ข้าพเจ้าจะข้ามประวัติการสร้าง ผู้สร้าง ขอกล่าวแต่เฉพาะพิมพ์ทรงและเนื้อพระก็แล้วกันนะครับ
ในเรื่องของพิมพ์ทรง พระถ้ำเสือกรุใหม่ อ.มนัส โอภากุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระเครื่องฉบับหนึ่งว่า พระพิมพ์ถ้ำเสือที่ออกมาจากกรุนั้น มีทั้งหมด 3 วัด คือวัดถ้ำเสือ วัดเขาวง(วัดคีรีวงศ์) และวัดเขากำแพง ทั้ง 3 กรุรวมกันมีมากกว่า 70 พิมพ์ แต่มีบางพิมพ์ที่ซ้ำกัน จึงสามารถรวมรวมพิมพ์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 65 พิมพ์ (ซึ่งอาจมีมากกว่านี้)
พิมพ์หลัก ๆ จะมี พิมพ์เล็ก พิมพ์กลาง พิมพ์ต้อ พิมพ์จิ๋ว (ไม่มีพิมพ์ใหญ่) โดยที่พิมพ์หลัก ๆ เหล่านี้จะแยกซอยย่อยเป็นพิมพ์เล็ก ๆ อีก เช่น หน้าแก่ , หน้าหนุ่ม , หน้านาง , หน้ากลม , หน้ายักษ์ , หน้านกฮูก , ตุ๊กตา , ปากนูน , ปากหนา , สองหู , แก้มตอบ , หนวด และอื่นๆ อีกมากมาย
ในส่วนของเนื้อพระ หากเป็นวัดเขาดีสลัก จะมีทั้งแบบเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ โดยเฉพาะจากถ้ำละมุด จะเป็นเนื้อละเอียดเนียนแน่น แม้ขนาดผู้ชำนาญเองก็ยังเห็นว่าเป็นพระกรุเก่าอยู่นั่นเอง ส่วนจากถ้ำประทุนกับซากเจดีย์หักบนยอดเขา และที่วัดเขาวง จะมีลักษณะหยาบ แต่ก็ไม่มีเม็ดกรวดทรายเจือปนอยู่ด้วยแม้แต่เม็ดเดียว แต่ก็ดูง่ายกว่าเนื้อละเอียด เพราะของปลอมจะทำแบบเนื้อละเอียดทั้งสิ้น และอ.มนัส ย้ำอีกว่า ไม่เคยพบพระถ้ำเสือปลอมที่ทำเป็นเนื้อหยาบเลย เนื่องจากกรุเก่าเป็นเนื้อละเอียดเสียส่วนใหญ่ (นอกจากกรุหนองกุฏิเท่านั้นที่เป็นเนื้อหยาบ)
ในเนื้อพระชนิดหยาบบางองค์ จะปรากฏ แร่ทรายเงินและทรายทอง ซึ่งข้าพเจ้าไม่ขอกล่าวถึง เพราะต้องอธิบายหลายขั้นตอน เอาเป็นว่า จากการทดลองของ อ.มนัส สรุปได้ว่า ไม่ใช่เปลือกหอยแน่นอน เพราะเปลือกหอยถ้าถูกเผาไฟ จะไหม้กลายเป็นเถ้า แต่เกล็ดทองเป็นเกล็ดของทองคำ ส่วนเกล็ดเงิน อ.มนัส บอกว่า จนด้วยเกล้า เกล็ดทั้ง 2 แบบนี้ไม่ใช่จะมีทุกองค์ในเนื้อหยาบ จึงไม่ใช่ข้อสรุปทั้งหมด การจะส่องเห็น บางครั้งต้องหาเหลี่ยมหามุม เพื่อให้สะท้อนกับแสง
เดี๋ยวข้าพเจ้าต้องขอตัวไปทำงานก่อน แล้วจะกลับมาพูดถึงความแห้งผากของเนื้อพระและเทคนิคของ อ.มนัส ในการแยกระหว่างการดูพระกรุกับพระปลอมหรือเกจิ |
|