เฒ่าผู้แก่แถววัดกระบกขึ้นผึ้ง ผ้ายันต์ผืนนี้เป็นสีแดงเขียนด้วยหมึกจีนสีดำ ในหมึกจีนสีดำนั้นเมื่อส่องด้วยแว่นขยายแรงสูงดูแล้วเข้าใจว่าหมึกดำคงจะผสมด้วยว่านยาต่างๆ อันเป็นเคล็ดลับ ซึ่งน่าจะได้แก่ ว่านสาวหลง ไม้ไก่กุก ไม้กาฝากรัก ว่านช้างผสมโขลง ว่านดอกทอง เป็นต้น ลายมืออักขระขอม คงเป็นลายมือของหลวงพ่อกาจ เพราะท่านผู้เฒ่าเจ้าของผ้าพัดโบกผืนนั้น ยืนยันว่าพัดโบกผืนนั้นหลวงพ่อกาจลงเอง กลางอักขระเลขยันต์เป็นรูปเทวดาหญิงชายสององค์ยืนกอดกัน ต่อมาวิชาพัดโบกนี้หลวงปู่ทิมได้นำมาประยุกต์ดัดแปลงเสียใหม่ โดยไม่ใช้รูปเทวดาแต่งชุดทั้งองค์มาปรากฏให้เห็น แต่ก็ใช้ผ้าสีแดงทำเช่นกัน
ส่วนผ้ายันต์พัดโบกของหลวงพ่อทาบ นั้นท่านก็ได้สร้างขึ้นไว้ครั้งหนึ่งจำนวนมากพอสมควร แต่เป็นยันต์พิมพ์เพื่อแจกแก่ผู้ทำบุญในงานผูกพัทธสีมาของวัดกระบกขึ้นผึ้ง โดยใช้ผ้าสีขาว ปัจจุบันผ้ายันต์ชุดนี้ของหลวงพ่อทาบก็หายากแล้ว ใครมีใครก็หวง เพราะอานุภาพใช้ดีทางเมตตาค้าขายไม่เสียทีที่หลวงพ่อทาบได้สมญาว่า เทพเจ้าแห่งเมตตานิยมสีผึ้งเขียวอันลือลั่น
เหตุที่ทำให้หลวงพ่อทาบมีชื่อเสียง
เหตุที่จะทำให้หลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นเอกในด้านเมตตามหานิยมและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป ก็มาจากสีผึ้งเขียว เมื่อหลวงพ่อทาบมีอายุล่วงเข้า ๘๐ พรรษาเศษแล้ว ท่านใช้เวลารวบรวมมงคลวัตถุต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง ๔ ปีเศษ หลังจากนั้นท่านก็เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในแถมละแวกวัดกระบกขึ้นผึ้งและคนในถิ่นใกล้เคียง จนเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในย่านนั้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้งมรณภาพลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดกระบกขึ้นผึ้ง ท่านไม่สามารถขัดศรัทธาของชาวบ้านได้ จึงจำใจต้องรับตำแหน่งนั้น การพัฒนาวัดกระบกขึ้นผึ้งในสมัยท่านไปด้วยดี เพราะได้รับแรงศรัทธาจากประชาชน จนหลวงพ่อทาบสามารถสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ ได้อย่างรวดเร็วในยุคของท่าน
นอกจากงานพัฒนาทางวัดแล้วหลวงพ่อทาบยังได้สงเคราะห์ญาติโยมที่เดือดร้อนทางใจและตกทุกข์ได้ยาก โดยการทำน้ำมนต์อาบขจัดทุกข์ขจัดโศก จนบุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อทาบจึงเลื่องลือระบือออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ จนจัดเป็นเกจิอาจารย์ที่มีเกียรติคุณอย่างยิ่งรูปหนึ่งในบ้านค่าย
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพ่อทาบ ได้รับแต่งตั้งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล อันเป็นการแสดงออกถึงความสามารถในการปกครองของท่าน และในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระครูอรรถโกศล ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวบ้านและศิษยานุศิษย์น้อยใหญ่ ถึงกับมีการแห่แหนสัญญาบัตรพัดยศจากวัดป่าประดู่เข้ามายังวัดกระบกขึ้นผึ้ง
การขอรับสีผึ้งจากหลวงพ่อทาบในสมัยก่อน สำหรับผู้ที่จะมาขอสีผึ้งเขียวของท่านนั้น กว่าจะได้ก็แสนจะลำบากยากเย็น เล่ากันว่าผู้ต้องการจะได้สีผึ้งเขียวของท่านจะต้องมานอนค้างคืนกันที่วัดหลาย ๆ คืน และหลาย ๆ ครั้ง จนหลวงพ่อทาบเห็นความมานะอดทนว่า ต้องการได้จริง ๆ ท่านจึงจะให้ แต่ท่านจะหยิบให้เพียงเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น สีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบเมื่อใครได้มาแล้วเหมือนกับได้ของวิเศษที่เปี่ยมไปด้วยส่วนผสมแห่งเมตตามหานิยม คนเล่นของในสมัยนั้นจึงนำสีผึ้งหลวงพ่อทาบที่ได้มาเพียงแค่หัวไม้ขีดไฟมาเลี่ยมทองหุ้มใส่สายสร้อยหรือแขวนติดตัว แต่ก่อนจะมอบสีผึ้งเขียวให้แก่ผู้ใด หลวงพ่อทาบจะสั่งสอนวิธีใช้ให้ สำหรับเรื่องผู้หญิงนั้น ถ้าจะใช้สีผึ้งนี่ก็ขอให้ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ ได้เขาสมใจแล้วก็อย่าไปทิ้งไปขว้าง มิเช่นนั้น จะเกิดวิบัติ
อานุภาพสีผึ้งหลวงพ่อทาบ
นักเลงรุ่นเก่าชาวระยองยอมรับว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้นยอดเยี่ยมจริง ๆ ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังโดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง ท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่งใน ต.ตาสิทธิ์ ติดกับวัดหลวงปู่ทิมเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ ข้าก็ได้อาศัยสีผึ้งเขียว ของหลวงพ่อทาบนี่แหละ จึงได้แม่อ้ายยอด มาจนทุกวันนี้ แม่อ้ายยอดเมื่อสาวๆ มันสวยอย่าบอกใครเชียว หนุ่ม ๆ มาจีบกันหัวกระไดแทบไม่แห้ง แต่ลุง (ตัวคนเล่า) มันพูดจาไม่เก่ง รูปก็ไม่หล่อ แรกๆแม่อ้ายยอดไม่เคยมองลุงเลย ความที่อยากเอาชนะไอ้พวกหนุ่มรุ่นเดียวกัน ลุงจึงดั้นต้นไปขอสีผึ้งเขียวหลวงพ่อทาบ ไปก็หลายครั้งหลายหนอยู่จนท่านจำได้และเห็นมาบ่อย ๆ หลวงพ่อทาบท่านเลยสงสารควักให้มาหัวไม้ขีดหนึ่งสั่งว่าเพียงเอาห่อติดตัว เวลาจะใช้กับผู้หญิงคนใดก็เพียงแต่ทำใจให้นึกเห็นใบหน้าเขาและเข้าไปหาเถอะไม่ช้าก็สำเร็จ และก็ได้ผลจริงๆไม่นานแม่อ้ายยอดเกิดสงสารเห็นใจลุง ทั้งที่ก่อนนั้นเขาไม่เคยชายตามองลุงเลย พวกหนุ่มบ้านอื่นงงเป็นไก่ตาแตก
ท่านผู้เฒ่าเล่าเสริมต่อไปว่า หลังจากได้แม่อ้ายยอดมาเป็นเมียและอยู่กับมาจนบัดนี้แล้ว ลุงเคยถามเขาว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดมารักลุง ทั้งๆ ที่แต่แรกไม่เคยสนใจลุงเลย แม่อ้ายยอดบอกกับลุงว่าเป็นเพราะอะไรไม่รู้ วันไหนถ้าไม่เห็นหน้าลุงใจคอมันหงุดหงิด ร้อนรุ่ม พอได้เห็นหน้าลุงแล้วสบายใจ และไม่ช้าลุงก็ชวนมันมาอยู่กับลุงเสียเลย ผมได้ถามลุงผู้เฒ่าว่า แล้วสีผึ้งนั้นอยู่ไหน? ขอผมดูหน่อย ท่านผู้เฒ่าบอกว่า เมื่อลุงได้เมียแล้วก็ไม่ได้ใช้อีกเลย เพราะหลวงพ่อท่านสั่งนักสั่งหนาว่าถ้าใช้กับผู้หญิงแล้วต้องเลี้ยงเขาเป็นลูกเมีย ห้ามทิ้งขว้าง ลุงได้แม่อ้ายยอดมาครองคนเดียวก็นับว่าพอใจแล้ว เลยหุ้มทองเก็บไว้ จนอ้ายยอดลูกหัวปีของลุงมันเป็นหนุ่มแล้ว ลุงจึงมอบให้มัน ก็ดูซิอ้ายยอดลูกชายลุงมีเมียตั้ง ๓ คน และอยู่บ้านเดียวกันทั้งนั้น หลานลุงมีเป็นพรวน มีเมียมากมันก็ไม่ดีหรอกหลาน หาเท่าไรไม่พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย แต่ก็ดีไปอย่าง อ้ายยอดมันได้เขาแล้วมันก็ไม่ทิ้งไม่ขว้าง เลี้ยงเป็นลูกเป็นเมียทุกคน อ้ายยอดลูกลุงน่ะ มันไม่เท่าไหร่หรอก มีเพียงแค่ ๓ คน เท่านั้น แต่ลูกศิษย์หลวงพ่อทาบที่เคยบวชอยู่กับท่านคนหนึ่งซิ เดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่จันทบุรี มีเมียอยู่บ้านเดียวกันถึง ๖ คน ทุกคนปรองดองกันดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย แต่ลูกเป็นกระบุง แต่เขาก็มีฐานะดีนะ เรื่องสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบ ถ้าใช้เรื่องผู้หญิงรับรองได้เยี่ยมจริง ๆ
ท่านพระอาจารย์เสียน มนูญโญ เจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้ง ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงทาบ ตลอดจน คุณปถม อาจสาคร อดีตสหกรณ์อำเภอบ้านค่าย และคุณประชา ตรีพาสัย เพื่อนผู้เขียนซึ่งจูงใจให้ผู้เขียนไปรู้จักกับหลวงปู่ทิมจนได้สร้างพระชุดชินบัญชรอันเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้ เคยเล่าเรื่องอานุภาพของสีผึ้งเขียวหลวงพ่อทาบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันแพร่หลายทั่วจังหวัดระยองให้ฟังว่า
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จ.ระยอง ได้จัดให้มีการประกวดนางสาวระยองขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อคัดคนส่งไปประกวดนางสาวไทยที่กรุงเทพฯ ในงานรัฐธรรมนูญที่วังสราญรมย์ อ. บ้านค่าย ก็สรรหาสาวงามส่งเข้าชิงชัยตำแหน่งนางสาวระยอง เหมือนกับอำเภออื่น ๆ เช่นกัน เมื่อได้สาวงามชาวอำเภอบ้านค่ายแล้ว ทางอำเภอก็นำสาวงามผู้นั้นมาขัดสีฉวีวรรณแล้วสอนกิริยามารยาทจนเป็นที่เรียบร้อย พอใกล้วันประกวดนางงามระยอง เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น สาวงามซึ่งจะเป็นตัวแทนสาวบ้านค่ายขึ้นเวทีประกวด เกิดสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า เป็นที่ตกอกตกใจของคณะกรรมการอำเภอบ้านค่ายไปตามๆ กัน จะหาคนใหม่ก็ไม่ทัน ทุกคนต่างก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ต้องส่งสาวผู้นี้เข้าประกวดอยู่ดี เพราะเตรียมการไว้แล้ว แต่โอกาสที่สาวบ้านค่ายจะเป็นนางงามระยองคงหมดหวังแน่ ก่อนถึงวันประกวดคณะกรรมการอำเภอบ้านค่ายทนเสียงอ้อนวอนของผู้ปกครองเด็กไม่ได้ จึงยอมให้ผู้ปกครองเด็กสาวคนนั้นนำไปหาหลวงพ่อทาบ หลวงพ่อทาบท่านทำน้ำมนต์ให้อาบ แล้วให้สีผึ้งเขียวมาหนึ่งหัวไม้ขีดไฟ และยังปลุกเสกแป้งผัดหน้าให้อีกหนึ่งห่อ ทั้งกำชับให้เอาสีผึ้งติดตัวขึ้นไปบนเวทีประกวด และเวลาประกวดก็ให้ใช้แป้งที่ท่านปลุกเสกผัดหน้าขึ้นไปเดินบนเวทีทุกครั้ง ผลการตัดสินสาวงามระยองปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น ปรากฏว่าสาวน้อย อ. บ้านค่าย ได้ตำแหน่งนางสาวระยอง ทั้งๆ ที่ใบหน้าสิวขึ้นเยอะ ท่ามกลางความดีอกดีใจของชาวบ้านค่าย และความงุนงงของชาวอำเภออื่น ๆ และในปีต่อ ๆ มาอีก ๒-๓ ปี ชาวอำเภอบ้านค่ายก็ได้นางสาวระยองติดต่อกัน และนางงามบ้านค่ายทุกคนต่างไปขอให้หลวงพ่อทาบรดน้ำมนต์ปิดนะหน้าทอง ได้สีผึ้งเขียวติดตัวและปลุกเสกแป้งผัดหน้าให้เช่นกัน
อาจารย์ปถม อาจสาคร เล่าว่า แป้งผัดหน้านั้น หลวงพ่อทาบท่านลงนะนวลจันทร์ และตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยมของหลวงพ่อทาบ ก็ยิ่งโด่งดังขึ้น จนคนระยองถึงกับผูกวลียกย่องไว้ว่า “อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อเพ่ง เมตตามหานิยมหลวงพ่อทาบ อาคมหลวงพ่อทิม”
หน้า 2 จาก 4
แม้หลวงพ่อทาบหรือท่านพระครูอรรถโกศล จะสงเคราะห์ผู้เกิดทุกข์เกิดร้อนด้วยการลงนะหน้าทอง อาบน้ำมนต์ ตลอดจนแจกสีผึ้งเขียว ให้ผู้เดือดร้อนจนสัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนาแล้ว วิชาของท่านกลับมาย้อนทำลายใจของท่านเองเข้าจนได้ กล่าวคือพระลูกวัดท่านรูปหนึ่ง ซึ่งบวชอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านมาหลายปีเกิดอยากสึกไปครองเรือน จึงมาอ้อนวอนขอสีผึ้งเขียวท่านโดยบอกกับท่านตรง ๆ ว่า ชอบผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง หลวงพ่อทาบใจอ่อนเห็นใจในความรักของหนุ่มสาวซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติหลวงพ่อทาบจึงให้สีผึ้งเขียวแก่ทิดสึกใหม่ผู้นั้นไปเพียงหนึ่งหัวไม้ขีด ทิดสึกใหม่คนนั้นก็เอาไปป้ายหญิงที่ตนรัก หญิงสาวก็หนีพ่อแม่ตามหนุ่มทิดสึกใหม่ผู้นั้นไปอย่างที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง แต่ทว่าหญิงสาวคนนั้นก็คือ หลานสาวแท้ ๆ ของท่านเอง!!!
คุณลุงเจริญ เพชรนคร หลานแท้ ๆ ของหลวงพ่อทาบเล่าให้ผู้เขียนทราบถึงความเสียใจของท่าน โดยท่านพูดว่า “นิ้วเราเองมาทิ่มตาเราเอง ต่อไปนี้จะไม่แจกสีผึ้งแก่คนในบ้านค่ายอีก” แต่สำหรับคนที่มาจากแดนไกล หรือคนต่างถิ่น หลวงพ่อทาบท่านจะดูลักษณะความจำเป็น แล้วท่านจึงจะให้สีผึ้งเขียวไป แต่ก็ให้เพียงคนละนิดปริมาณเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น ผู้ได้สีผึ้งจากหลวงพ่อทาบจึงมักจะนำสีผึ้งนั้นไปหุ้มทองห้อยคอ เพราะถือเป็นของหายาก และกว่าจะได้มาจากหลวงพ่อทาบก็แสนจะยาก สีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงและนับเป็นเครื่องรางที่อยู่ในยุทธจักรนักนิยมพระเครื่องอย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อหลวงพ่อทาบไม่ให้สีผึ้งแก่ใคร และแม้จะให้ก็มอบให้ปริมาณน้อยมากเพียงแค่หัวไม้ขีดไฟ ก็เลยเป็นสาเหตุให้ผู้คนมาแสวงหาสีผึ้งเขียวมากยิ่งขึ้น เพราะของใดๆ ก็ตาม ถ้าได้ยากผู้คนมักจะอยากได้ แต่สำหรับคนบ้านค่ายและคนระยองแล้วหมดโอกาส เพราะหลวงพ่อทาบจะไม่แจกคนในบ้านเดียวกันอีกแล้ว แต่ท่านบอกว่า ท่านจะทิ้งสีผึ้งให้เป็นสมบัติโลก ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันถ้าอยากได้ และยังไม่ลืมของ ๆ ท่าน
กว่าจะเป็น “สีผึ้งเขียว”
ลุงเจริญ เพชรนคร เล่าว่าตัวท่านเองนั้น หลวงพ่อทาบได้เมตตาเลี้ยงดูมาตั้งแต่อายุได้ ๖ขวบ มีนิวาสสถานอยู่ ซากกอไผ่ ซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดกระบกขึ้นผึ้งมากนัก ลุงเจริญได้เรียนรู้วิชาต่าง ๆ ของหลวงพ่อทาบไว้มากมาย ตำราสำคัญบางเล่มของหลวงพ่อทาบก็ตกอยู่กับลุงเจริญ นอกจากจะเป็นศิษย์ผู้ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ ของหลวงพ่อทาบแล้ว ตัวท่านเป็นนักเขียนภาพและช่างแกะสลักที่มีฝีมืออีกด้วย ท่านเป็นผู้แกะแพะหลวงพ่ออ่ำวัดหนองกระบอกมาตั้งแต่ครั้งแรกๆ และเมื่อหลวงพ่ออ่ำมรณภาพลง หลวงพ่อลัดวัดหนองกระบอกได้รับสืบทอดวิชาต่อ ท่านได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อลัดให้เป็นผู้แกะแพะเขาควยถูกฟ้าผ่าอีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นผู้แกะพระปิดตาไม้รัก ของ หลวงพ่อทิม อิสริโก วัดละหารไร่ ซึ่งเรียกว่า “พระปิดตารุ่นอธิบดี” ด้วย จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบ ลุงเจริญ เพชรนคร โดยการแนะนำของพระครูนูญสาธุกิจ หรือพระอาจารย์เสียน เจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้งองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้พาไปพบลุงเจริญถึงบ้าน ลุงเจริญมีศักดิ์เป็นลุงของพระอาจารย์เสียน ลุงเจริญได้เล่าเรื่องราวของหลวงพ่อทาบให้ผู้เขียนทราบดังเรื่องราวที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่ตอนต้น ๆ
สำหรับเรื่องราวของสีผึ้งเขียวนั้นลุงเจริญเล่าว่า เมื่อหลวงพ่อทาบบวชได้ ๙ พรรษา ทราบว่า ครูภู่ คนอุบล ซึ่งมาได้เมียชื่อ นางเก๋า เป็นสาวงามชาวบ้านกอไผ่ เป็นผู้มีวิชาดี โดยเฉพาะเรื่องสีผึ้งนั้น นับว่าเป็นเอก มีผู้คนรู้กิตติศัพท์แล้วไปขอมาใช้ก็ได้ผลสมความปรารถนาทุกราย หลวงพ่อทาบหลังจากผิดหวังไม่ได้เรียนวิชาพัดโบกจากหลวงพ่อกาจ วัดหนองสนม จึงสนใจวิชาทำสีผึ้งของครูภู่ คนอุบล ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นพระหนุ่มเพิ่งย่างเข้าพรรษาที่ ๙ อายุประมาณ ๓๐ ปี ไปมาหาสู่บ้านครูภู่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อขอวิชาสีผึ้ง ครูภู่เห็นความเพียรและหน่วยก้านของหลวงพ่อทาบแล้ว ก็ยินดีจะมอบวิชาทำสีผึ้งนี้ให้ ซึ่งต่อมาก็มอบวิชานี้ให้อย่างหมดเปลือก
ลุงเจริญเล่าว่า การทำสีผึ้งที่ครูภู่ คนอุบล มอบให้หลวงพ่อทาบนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ วิชาลบผงปถมัง ผงอิทธิเจ และผงตรีนิสิงเห นั้นเอง แต่วัสดุที่จะนำมาผสมผงปั้นเป็นแท่งดินสอนั้น ค่อนข้างจะหายาก ซึ่งต้องใช้ความมานะ อดทน และมีความเพียรในการการแสวงหา ได้แก่ ว่านต่างๆ หลายสิบชนิดไม้มงคลอีกหลายชนิด ประการสำคัญต้องหา ไม้แยงแย้ และไม้ไก่กุกมากวนสีผึ้ง ไม้แยงแย้นั้นพอหากันได้ เพราะหลังจากแสวงหามาถึง ๔ ปี หลวงพ่อทาบก็ได้ไม้แยงแย้มาสมใจนึก ส่วนไม้หายากที่สุดคือ “ไม้ไก่กุก” ซึ่งต้องใช้ความสังเกตและมีมานะอดทน เพราะจะต้องเป็นไม้ไก่กุกที่ผู้ทำสีผึ้งต้องเห็นไม้ไก่กุกด้วยตาตนเอง
ไม้ไก่กุกจะเป็นไม้อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นไม้ที่ไก่ตัวผู้ใช้จะงอยปากจิก หรือเคาะดังกุ๊ก ๆ เพื่อหลอกให้ตัวเมียวิ่งมาหา โดยคิดว่าไก่ตัวผู้กำลังเรียกมาจิกอาหาร เมื่อไก่ตัวเมียวิ่งมาหาไม้ที่ไก่ตัวผู้เคาะกุ๊กๆ แล้วมองหาอาหารอยู่ ไก่ตัวผู้ได้โอกาสก็จะจิกคอและขึ้นทับทันที ไม้ชิ้นที่ไก่ตัวผู้ใช้จะงอยปากเคาะกุ๊ก ๆ นั้นแหละ คือ “ไม้ไก่กุก” ถือว่าเป็นไม้อาถรรพณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ไก่ตัวเมียวิ่งตามมาให้ตัวผู้ทับเพื่อสืบพันธุ์
ท่านเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ถือเป็นเคล็ดว่าไม้ชิ้นนี้เป็นไม้ที่มีเสน่ห์อย่างสูง ที่ใช้ลวงให้ไก่ตัวเมียวิ่งมาหาได้ ต่างก็แสวงหาไว้เพื่อเอาไว้สร้างวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังเป็นเสน่ห์มหานิยม เมื่อได้ไม้ไก่กุกมาแล้ว หลวงพ่อทาบก็จะนำมาเอาว่านต่าง ๆ และไม้มงคล รวมทั้งไม้ไก่กุกด้วยมาบดป่นทำเป็นผงปั้นเป็นแท่งดินสอ หลังจากนั้นหลวงพ่อทาบจะเอาถาดทองเหลืองขนาดกลางมารอง มีกระดานชนวนวางอยู่บนถาดทองเหลือง หลวงพ่อทาบจะครองสีจีวรเรียบร้อย รำลึกถึงครูบาอาจารย์แล้วท่านก็จะลงผงอิทธิเจ ผงปถมัง และผงตรีนิสิงเห จากที่ได้เรียนมา ด้วยการใช้แท่งดินสอซึ่งสร้างจากว่าน และไม้มงคลต่าง ๆ ปั้นเป็นชอล์ก เมื่อเขียนบนกระดานชนวน ก็จะหลุดลอดแผ่นกระดานชนวนลงไปในถาดทองเหลือง
ลุงเจริญเล่าว่า ท่านได้นั่งสังเกตเห็นหลวงพ่อทาบลงผงเต็มกระดาน แล้วเคาะให้ลอดกระดานลงไปอยู่ในถาดทองเหลือง เสร็จแล้วหลวงพ่อทาบก็จะรวบรวมผงนั้นใส่ขวด มีอยู่วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อทาบกำลังนั่งสมาธิลบผงอยู่นั้น ชอล์กที่ท่านเขียนเกิดหักดังเปาะขึ้น หลวงพ่อทาบสะดุ้งขึ้นตัว และเพ้อเสียสติทันที เป็นอยู่หลายวัน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ลุงเจริญ เพชรนคร จึงไปตามครูภู่ที่บ้านซากกอไผ่มาดูอาการ และรักษา ครูภู่ ชาวอุบล เมื่อเห็นอาการหลวงพ่อทาบแล้วทำน้ำมนต์ให้หลวงพ่อทาบอาบ หลวงพ่อทาบอาบกินน้ำมนต์ของครูภู่อยู่ ๒-๓ ครั้ง อาการก็กลับปกติ
สีผึ้งหลวงพ่อทาบ สร้างขึ้นตามตำราของครูภู่ ชาวอุบล นั้นแรก ๆ ก็เป็นสีผึ้งธรรมดา ไม่มีสีเขียว ต่อเมื่อหลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงทางด้านสีผึ้งมากขึ้น ท่านจึงได้นำใบของว่านชนิดหนึ่งผสมลงไปด้วย สีผึ้งก็เลยมีสีเขียวจนภายหลังเรียกกันว่า “สีผึ้งเขียว” คุณลุงเจริญเล่าว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้น ท่านทำเสร็จแล้วจะใส่ไว้ในโถโบราณซึ่งมีฝาครอบ ปรากฏว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้นจะงอกหรือเพิ่มปริมาณได้ตามความแรงของกำลังวัน บางครั้งสีผึ้งจะฟูขึ้นจนติดฝาครอบโถเกาะกันเป็นวงคล้ายๆ กับดอกของใบพลู ซึ่งเป็นรูปคล้ายดอกใบพลูนี้แหละขลังนัก ศิษย์วัดกระบกขึ้นผึ้งเมื่อเปิดฝาโถเห็นเข้าก็จะเอาใบจาก ซึ่งใช้สำหรับมวนบุหรี่สูบมาม้วนเป็นกรวยตักไป ใช้ได้ผลชะงัดนัก รายไหนรายนั้น มักหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามคนป้ายไปและไม่เคยมีพลาดเลยสักรายเดียว ผมถามว่าต้องใช้ป้ายกี่ครั้งจึงจะสำเร็จ คุณลุงเจริญบอกว่าโดยมากมักครั้งเดียวก็สำเร็จ แต่ถ้าผู้หญิงบางคนดวงแข็งมีของดีคุ้ม หรืออำนาจดวงคุ้มครอง ก็ต้องใช้หลายหนหน่อย แต่สำเร็จทุกราย สีผึ้งของหลวงพ่อทาบนั้น มีเคล็ดวิธีการใช้ดุจเดียวกับหลวงปู่ทิม คือใช้ตามคำสั่งความสำคัญของนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว นับแต่หัวแม่โป้งเรื่อยมา จนถึงนิ้วก้อยซึ่งเล็กที่สุด และวิธีจะใช้ป้ายผู้หญิงซึ่งหมายปองก็อย่าป้ายให้ต่ำกว่าบั้นเอวลงไป เวลาป้ายก็ให้ป้ายให้ถูกต้องเนื้อ อย่าให้ถูกผ้า เพราะจะได้ผลช้า
ครั้งที่ผมไปวัดกระบกขึ้นผึ้งเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว ก็ปรารถนาจะไปกราบนมัสการรูปเหมือนหลวงพ่อทาบ แต่ก็ได้ทราบจากท่านพระครูมนูญสาธุกิจหรือพระอาจารย์เสียน หลานแท้ๆ ของหลวงพ่อทาบว่าที่วัดไม่มีรูปเหมือนหลวงพ่อทาบ ผมจึงเรียนถามว่าทำไมท่านอาจารย์จึงไม่สร้างรูปเหมือนหลวงพ่อทาบขึ้นเพื่อให้คนทั่ว ๆ ไปที่นับถือท่านได้มากราบไหว้บูชา พระอาจารย์เสียนตอบว่า หลวงพ่อทาบท่านสั่งกำชับไว้ไม่ให้สร้างรูปหล่อของท่านขึ้นเด็ดขาด ท่านบอกว่าสร้างไว้ต่อไปก็ไม่มีคนรู้จัก เมื่อหมดยุคนี้ (คงหมายถึงยุคคนที่ทันท่าน) แล้วคนยุคต่อไปเขาก็ไม่รู้จัก อย่างไปสร้างไว้เลย แม้รูปหล่อเท่าองค์จริงก็ไม่ได้สร้างไว้ตามคำสั่งของหลวงพ่อทาบ แต่พระอาจารย์เสียนก็ได้สร้างรูปหล่อหลวงพ่อทาบ ขนาด ๕ นิ้ว จำนวนหนึ่งประมาณ ๔๐๐องค์ โดยขอให้หลวงปู่ทิมเป็นผู้ปลุกเสก ซึ่งหลวงปู่ทิมก็ทำให้ด้วยความเต็มใจเพราะหลวงพ่อทาบ และหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นเพื่อนรักกัน
ทาบ-ทิม
ทุกครั้งที่หลวงพ่อทาบสร้างพระเครื่องหรือเหรียญรูปท่าน หลวงพ่อทาบก็จะนิมนต์หลวงปู่ทิมมาช่วยเพิ่มพลังจิตปลุกเสกทุกครั้ง จนอาจารย์ปถม อดีตสหกรณ์ จ.ระยอง ถึงกับพูดว่า ถ้าพระเครื่อง หลวงพ่อทาบแล้ว ต้องถือว่าเป็นพระเครื่องหลวงปู่ทิม เพราะหลวงปู่ทิมมาปลุกเสกให้ ท่านอาจารย์ปถมได้พูดถึงสองพระอาจารย์ว่า ทาบทิม ทาบทิม หมายถึง ของของหลวงพ่อทาบก็คือของหลวงปู่ทิม ของหลวงปู่ทิม คือ ของหลวงพ่อทาบ
อาจารย์ปถมคุ้นเคยกับหลวงพ่อทาบและหลวงปู่ทิม ตลอดจนพระเกจิอาจารย์ของบ้านค่ายเป็นอย่างมาก เพราะท่านอาจารย์ปถมสนใจในเรื่องราวเหล่านี้ และได้ไปรับราชาการที่ จ. ระยอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ อาจารย์ปถมเล่าถึงการทำวัตถุมงคลของหลวงพ่อทาบว่า นอกจากหลวงพ่อทาบจะเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงทางสีผึ้งเขียวดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังมีความรู้ทางเครื่องรางอย่างอื่นเหมือนกัน ครั้งหนึ่งหลวงพ่อทาบได้เขี้ยวเสือมา ๙ เขี้ยว ท่านให้คุณลุงเจริญ เพชรนคร แกะเป็นเสือขึ้น ๙ ตัว ท่านให้เขี้ยวเสือตัวใหญ่ที่สุดเป็นจ่าฝูงแล้วภาวนาปลุกเสกเรียกรูปนาม ตั้งอาการ ๓๒ ภาวนา ปลุกเสกจนเสือทั้ง ๙ ตัว นั้น มีชีวิตชีวาขึ้น ท่านจึงปล่อยเข้าป่าหลังวัด มันก็วิ่งหลบเข้าป่าโดยมีจ่าฝูงนำหน้า หลังจากนั้นหลวงพ่อทาบก็ภาวนาเรียกเสือกลับ แต่ท่านเรียกว่าเท่าไรเจ้าเสียอาคมทั้ง ๙ ตัวก็ไม่กลับมา และหลังจากนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อทาบก็ไม่ดำริสร้างเขี้ยวเสือขึ้นมาอีกเลย ท่านพูดกับอาจารย์ปถมว่า “เราไม่มีวาสนาบารมีทางนี้” คงหมายถึง ท่านไม่ตบะเดชะมหาอำนาจนั่นเอง
นอกจากสีผึ้งเขียว ซึ่งเป็นวัตถุมงคลอันมีชื่อเสียงของหลวงพ่อทาบจนติดอันดับสีผึ้งของสยามประเทศแล้ว หลวงพ่อทาบท่านยังได้สร้าง เหรียญรูปเหมือนขึ้น 2 รุ่น คือ รุ่นรูปไข่ และรุ่นดอกบัว นอกนั้นท่านก็ยังสร้างผ้ายันต์ไว้จำนวนหนึ่งคราวฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา และก่อนจะมรณภาพไม่นาน ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้อีกรุ่นหนึ่ง มีด้วยกันหลายพิมพ์ และได้นำเอาสีผึ้งผสมไว้ด้วย ทิ้งไว้เป็นสมบัติโลกให้แก่ผู้คนที่มีวาสนา ดังที่ท่านเคยลั่นวาจาไว้ “สมบัติโลก พระเครื่อง มรดกชิ้นสุดท้าย”
ราคาเปิดประมูล100 บาท
ราคาปัจจุบัน200 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ20 บาท
วันเปิดประมูล - 07 มี.ค. 2555 - 19:22:22 น.
วันปิดประมูล - 10 มี.ค. 2555 - 13:46:57 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลนิลพัฒน์ (4.9K)(2)


(0)
 
ราคาปัจจุบัน :     200 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     20 บาท

!!! ปิดประมูลแล้ว !!!

ผู้ชนะประมูล    kanyong (212)

 

Copyright ©G-PRA.COM
www1