(0)
พระธรรมจักร ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ








รายงานผลโหวต

จากรูปพระแท้ 0% [0]
จากรูปพระแท้แต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง     0% [0]
จากรูปพระเก๊ 0% [0]
พระดูยากจากรูป 0% [0]

จำนวน โหวต



ชื่อพระเครื่องพระธรรมจักร ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
รายละเอียดพระผง จักรพรรดิ์ หลวงปู่จวน วัดภูทอก สวยครับ
องค์นี้เห็นเกศาชัดเจนครับ สภาพสวยสมบูรณ์
พระธรรมจักร ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

โดย รณธรรม ธาราพันธุ์

จากหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2540

โพสท์ใน www.navaraht.com โดย เด็กลึกลับ เมื่อ 21 มิ.ย. 2552




คนชอบพระ ทั้งที่อยู่ในวงการมานานปี หรือเพิ่งกระโจนลงสนาม เพื่อให้ผู้รู้ทั้งหลายสอนบ้าง “ทุบ” บ้าง ตามอัธยาศัย ต้องล้วนแล้วแต่ได้ยินคำว่า “จักรพรรดิ” ของพระเครื่องทั้งมวล จะไล่ตามถามใครว่าพระที่เป็นสุดยอดของพระเครื่องคืออะไร คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “พระสมเด็จ ของสมเด็จโต วัดระฆังฯ”

จะเป็นกรุวัดระฆัง หรือกรุบางขุนพรหม จะเป็นกรุเก่าหรือกรุใหม่ก็เอาเถอะ เป็นยอดทั้งนั้น ยอดทั้งคนสร้าง ยอดทั้งเนื้อหา ยอดทั้งความเก่า และว่ากันว่าเป็นยอดของยอดพุทธคุณ

ผมเคยอยากเถียง ถ้าไม่กลัวโดน “ตื้บ” ว่ารู้ได้ไงว่า “ยอดพุทธคุณ” คนแขวน “เช็ค” พระเป็นหรือไง

ก็ไม่ทันต้องเอ่ยปากให้ใครมาเหยียบ เมื่อแดดร่มลมตกของวันหนึ่งที่วัดป่าชินรังสี จ.ฉะเชิงเทรา ผมนั่งคุยกับองค์อุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แวดล้อมด้วยศิษย์ 2-3 คน ตอนหนึ่งของการสนทนาท่านถามว่า

“ต่อรู้ไหมว่าพระอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด”

ผมประนมมือส่ายหน้าช้าๆ เป็นคำตอบ

ท่านยิ้มแล้วว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด”

จากนั้นท่านก็ถามอีกว่า “แล้วรู้ไหม พระอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์รองลงไป”

เช่นเคย พนมมือ ส่ายหน้า

“พระหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด”

โอ้ ! ได้คำตอบพร้อมของแถมมาเสร็จสรรพ แต่แล้วก็ให้นึกงงว่า เพราะอะไร ท่านจึงว่า พระสมเด็จวัดระฆัง ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ก็พอดีท่านถามมาอีกว่า

“รู้ไหมทำไมพระสมเด็จ จึงศักดิ์สิทธิ์ที่สุด”

คราวนี้ผมไม่ส่ายหน้า ประนมมือแล้วรัวเป็นชุด

“เพราะเจ้าประคุณสมเด็จท่านเขียนผงเอง ลบเอง ผสมเอง กดพิมพ์เอง และเสกเองด้วยพระคาถาชินบัญชร”

พูดจบก็ยืดอก ท่านยิ้ม แล้วมองไปข้างหน้า ก่อนจะว่า

“เพราะท่านแจกฟรี”

อะหา...โง่ไปถนัด

ใครจะไปรู้เล่าพ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ว่าแจกฟรีน่ะจะขลังได้ขนาดนั้น แต่ผมทราบดีว่าเรื่องของเรื่องไม่ได้อยู่แค่แจกฟรีหรอก แต่เพราะ “เจตนา” ของท่านดีในเบื้องต้น ดีในท่ามกลาง และดีในที่สุดต่างหาก ของเลยขลัง แค่แจกฟรีเฉยๆ ของจะไปขลังอะไรได้ ถ้าคนทำไม่เก่งจริง

นั่นเป็นเรื่องในอดีตที่หยิบยกมาโหมโรงให้ฟัง อาจจริงที่ว่า พระสมเด็จนั้นเป็นยอดของความขลังในหมู่พระเครื่องด้วยกัน แต่ผมเริ่มไม่เห็นด้วยกับคำว่า “จักรพรรดิ” ของหมู่พระเครื่อง เพราะคำๆ นี้เป็นวลีที่เซียนพระกำหนดขึ้นมาเอง ไม่ใช่ออกจากปากของพระผู้ปฏิบัติดี

ไม่เห็นด้วย เพราะได้ยินท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ ปรารภถึงพระธรรมจักรกับคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต และคณะศิษย์ว่า

“เก็บรักษาให้ดีนะ ต่อไปนี้พระนี้จะเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง”

ก่อนท่านมรณภาพ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยพิจารณาจิตท่านอาจารย์จวนแล้วพูดต่อหน้าท่านอาจารย์ว่า “กาเย นะ วาจา ยะ วะเจติวิสุทธิยา ท่านจวนเป็นผู้ที่มีกายและจิต...” คำว่า “วิสุทธิจิต” “วิสุทธิเทพ” ล้วนใช้เฉพาะกับพระอรหันต์เท่านั้น และเมื่อท่านอาจารย์มรณภาพ อัฐิของพระอาจารย์ท่านก็กลายเป็นพระธาตุ

ถึงขนาดนี้แล้วจะว่าท่านเป็นอะไร ?

ฉะนั้นคำปรารภของท่านที่ว่า “พระนี้จะเป็นจักรพรรดิของพระเครื่อง” ย่อมต้องไม่ใช่คำพูดเล่นลอยๆ แน่แท้ มาดูความขลังของ “จักรพรรดิ” องค์นี้กันหน่อยเถิดว่าเพราะอะไรจึงได้ตำแหน่งมาครอง

ราวต้นปี พ.ศ. 2520 คุณสุรีพันธุ์ มณีวัต ศิษย์ก้นกุฏิของท่านพระอาจารย์จวน และบรรดาศิษย์น้อยใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่า สะพานลอยรอบเขา “ภูทอก” ภูมหัศจรรย์แห่งนี้ จำเป็นต้องได้รับการบูรณะเสริมสร้างให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น ด้วยสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ย่อมมีความทรุดโทรมเป็นธรรมดา

และเมื่อใดที่มีผู้ไปแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ศาลาวิหารบนเขาชั้นที่ 5 ก็จะพลันแคบคับถนัดใจ สมควรจะขยายให้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งถังน้ำฝนและระบบประปาภายในวัดก็ควรปรับปรุง ดังนั้นคณะศิษย์จึงจัดกฐินขึ้น

ปกติคุณสุรีพันธุ์เองก็จัดกฐินมา แต่ปี 2519 ไม่ปรากฏมีเครื่องมงคลอะไรมาข้องแวะ ด้วยรู้อยู่ว่าพระสายนี้ไม่นิยม ทว่าปีนั้น เกิดนึกอยากทำของที่ระลึกแจกจ่ายให้แก่กรรมการที่มาร่วมจองกฐินเลยดำริทำ “พระธรรมจักร” เป็นพุทธานุสรณ์ โดยอาศัยเค้าจากพระพุทธรูปสลักหิน อายุ 1,400 ปี ซึ่งขุดพบที่เมืองสารนารถ ประเทศอินเดีย อันเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา มีพุทธลักษณะที่งดงาม ยิ่งบล็อกพระเครื่องชุดนี้แกะโดยกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ จึงมีความสวยงามมาก ด้านหลังขององค์พระแกะเป็นรูป “บริโภคเจดีย์” ทั้ง 3 คือ สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงใช้สอยเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

คณะกรรมการได้จัดสร้างพระธรรมจักรทั้งหมดรวม 93,409 องค์ โดยทำเนื้อพิเศษสุดขึ้น 9 องค์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ครบทุกพระองค์

และได้จัดทำเนื้อพิเศษอีก 1,000 องค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระราชทานแก่ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด

นั่นเป็นเนื้อพิเศษ “ในวัง”

ทีนี้ก็เป็นเนื้อพิเศษ “นอกวัง” จัดทำเป็น 4 สี สีละ 2,100 องค์ เรียกว่าชุด “จตุรงค์ 4 สี” ประกอบด้วย

1. สีเขียว แทนวาระประสูติ หมายถึง ความรื่นเริงของ 3 แดนโลกธาตุ ที่ทราบถึงการอุบัติของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. สีขาว แทนวาระตรัสรู้ หมายถึง ความสว่างเจิดจ้าของ “ธรรม” ที่ทรงรู้ทรงเห็น จนสามารถเด็ด “อวิชชา” ออกจากพระทัยได้

3. สีชมพู แทนวาระปฐมเทศนา หมายถึงอาทิตย์อุทัย เปรียบได้กับการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา

4. สีดำ แทนวาระปรินิพพาน หมายถึงความโศกสลดของหมู่มนุษย์ และทวยเทพ ที่อาลัยรักในพระพุทธองค์

ทุกสีที่ว่ามามีมวลสารอย่างเดียวกันหมดในเนื้อพระ แต่สีที่ต่างกันก็ด้วยเน้นหนักของมงคลบางอย่างลงเป็นพิเศษ คือ

สีเขียว เน้นด้วยกระเบื้องสีเขียวหลังคาวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, จันทน์หอมจากภูทอก และที่สำคัญ เตยหอมภูทอก ซึ่งท่านพระอาจารย์จวนได้อธิษฐานจิตให้ว่า “จะแตกไปกี่กอ ทุกต้นทุกกอคือเราเสกไว้แล้ว”

สีขาว เน้นด้วยเกสรดอกไม้, ผงงาช้าง, กระเบื้องขาววัดบวรนิเวศ และวัดราชบพิธ

สีชมพู เน้นด้วยชานหมากครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสุปฏิบัติทั้งสิ้น, หินแดงจากภูทอก และที่สำคัญสุดยอด โคตรเหล็กไหล และขี้เหล็กไหล ซึ่งเทพที่รักษามาขอให้ท่านอาจารย์นำออกจากถ้ำบูชาภูวัว ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เทพเหล่านั้นจะได้ได้บุญด้วย

สีดำ เน้นด้วยพระผงงิ้วดำ, เบ้าหล่อพระพุทธรูป ภปร. และข้าวสารดำที่มีอายุถึง 3,000 ปี นี่เป็นมวลสารที่เป็นตัวหลัก ซึ่งใช้เฉพาะเจาะจงลงไปที่พระชุดพิเศษ 4 สี เท่านั้น

ต่อไปจะเป็นมวลสารทั้งหมดทั้งปวง ที่ใช้ผสมในพระพิเศษ 4 สีด้วย และพระธรรมดาสีแดงที่มีจำนวนจัดสร้างเท่าพระธรรมขันธ์ คือ 84,000 องค์ ด้วย ดังต่อไปนี้

1. ดิน ใช้ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง คือ ประสูติ, ตรัสรู้, ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ดินจากที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์, ดินเชตวันมหาวิหาร, ดินรอบสถูปพระสารีบุตร, ดินสถูปพระโมคคัลลาน์, ดินสถูปพระอานนท์, ดินสถูปพระมหากัสสาปะ, ดินสถูปพระอนุรุทธ, ดินสถูปพระราหุล, ดินสถูปพระกัจจายนะ, ดินสถูปพระองคุลีมาล, ดินในถ้ำสุกรขาตา, ดินจากเขาคิชฌกูฏ และดินในพระคันธกุฏีที่ประทับของพระพุทธองค์เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่

มีเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับดินที่พระคันธกุฏีนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่งคุณสุรีพันธุ์เป็นหัวหน้าทีมนำคณะพระกรรมฐานอันประกอบด้วยหลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส, ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร และคณะศิษย์ไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ในอินเดีย

ขณะที่เดินขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏนั้น ครั้นใกล้ถึงพระคันธกุฎี ท่านพระอาจารย์วันกับท่านพระอาจารย์จวนก็ออกวิ่งเหยาะๆนำไป คุณสุรีพันธุ์ประหลาดใจนัก เพราะปกติพระจะไม่วิ่ง ยิ่งเป็นท่านอาจารย์ทั้งสองแล้ว นับแต่เป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันมา ท่านเรียบร้อยที่สุด ลงถ้าท่านวิ่ง ถึงจะช้าๆ แต่เหตุต้องไม่ใช่เรื่อง “ธรรมดา” คุณสุรีพันธุ์จึงตัดสินใจวิ่งตาม

เมื่อถึงคันธกุฎีก็ทันเห็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์พันลึก ด้วยดินใกล้ๆกับที่ท่านอาจารย์ยืนอยู่เกิดการเต้นกระโดดน้อยๆ ชวนขนลุกขนพอง

ขณะที่ตะลึงพรึงเพริดอยู่นั่นเอง ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ก้มลงเก็บดินเหล่านั้นขึ้นมาจำนวนหนึ่ง และเก็บอยู่กับท่านเป็นแรมปี จวบจนมีการสร้างพระธรรมจักร ท่านอาจารย์ทั้งสองจึงได้มอบดินอัศจรรย์นั้นมาให้ผสมเนื้อ

ไม่ขลังคราวนี้จะไปขลังคราวไหน !!

2. ใบไม้มงคล ใบโพธิ์ที่ประสูติ ลุมพินีวัน, ใบโพธิ์ตรัสรู้ พุทธคยา, ใบสาละที่ปรินิพพาน กุสินารา, ใบโพธิ์ที่หลังพระคันธกุฎี และใบโพธิ์พระอานนท์ ณ เชตวันมหาวิหาร

3. เส้นเกศา หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

มีเรื่องแปลกอีกเกี่ยวกับเส้นเกศา กล่าวคือ เมื่อคณะกรรมการกำลังรวบรวมเส้นเกศาอยู่นั้น จู่ๆก็มีพระรูปหนึ่งมาหานำเส้นเกศากับชานหมากจำนวนหนึ่งมาให้ พร้อมแจ้งว่า “หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ สั่งให้เอามาให้ เพราะทราบว่าคุณสุรีพันธุ์จะสร้างพระ” คุณสุรีพันธุ์บอกว่าน่าประหลาดนัก การสร้างพระธรรมจักร ดูจะเป็นงานใหญ่ก็จริง แต่ก็ทำกันเงียบๆ รู้กันเฉพาะคนในเท่านั้น หลวงปู่คำดีทราบได้อย่างไร เพราะในเวลานั้น

คุณสุรีพันธุ์ไม่เคยรู้จักท่านเลย !!

เมื่อสืบเสาะภายหลังจึงทราบความว่า หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย เป็นศิษย์องค์สำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเมื่อพระราชทานเพลิงศพท่านแล้ว อัฐิหลวงปู่คำดี ก็แปรสภาพเป็นธาตุดุจเดียวกับองค์อาจารย์

4. ดอกไม้ ผงธูป ทองคำเปลว จากพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช, พระธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี, พระธาตุพนม จ.นครพนม, พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร, พระร่วงโรจนฤทธิ์ จ.นครปฐม, หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา, พระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดบวรนิเวศ, วัดราชบพิธ, จากที่บูชาพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม, จากที่บูชาพระรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

5. ดอกไม้ ผงธูป จากที่บูชาพระ-สวดมนต์ของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฒฑโน), หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี), หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, พระครูญาณทัสสี (คำดี ปภาโส), พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตตโม), ท่านอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร, พระครูปลัดสัมพิพัฒเมธาจารย์ (ไพบูลย์ สุมังคโล)

6. ชานหมาก ข้าวก้นบาตร ก้นบุหรี่ ของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, ท่านพระวัน อุตตโม,ท่านอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

7. พระชำรุดนำมาบด ได้แก่ พระพุทธรูปอายุ 1,000 กว่าปี ที่ท่านพระอาจารย์จวนธุดงค์ไปพบในถ้ำแถบภูสิงห์ ภูวัว, พระสมเด็จวัดระฆัง และบางขุนพรหม, พระดินเผาสมัยสุโขทัย, พระผงกรุวัดสามปลื้ม, พระผงงิ้วดำ, พระพิมพ์วังหน้า

8. มวลสารมงคลอื่นๆ ได้แก่ โคตรเหล็กไหล และขี้เหล็กไหลจากถ้ำบูชา, ผงงาช้าง, เขากวางคุด, แก่นจันทน์หอม นำมาจากถ้ำจันทน์ดินแดนอาถรรพณ์, ไม้มะขามจากถ้ำขาม ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร, กระเบื้องไม้หลังคากุฏิของหลวงปู่ขาว อนาลโย, หินแดงบนภูทอก, ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งหลวงปู่ฝั้นเมตตาสกัดให้ด้วยองค์ท่านเอง, ข้าวตอกพระร่วง จ.สุโขทัย

โคตรเหล็กไหล และขี้เหล็กไหล ที่ท่านพระอาจารย์จวนมอบให้นั้น คุณสุรีพันธุ์ได้ให้กองกษาปณ์ป่นเหล็กไหลทั้งหมดให้เป็นผงด้วยเครื่องบดพิเศษ เป็นเหล็กเหนียว ชื่อว่า “ไททาเนี่ยม” ว่ากันว่าเป็นเหล็กที่แข็งที่สุด ดีที่สุดในโลก ปรากฏว่า กว่าจะหมด 1 กะละมัง เครื่องสึกไปจนใช้อีกแทบไม่ได้ เลยไม่รู้ว่าใคร “เหล็ก” กว่าใคร

เมื่อบดมวลสารทุกชนิดพร้อมสรรพ ก็ทำการกดพิมพ์เป็นองค์พระ โดยใช้ระบบอัดแรงสูง นั่นคือความประสงค์ของคณะกรรมการ เพราะไม่ต้องการผสมเนื้อปูน หรือกาวอะไรๆ ลงในพระ ดังนั้นพระทั้งหมดจึงมีแต่มวลสารล้วนๆ

มาถึงการอธิษฐานจิต คุณสุรีพันธุ์บอกว่า ส่วนใหญ่จะอธิษฐานองค์ละ 1 คืน ทั้งสิ้นมีรายนามดังต่อไปนี้

1. หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

2. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

3. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

4. หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ***

5. ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

6. ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

7. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

***หมายเหตุ: เรื่องรายนามพระเถระที่อธิษฐานจิตพระผงธรรมจักรนี้ คุณ im ได้โพสท์ไว้ในเวบ www.udon108.com เมื่อ: 18 เมษายน 2552 หัวข้อ: พระผงธรรมจักร ระบุว่า "ได้สอบถามไปยังผู้สร้างแล้วยืนยัน หลวงตามหาบัวไม่ได้อธิษฐานด้วยครับ"

พระมหาเถระผู้ประเสริฐทุกองค์ที่อธิษฐานจิตให้ดังกล่าว เป็นพระที่ผมกล้าออกปากได้โดยไม่เคอะเขินว่า ท่านถึงพร้อมด้วย “วิชชา” และ “วิมุตติ” อย่างแท้จริง ไม่ใช่จะพูดเอาโก้เก๋ประการใด

อย่างนี้สิถึงเรียกว่า “จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง” ได้เต็มคำ

คัดลอกจากบทความของ คุณรณธรรม ครับผม
ราคาเปิดประมูล1,380 บาท
ราคาปัจจุบัน1,399 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!)
เพิ่มขึ้นครั้งละ19 บาท
วันเปิดประมูล - 09 ก.ย. 2555 - 17:10:47 น.
วันปิดประมูล - 11 ก.ย. 2555 - 00:07:20 น. (ปิดประมูลแล้ว)
ผู้ตั้งประมูลweerapat (2.6K)


(0)
 
ราคาปัจจุบัน :     1,399 บาท
เพิ่มขึ้นครั้งละ :     19 บาท

!!! ปิดประมูลแล้ว !!!

ผู้ชนะประมูล    untima (528)

 

Copyright ©G-PRA.COM
www1