ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : รบกวนผู้มีความรู้ด้วยค่ะ...รุ่นชาร์ปรถไฟ



(D)


เพิ่งได้พระมาชุดนึงค่ะ เขาบอกว่าเป็นพระของหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค นครสวรรค์ รุ่นชาร์ปรถไฟ แต่ไม่มีความรู้ว่าเป็นของจริงหรือเปล่า...รบกวนด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

โดยคุณ อาระดิน (6.8K)  [ส. 11 เม.ย. 2552 - 22:20 น.]



โดยคุณ อาระดิน (6.8K)  [ส. 11 เม.ย. 2552 - 22:22 น.] #592660 (1/9)


(D)


ตรงด้านใต้มีโค้ดค่ะ...ส่วนอีกองค์เนื้อเดียวกันค่ะ

โดยคุณ อาระดิน (6.8K)  [ส. 11 เม.ย. 2552 - 22:23 น.] #592662 (2/9)


(D)
ด้านหลังของอีกองค์ค่ะ

โดยคุณ อาระดิน (6.8K)  [ส. 11 เม.ย. 2552 - 22:25 น.] #592665 (3/9)
ขอโทษด้วยค่ะ...ภาพไม่ค่อยชัด ตรงผิวจะเป็นเหมือนเส้นๆซ้อนกันค่ะ

โดยคุณ เด็กตลาดช่องแค (450)  [พฤ. 16 เม.ย. 2552 - 07:58 น.] #596036 (4/9)
จริงไม่อยากรุ่นรุ่นนี้ มีกลุ่มคนพยายามให้ทัน ผลประโยชน์มันเยอะ ชาร์รถไฟที่ทันมันก็มีแต่ไม่ใช่ล้นตลาดแบบนี้ เอาเป็นว่า ผมตอบบนพื้นฐานข้อมูลผมนะ

องค์แรกเนื้อไม่ใช่ รุ่นที่ทันหลวงพ่อ

องค์ที่สองหูกาง ดูเนื้อไม่ออกถ้าเป็นอย่างที่คุณบอกก็บอกว่าไม่ทันหลวงพ่อเช่นกัน และถ้ามาดูโค๊ดพ ในใบโพธิ์ที่ ก้น ก็ไม่ใช่โค๊ดที่ทันหลวงพ่อ และถ้ามาดู โค๊ด 5 ไทยก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน ส่วนจารที่เห็นข้างใต้ ผมว่าไม่น่าใช่จารของตาผิวนะไม่มั่นใจไม่ชำนาญ แต่ถ้าบอกจารหลวงพ่อไม่ใช่แน่ครับ

คือต้องทำความเข้าใจก่อนรุ่นชาร์ปรถไฟ มีทั้งที่ทันและไม่ทันนะครับ ตาผิวทำออกมาขายหลังจากหลวงพ่อมรณะภาพก็เยอะ เอาเป็นว่าถ้าเอาข้อมูลผม ผมว่าทั้งสององค์นี้ ไม่ทันหลวงพ่อแน่ครับ และถ้าดูโค๊ด พ ในพิมพ์แบบหูกาง ด้วย ผมว่า องค์นี้เก้เลย ไม่ใช่โค๊ดของตาผิวแน่ ลองดูโค๊ด พ ใน ใบโพธิ์ที่ทันละกันนะครับ

https://www.g-pra.com/guaranteepra/prafullimg.php?type=pra&pra_id=1255&image_angle=base

โดยคุณ เด็กตลาดช่องแค (450)  [พฤ. 16 เม.ย. 2552 - 07:59 น.] #596038 (5/9)
อย่างไรรอฟังความเห็นท่านอื่นด้วยนะครับ อย่างที่บอกไม่อยากตอบรุ่นนี้ ปัญหาผลประโยชน์มันเยอะ แต่เห็นนานแล้วไม่มีคนตอบเลยตอบให้นะครับ ผมเองผิดได้นะอย่าเชือ่ผมมากครับ

โดยคุณ อาระดิน (6.8K)  [พฤ. 16 เม.ย. 2552 - 09:39 น.] #596123 (6/9)
ขอบคุณมากค่ะ..

โดยคุณ kaigreenline (6K)  [อ. 21 เม.ย. 2552 - 22:32 น.] #602985 (7/9)
**...พระหลวงพ่อพรหม เนื้อชาร์ปรถไฟ... **

***..ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่..

http://www.igetweb.com/www/k-amulet/

http://www.siamamulet.net/phpboard/qb.php?Qid=180051

http://www.bookskanessporn.com/webboard_2_1_31190_TH.html4 (ดูรูปใหญ่ )

http://www.pornkruba.net/webboard?id=605510&cat_w=&#9001=th

โดยคุณ kaigreenline (6K)  [พ. 23 ธ.ค. 2552 - 00:05 น.] #976019 (8/9)
...ด้วยความเคารพนะครับ เพื่อนๆ พี่ๆ สมาชิก ทุกๆ ท่านครับ ลองตั้งจิตให้เป็นกลาง แล้วปล่อยวาง ละเว้น เชิงพาณิชย์ มาร่วมคิดในสิ่งที่เป็นจริง กันดีกว่า นะครับ.. ((((((( ช๊าฟรถไฟ...อยู่ที่ใหน...ก็คือ...ช๊าฟรถไฟ ))))))

โดยคุณ kaigreenline (6K)  [พ. 23 ธ.ค. 2552 - 00:20 น.] #976027 (9/9)


(D)
บทความ จาก ประธานชมรม ชรฟ.
...................................................................................................................................
....ช๊าฟคือ อะไร ???
....ช๊าฟ คือ ชิ้นส่วนประกอบส่วนหนึ่งที่ใช้ใน รถจักรไอน้ำ และ รถพ่วง ในรถยุคแรกๆ ของรถไฟ ทำหน้าที่เดียวกับ ..บูทลูกปืนล้อรถ ในปัจจุบันนี่แหละครับ (ในสมัยรถจักรไอน้ำ ยังไม่มี บูทลูกปืน ครับ) ..และปัจจุบันเลิกใช้ช๊าฟ มานานแล้วนะครับ โดยการเปลี่ยนมาใช้ บูทลูกปืน แทนครับ..
...เนื้อช๊าฟรถไฟ..ทำปลอมไม่ได้นะครับ..เพราะการรถไฟเลิกใช้ช๊าฟรถไฟ..มานานแล้วครับ..และเนื้อช๊าฟรถไฟก็ไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ..เหมือน เนื้อเงิน เนื้อตะกั่ว เนื้อทองเหลือง ทองแดง นะครับ..ถือได้ว่าเป็น เนื้อพระที่ดูง่ายที่สุดเลยครับ..
&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230
หมายเหตุ..
...ข้อมูลทั้งหมดได้มาจาก อดีตพนักงานการรถไฟ แขวงงานรถพ่วง ปากน้ำโพ ผู้ขออนุญาต หลวงพ่อพรหมจัดสร้างพระพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณอายุราชการ จากการรถไฟฯไปเกือบ 10 ปี แล้วครับ..และปัจจุบันบางท่านยังมีชีวิตอยู่นะครับ..
..................................................................................................
***...พระชุดนี้เป็นการจัดสร้างโดยการขออนุญาตโดยตรงจากหลวงพ่อพรหม และเป็นการสร้างโดย คณะลูกศิษย์ในหน่วยงานการรถไฟฯ ส่วนต่างๆ และจำนวนพระส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของลูกศิษย์ในหน่วยงานการรถไฟฯ ซึ่งทุกๆคนต่างหวง และเคารพบูชา ต่อองค์ ลพ.พรหม จึงทำให้ ไม่มีพระหมุนเวียนในสนามพระ โดยทั่วไปเหมือนพระรุ่นอื่นๆ ของ หลวงพ่อ...
..................................................*****.......******......*****.................................................
............ขอขอบคุณ อดีตพนักงานการรถไฟ ฝ่ายการช่างกล พนักงานการรถไฟฯ ผู้ทำหน้าที่ตอกโค๊ด พนักงานการรถไฟฯ สังกัด หัวรถจักรบางซื่อ และอดีต นายสถานีรถไฟ ช่องแค ฯลฯ &#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230&#8230

*****บทความและเนื้อหาสาระต่อจากนี้ไปจะเป็นบทความที่ได้นำลงตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่อง ร่มโพธิ์ ตั้งแต่ฉบับที่ 145 เป็นต้นไป*****


ข้อเท็จจริงในพระเนื้อช๊าฟรถไฟ ( พระเนื้อช๊าฟรถไฟมีการสร้างจริงหรือ )
พระชุดหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟ รถไฟที่มีการจัดสร้างกันมาแต่ในอดีตนั้น มาในปัจจุบันนี้มีการถกเถียงกันมากในหมู่นักสะสม ทั้งในทางบวกและทางลบ ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เก็บสะสมพระพิมพ์ต่าง ๆ ของพระชุดนี้ และเป็นบุคคลหนึ่งที่ปฏิบัติงานอยู่ในการรถไฟฯ. เห็นว่าพระเนื้อช๊าฟรถไฟนี้หากไม่หาข้อยุติให้ได้อย่างชัดเจนแล้ว อาจจะมีความสับสนในหมู่นักสะสมมากยิ่งขึ้น ผู้ เขียนจึงได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ประมาณ 2 ปีเศษเห็นว่าข้อมูลที่ได้มีความชัดเจนมากพอสมควร สามารถที่จะนำมาเผยแพร่เพื่อความกระจ่างแก่ผู้ที่มีความสนใจที่จะศึกษาและสะสมพระชุดนี้เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจที่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และที่สำคัญคือเพื่อศักดิ์ศรีของคนรถไฟและการรถไฟฯ.
ผู้เขียนได้เข้าทำงานที่การรถไฟฯ.เมื่อปี 2526 ได้พบเห็นและรู้จักพระหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟรถไฟในปี 2528 จึงได้เก็บสะสมเรื่อยมา การเก็บพระของผู้เขียนจะเป็นลักษณะที่สะสมเสียมากกว่า จะแบ่งปันก็เฉพาะในหมู่พนักงานด้วยกันเท่านั้น พระหลวงพ่อพรหมที่ผู้เขียนเก็บสะสมไว้โดยมากแล้วจะได้มาจากพนักงานด้วยกันแต่ก็มีในบางส่วนที่ได้มาจากในสนามพระ โดยเฉพาะในสนามพระที่โคราช ผู้เขียนได้เช่าประจำอยู่ร้านหนึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ไปเช่าบูชาพระกับเขาเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ผู้ให้เช่าได้พูดออกมาลักษณะว่าพอหรือยังแต่คำพูดและกริยาที่แสดงออกมานั้นเป็นไปในลักษณะที่เยาะเย้ย ผู้เขียนได้เก็บข้อสงสัยในพระเนื้อนี้อยู่ในใจมาตลอด แต่ก็ได้พยายามเสาะหาข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ต่อมาผู้เขียนได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่อีกหลายจังหวัดและปัจจุบันได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงรถจักรบางซื่อ ได้พบกับพนักงานที่มาจากในหลายๆจังหวัด โดยเฉพาะพนักงานที่ได้เกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเฉพาะพนักงานส่วนนี้ในปีละครั้งจะต้องมารายงานตัวที่ต้นสังกัดที่ตนเคยปฏิบัติงานอยู่ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้พบและได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ มีบางท่านที่ได้อนุเคราะห์ให้คำแนะนำให้รายชื่อหรือที่อยู่ของผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการจัดสร้างหรือได้เกี่ยวข้องด้วยทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้เขียนได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบันข้อมูลก็ยังได้มาอยู่เสมอๆ ข้อมูลบางอย่างจึงมีการแก้ไขอยู่เนืองๆ ผู้เขียนและคณะเห็นว่าข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมาชัดเจนมากพอสมควรที่จะนำมาเผยแพร่แก่ผู้สนใจที่จะศึกษาได้แล้ว ทางคณะจึงได้จัดทำเป็นรูปเล่มขึ้นซึ่งได้แจกไปจนหมดลงแล้วในอนาคตจะมีการจัดพิมพ์ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น ขณะนี้ผู้ที่มีความสนใจสามารถศึกษาหาข้อมูลได้ที่ j k. amulet.
การเก็บสะสมพระของคนรถไฟโดยทั่วไปนั้นกว่า 90 % จะเก็บกันเพื่อสะสมเท่านั้นไม่มีการเก็บแบบพุทธพานิช เมื่อพนักงานออกปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องไปกับรถจักรตั้งแต่กรุงเทพฯ.ตลอดปลายทางทุกสายทั่วประเทศเมื่อทราบว่าพระสงฆ์ท่านใดปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบก็จะไปกราบท่านจนถึงวัดกันเลย วัตถุมงคลที่คนรถไฟได้รับมานั้น หากหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้รับจากท่านโดยตรงซึ่งผู้เขียนก็ได้ปฏิบัติเช่นที่กล่าวมาด้วย แม้บางวัดที่อยู่ห่างไกลมากๆ ทางเราก็จะไปกันจนถึง บางครั้งถึงกับต้องนอนค้างกันที่วัดก็มีกันอยู่เสมอ ปัจจุบันมีอยู่หลายหลวงพ่อที่มีผู้นิยมสะสมวัตถุมงคลของท่าน ที่ชอบอ้างว่าเป็นศิษย์สายตรงของท่านแต่พระบางพิมพ์หรือวัตถุมงคลบางอย่างของหลวงพ่อหากไม่มีราคาแล้ว เขาเหล่านั้นแทบไม่สนใจอะไรเลยจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สิ่งของบางอย่างจะหาผู้ที่รู้หรือทราบประวัติกันจริงๆ นั้นยาก
ผู้เขียนได้เคยประสพด้วยตนเองมาแล้วคือรูปหล่อของหลวงพ่อท่านหนึ่งอยู่ในช่วงเวลากำลังเป็นที่นิยม ผู้เขียนได้เช่าบูชามาจากคน 3 คนในสนามเดียวกันได้สอบถามความแตกต่างระหว่างพิมพ์ และความเป็นมาของความแตกต่างปรากฏว่าทั้ง 3 คนได้ให้ข้อมูลไม่ตรงกันเลยโดยมากจะเป็นนิยายทั้งๆที่พวกเขาเหล่านั้นอยู่ในจังหวัดหรืออำเภอเดียวกับวัด และหลวงพ่อก็ยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ เมื่อผู้เขียนได้เรียนถามกับหลวงพ่อข้อมูลที่ได้เป็นคนละเรื่องกับที่ได้ทราบมาจากเขาเหล่านั้น ดังนั้นหากคนรถไฟจะเช่าหาวัตถุมงคลของหลวงพ่อท่านใดถ้าหากเป็นไปได้ก็ไปที่วัดกันโดยตรง พร้อมทั้งสอบถามประวัติความเป็นมาจากหลวงพ่อหรือผู้ที่รู้จริงกันเลย ถึงกับต้องค้างที่วัดตามที่ได้กล่าวไว้แล้วก็มี
ปัจจุบันยังมีบุคคลอีกมากที่ไม่ทราบว่าคนรถไฟนั้นได้มีการจัดสร้างหรือร่วมสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อต่างๆ อยู่หลายวัดทั้งที่มรณภาพไปแล้วหรือที่ยังคงอยู่ ซึ่งมีทั้งพระรุ่นแรกหรือแม้แต่บางรุ่นที่มีมูลค่าความนิยมในปัจจุบันเช่น เหรียญหลวงพ่อในสายพระปฏิบัติในจังหวัดนครราชสีมา,เหรียญรุ่นแรกของอดีตหลวงพ่อในจังหวัดนครปฐม,อยุธยา,นครสวรรค์,อุตรดิตถ์,ลำปาง,พิษณุโลก,เลย ฯลฯ.และอีกหลายวัดในภาคใต้ ผู้เขียนเองก็ยังได้สร้างวัตถุมงคลถวายหลวงพ่อ ที่ผู้เขียนนับถืออยู่หลายรุ่นได้สร้างขึ้นเพื่อถวายให้หลวงพ่อสำหรับนำไว้แจกแก่ผู้ที่มีความนับถือในองค์หลวงพ่อไม่ได้มีการเปิดให้บูชาแต่อย่างใด จะมียกเว้นอยู่บ้างก็คือมอบให้ผู้ร่วมทำบุญถวายผ้าป่า,กฐินหรือร่วมทำโรงทานถวายหลวงพ่อ แม้แต่ในขณะนี้ผู้เขียนยังมีวัตถุมงคลที่ยังเหลือไว้สำหรับถวายหลวงพ่ออีกนับพันชิ้น
ขอกลับมากล่าวถึงพระชุดหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟ รถไฟอีกครั้ง ผู้เขียนและคณะโดยมีคุณเศกสรร คงไพรสันต์ คุณสุภศักดิ์ แสนเย็น คุณวิชาญ ภาคพิชัย และอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามไว้ในที่นี้ ได้ร่วมกันเสาะหารวบรวมข้อมูลถึงคณะผู้จัดสร้าง จำนวนและวันเวลาที่จัดสร้างและได้รวบรวมทำเป็นรูปเล่มดังที่ได้แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจไว้บ้างแล้วนั้น แต่มีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือจึงจะกล่าวเพิ่มเติมดังนี้.
ก่อนที่จะมีการสร้างพระชุดหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟ รถไฟขึ้นมานั้นทางพนักงานรถไฟได้จัดทำพระรูปเหมือนหลวงพ่ออื่นๆตามที่ตนนับถือและหรือที่มีพระอยู่ในมือในขณะนั้นเช่นรูปเหมือนหลวงพ่อเงิน,หลวงพ่อเดิม,พระสังขจาย,พระสิวลี ฯลฯ.ต่อมามีคุณ ชนะ ดวงทองตำแหน่งในขณะนั้นคือพนักงานขับรถทำหน้าที่ขับรถจักรทำสับเปลี่ยนประจำอยู่ที่ช่องแค,คุณ ปัญญา ....ตำแหน่งช่างไฟชั้น หนึ่ง. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่กับคุณ ชนะ ฯ. ( ทั้งสองท่านได้สร้างพระเนื้อช๊าฟฯ.พิมพ์นิ้วกระดกทำไว้แจกเฉพาะหมู่ญาติในปี 2513 ) คุณ วินัย และอดีตพนักงานการรถไฟอีกหลายท่านซึ่งมีความใกล้ชิดกับทางหลวงพ่อพรหมในขณะนั้นได้หารือกับหลวงพ่อผิวและริเริ่มสร้างพระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟ รถไฟขึ้น การสร้างพระนั้นทำโดยการถอดพิมพ์และตกแต่งเพิ่มเติมบ้างในบางส่วนโดยไม่ได้มีการทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ตามที่มีการกล่าวหาจากผู้ที่ไม่รู้จริงแต่อย่างใด ซึ่งช่างของการรถไฟนั้นหากใครได้มีโอกาสไปดูที่โรงงานมักกะสันก็จะได้ทราบว่าคนรถไฟนั้นมีฝีมือที่สามารถจะสร้างอะไรได้อย่างที่ทุกคนคาดไม่ถึง โดยในอดีตนั้นอุปกรณ์หรืออะไหล่ต่างๆที่ใช้ในรถไฟนั้นทางโรงงานมักกะสันจะผลิตเองเป็นส่วนมาก
พระเนื้อช๊าฟรถไฟนั้นมีผู้กล่าวถึงในทางลบก็มีมาก ว่าทำไมพระจึงมีพระพิมพ์ต่างๆเพิ่มขึ้นมาอยู่เรื่อยไม่หมดเสียทีหรือบ้างว่าคงจะมีการเก็บแม่พิมพ์กันไว้ ก็ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วว่าพระที่สร้างนั้นเป็นฯการสร้างโดยการถอดพิมพ์ ( มีการแกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ก็มีแต่มีไม่มากรุ่นนัก )บางพิมพ์มีการสร้างจำนวนไม่มากขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นมีวัสดุ,อุปกรณ์มากน้อยเพียงใดและผู้ที่ทำนั้นมีพระแม่แบบอยู่ในมือคือพิมพ์อะไร หรือบ้างก็กล่าวว่าการปลุกเสกนั้นทำไมไม่มีใครรู้หรือทำไม่ไม่มีรูปภาพตอนที่หลวงพ่อปลุกเสกบ้าง ซึ่งข้อนี้หากผู้ที่เคยเห็นหรือรู้จริงจะทราบว่าขั้นตอนที่ปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อนั้นทำเช่นใดก็จะเข้าใจทันที ดังเช่นที่มีการกล่าวกันว่าผัดก๋วยเตี๋ยวและการปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อโดยมากแล้วจะทำในเวลากลางคืน เช้าถึงจะให้มารับพระกลับ พระเนื้อช๊าฟรถไฟก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันจะมีก็แต่รุ่นพิมพ์ก้นระฆังในผนังใบโพธิ์เนื้อผง หลวงพ่อได้เมตตานำไปแช่ในน้ำมนตร์ให้ตลอดคืนพระที่ได้จึงมีพระที่สมบูรณ์เป็นส่วนน้อย ดังนั้นวัตถุมงคลของหลวงพ่อแทบทุกรุ่นแม้แต่ของทางวัดเองก็แทบจะไม่มีรูปพิธีการปลุกเสกที่จะได้นำมาให้ดูกันและที่สับสนกันมากคือพระเนื้อช๊าฟรถไฟที่มีการสร้างกันขึ้นในปี พศ.2533และปีพศ.2539 แต่ถ้าหากได้ศึกษากันจนเข้าใจแล้วก็จะสามรถแยกแยะได้ไม่ยาก พระชุดนี้แม้จะสร้างไม่ทันในยุคของหลวงพรหมก็ตามแต่ก็สามารถที่เก็บสะสมได้เพราะได้รับการอธิฐานจิตมาแล้วจากหลายหลวงพ่อด้วยกัน เช่นหลวงพ่อจ้อย,หลวงพ่อทองดำ,หลวงพ่อฮวด,หลวงพ่อแนม ดังเป็นที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมื่อก่อนนั้นพระหลวงพ่อพรหมแม้แต่พระที่ออกจากทางวัดก็ยังไม่มีราคาค่างวดอะไรมากนัก พระเนื้อช๊าฟ รถไฟนั้นก็ยิ่งแทบจะไม่มีใครสนใจเลยโดยมากจะมีก็แต่คนรถไฟเท่านั้นที่ได้มีการเก็บสะสมไว้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าส่วนมากได้พระมาจากการเป็นกรรมการทำบุญต่างๆเพื่อถวายหลวงพ่อเช่นทำผ้าป่าหรือกฐิน เมื่อได้พระมาแล้วก็เก็บไว้โดยไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนักก็ไม่ต่างอะไรมากกับพระที่เราได้จากการเป็นกรรมการทำบุญในปัจจุบันและอีกอย่างคนรถไฟก็มีพระของหลวงพ่อที่ได้เช่าบูชามาจากทางวัดกันอยู่แล้ว โดยแต่ละคนก็มีกันอยู่คนละหลายๆองค์ เพราะพนักงานส่วนใหญ่เมื่อลงพักที่ช่องแคก็จะเข้าไปกราบและทำบุญกันกับหลวงพ่อกันเป็นประจำทุกๆคน แม้เมื่อหลังจากที่หลวงพ่อได้ละสังขารไปแล้วพระของหลวงพ่อที่มีอยู่ในพื้นที่ก็คนรถไฟอีกนั่นแหละที่ตาม กว้านตามเก็บจนพระแทบจะหมดไปจากช่องแค พระเนื้อช๊าฟ รถไฟ นั้นส่วนมากจึงมักจะตกค้างอยู่กับทางผู้จัดสร้างบ้างหรือตกอยู่กับผู้ที่เป็นแม่งานในการจัดผ้าป่า,กฐิน และพระที่เหลือจากการแจกกรรมการตกค้างอยู่บ้างหรือตกไปอยู่กับผู้ที่ ผู้จัดสร้างมีความนับถือหรือกับผู้ที่มีตำแหน่งสูงบ้าง ต่อเมื่อในระยะหลังมานี้พระหลวงพ่อพรหมได้มีราคาที่สูงขึ้นจึงทำให้พระเนื้อช๊าฟรถไฟซึ่งเป็นพระมีราคาที่ไม่สูงมากนักกลายเป็นที่ต้องการบุคคลที่ต้องการมีพระของหลวงพ่อไว้บูชา จึงมีการเสาะหากันมากขึ้นและเมื่อเป็นพระที่เริ่มมีราคา พระที่ตกมาถึงรุ่นลูกหลานของผู้ที่มีพระไว้ในครอบครองก็ได้นำออกมาสู่สนามบ้างจึงทำให้พระรุ่นนี้มีการพูดถึงกันมากขึ้น จำนวนพระที่มีหมุนเวียนอยู่ในสนามนั้นเท่าที่ผู้เขียนพอทราบก็มีออกมาประมาณพันองค์เศษซึ่งจำนวนเท่านี้ก็ไม่เห็นจะน่าวิตกจริตอะไรกันมากนักผู้เขียนที่ได้เก็บสะสมมาตลอดหลายปี นอกจากที่ได้แบ่งปันให้แก่ผู้ร่วมงานกันเองบ้างแล้วพระของผู้เขียนที่ตกออกสู่ภายนอกปัจจุบันมีเพียง 4 องค์เท่านั้นจากจำนวนพระที่มีอยู่กว่ากว่า 300 องค์
ในระยะหลังมานี้ได้มีผู้ที่นิยมเก็บสะสมพระเนื้อช๊าฟรถไฟได้ติดต่อมาทางคุณเศกสรร ฯ.และผู้ทางผู้เขียนเป็นจำนวนพอสมควรว่าอยากให้ทางคณะผู้เขียนจัดทำสูจิบัตรเพื่อรับรองพระซึ่งทางผู้เขียนและคณะได้หารือกันแล้วได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเร็วๆนี้โดยจะออกให้ในนามชมรมฯ.อีกกรณี คือมีหลายๆท่านได้ให้ช่วยตรวจสอบพระให้ว่าพระบางพิมพ์ที่ไม่ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือ เป็นพระที่สร้างขึ้นมาทันยุคของหลวงพ่อหรือไม่เพราะว่ามีมากพิมพ์เหลือเกินซึ่งบางส่วนทางคณะผู้เขียนได้ตรวจสอบดูแล้วบางพิมพ์เห็นว่าเป็นพระแท้และอยู่ในช่วงเวลาที่ทันหลวงพ่อจริง แต่ด้วยเหตุที่ว่าทางคณะผู้เขียนยังไม่สามารถหาข้อมูลในการสร้างที่ชัดเจนได้ เช่นผู้จัดสร้าง,จำนวน,วันเวลาที่สร้าง ฯลฯ.ทางผู้เขียนจึงยังไม่ลงรูปหรือรวบรวมไว้ในทำเนียบให้ ต่อเมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนดีแล้วทางผู้เขียนและคณะจึงจะนำรูป พิมพ์พระลงไว้ให้ในทำเนียบประวัติต่อไป ขณะนี้มีพระที่ได้ตรวจสอบประวัติเป็นที่ชัดเจนแล้วสามารถอ้างอิงหลักฐานได้และกำลังนำรูป ,ประวัติการสร้างลงในทำเนียบคือพิมพ์นิ้วกระดกและพิมพ์รูปเหมือนหลวงพ่อขนาดพระบูชา มีการจัดสร้างในปี พศ.2513 และพิมพ์ก้นระฆังอยู่ในผนังใบโพเนื้อผง ซึ่งพิมพ์นิ้วกระดกสามารถหารูปถ่ายได้แล้ว ส่วนอีก 2 พิมพ์ยังไม่สามารถหารูปถ่ายได้จึงยังไม่มีการนำรูปภาพลงในหนังสือหรือทำเนียบแต่อย่างใด ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ติดต่อเพื่อขอรูปถ่ายกับผู้ที่มีพระอยู่ในครอบครองไว้แล้วคาดว่าในไม่ช้าข้อมูลต่างๆคงมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ยังมีรายนามอีกมากของผู้ที่ได้แนะนำหรือได้ให้ข้อมูลต่างๆแก่ผู้เขียนซึ่งในปัจจุบันบางท่านก็ได้เสียชีวิตไปแล้วและบางท่านที่มีชีวิตอยู่แต่ทางผู้เขียนไม่ได้เอ่ยนามไว้ก็เพราะยังไม่ขออนุญาตจากท่านหรือจากทางบุตรหลานของท่านเหล่านั้นโดยตรงผู้เขียนและคณะจึงขออภัยไว้ในที่นี้และหากสิ่งใดที่เป็นประโยชน์,เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของการรถไฟฯ,คนรถไฟและบุคลโดยทั่วไปแล้วผู้เขียนและคณะขอมอบความดีเหล่านั้นแด่ท่านทั้งหลายไว้ ณ.ที่นี้ด้วย

จรัญ ปั้นโฉม

ประธาน ชมรมผู้นิยมสะสมพระเนื้อช๊าฟฯ (ชรฟ.)




ข้อเท็จจริง 2
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในพระชุดหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟรถไฟ ที่ได้ติดตามบทความของผู้เขียนมาโดยตลอดก่อนอื่นผู้เขียนขอแจ้งข่าวให้ ทราบก่อนว่ามีพระพิมพ์ของหลวงพ่อพรหมเนื้อ ช๊าฟรถไฟที่สามารถทราบประวัติการสร้างที่ชัดเจน ทางชมรมได้ตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วสามารถที่จะรับรองได้ มีเพิ่มมาอีก 2 แบบคือพิมพ์นิ้วกระดกใต้ฐานตอกหมายเลข 13 สร้างเมื่อปี พ ศ.2513 โดยคุณ ชนะ.และคุณ ปัญญา. อดีตพนักงานสับเปลี่ยนประจำที่ช่องแค อีกพิมพ์คือพิมพ์ก้นระฆังใต้ฐานตอกโค๊ดระฆัง สร้างปี พ ศ.2513 โดยกลุ่มอดีตพนักงานการรถไฟ ขออธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุของพระพิมพ์นี้ที่ตอกโค๊ดเป็นรูประฆังลักษณะคล้ายกับโค๊ดของทางวัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อมีการสร้างพระเสร็จแล้วทางคณะผู้สร้างได้นำพระไปตอกโค๊ดระฆังของทางวัค ซึ่งตอกโค๊ดได้จำนวนเพียง 4 องค์ ทางวัดเกรงว่าโค๊ดของวัดจะชำรุดจึงให้ยุติการตอกโค๊ดเพียงเท่านั้น ทางคณะผู้จัดสร้างจึงขอให้ช่างฝีมือที่โรงงานมักกะสันทำโค๊ดระฆังให้ใหม่สำหรับใช้ตอกพระชุดนี้ ซึ่งพระชุดนี้มีบางท่านที่ได้รับพระไปจะเป็นแบบใต้ฐานเรียบไม่ตอกอะไรเลยก็มี ( คุณอัมพรฯ.นำมาเจาะใต้ฐานและนำเกศา,ผงพุทธคุณ,ผ้าขาวม้าบรรจุไว้และมีหนึ่งในสิบองค์ได้ตอกโค๊ดระฆังไว้สองจุด ) หลังจากที่ทำพระชุดนี้แล้วในการสร้างครั้งต่อๆ มาทางคณะผู้จัดสร้างพิจารณาดูความเหมาะสมแล้วเห็นว่าเป็นการไม่สมควร จึงไม่มีการใช้โค๊ดใดๆ ตอกที่ใต้ฐานพระอีก และได้เปลี่ยนเป็นการใช้รูปแบบหมายเลขต่างๆ ตอกแทน ดังที่ปรากฏอยู่ในพระชุดต่อๆมา
ตามความตั้งใจของผู้เขียนหลังจากที่ได้ส่งบทความให้ทางกอง บก.นิตยสารร่มโพธิ์แล้วตอนต่อไปก็คิดไว้ว่าจะกล่าวถึงเรื่องแบบพิมพ์,พ ศ.ที่สร้าง,ลักษณะควรสังเกต ฯลฯ. แต่หลังจากที่นิตยสารร่มโพธิ์เล่มที่ 147 ออกวางจำหน่ายแล้วทางผู้เขียนได้รับโทรศัพท์ หรือได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับบุคลหลากหลายทัศนะมีทั้งในแง่บวกและลบจนผู้เขียนต้องนำมาทบทวนในหลายๆ เรื่อง ครั้งแรกคิดแล้วว่าจะปล่อยผ่านไปเพราะบางเรื่องไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาเขียน แต่หลังจากที่ได้ทบทวนดูแล้วผู้เขียนเห็นว่าบางส่วนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านหรืออย่างน้อยก็น่าจะไขความสว่างแก่บางท่านที่มองพระชุดนี้ในเชิงอคติอยู่บ้าง ผู้เขียนจึงขอเขียนบทความเพื่อขยายเรื่องบางอย่างอีกครั้งซึ่งอาจจะซ้ำกับเรื่องที่เคยลงไว้ก่อนหน้านี้หรือเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้เขียนจนเกินไปผู้เขียนก็กราบขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วย
เรื่องต่างๆที่ผู้เขียนได้รับได้รู้มาพอจะแยกและชี้แจงได้ดังนี้
อันดับแรกที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือ อยากให้ระบุ วัน,เดือน,ปี ที่สร้างพระแต่ละพิมพ์ให้ชัดเจน ปัญหาข้อนี้นั้นก็ดังที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าบางส่วนเมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วผู้เขียนก็จะนำเสนอทันทีแต่โดยมากแล้วพิมพ์ก้นระฆังที่ตอกหมายเลขต่างๆนั้นมีการจัดสร้างในหลายๆครั้งตั้งแต่ปี พ ศ.2513 &#8211 ปี พ ศ.2516 จึงยากที่จะระบุเวลาที่ชัดเจนได้ ผู้เขียนจะขอสรุปให้ชัดเจนโดยสั้นๆอีกครั้งดังนี้ ในปี พ ศ.2513 ได้มีการสร้างพระพิมพ์ต่างๆ ดังนี้คือ พิมพ์หล่อโบราณที่ฐานด้านหลังระบุปี 2513, พิมพ์หล่อที่ถอดแบบมาจากพิมพ์แผ่นปั๊มปี 2512,พิมพ์ก้นระฆังมี ผ. ที่สังฆาฏิ ใต้ฐานตอกโค๊ด พ. ในใบโพธิ์,พิมพ์หูกางที่ฐานด้านหลังตอกเลข ๕ ไทย,พิมพ์นิ้วกระดกใต้ฐานตอกเลข 13 ไทยและพิมพ์ก้นระฆังใต้ฐานตอกโค๊ดระฆัง ปี พ ศ.2515 สร้างพิมพ์ สมเด็จหลังยันต์ 10 ตอกโค๊ดเลข 15 ไทยในวงกลม,พิมพ์ก้นระฆังพิมพ์หูกางตอกโค๊ด 15 ไทยในวงกลมที่ใต้ฐาน พิมพ์ที่ระบุปียากที่สุดคือพิมพ์ก้นระฆังที่ใต้ฐานตอกเลข 999,90 ไทยตัวใหญ่และพิมพ์ตอกเลข 999,90 ไทยตัวเล็ก พระชุดที่กล่าวถึงนี้มีการจัดสร้างขึ้นหลายครั้งแต่ปีที่สร้างจะอยู่ในระหว่าง พ ศ. 2513 &#8211 2516( มีบางท่านแนะนำว่าให้ระบุปีลงไปเลยปีไหนก็ได้แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงยังจะคงข้อมูลไว้แบบนี้ไปก่อนต่อเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็ค่อยชี้แจงให้ทราบกันอีกครั้ง )
ซึ่งท่านผู้ที่ได้สะสมพระเนื้อ ช๊าฟรถไฟของหลวงพ่อไว้โปรดมั่นใจได้เลยว่าพระชุดดังกล่าวได้สร้างทันยุคของหลวงพ่อและได้ผ่านการอธิฐานจิตจากหลวงพ่อแน่นอนทุกองค์ ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ ที่มิใช่รูปเหมือนของหลวงพ่อที่เคยได้มีการจัดสร้างมาก่อนจะไม่ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้
เรื่องลำดับต่อมาคือเรื่องนามของผู้จัดสร้าง ผู้เขียนขออธิบายเพื่อความชัดเจนในเรื่องของรายนามผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสร้าง กรณี นี้คือได้มีอดีตผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟหลายกลุ่มที่มีความศรัทธาในองค์หลวงพ่อได้มีการรวมกันจัดสร้างพระชุดนี้ขึ้นดังที่ผู้เขียนเคยได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้บ้างแล้วแต่ที่ไม่มีการกล่าวถึงในบางท่านนั้นก็เป็นเพราะโดยมากท่านเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่ได้พบและขออนุญาตจากทายาทของท่านเหล่านั้นก่อนจึงยังไม่อาจที่จะกล่าวถึงได้ ดังตัวอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้เอ่ยนามของคุณวินัย ก็เพราะเมื่อผู้เขียนและคณะได้ทำประวัติ พระของหลวงพ่อชุดแรกออกมาแล้วก็ได้ขอให้คุณ อัมพร นำไปแจ้งให้คุณ วินัย ทราบและขออนุญาตพิมพ์เป็นเล่มโดยได้อ่านให้คุณ วินัย ฟังเผื่อว่าหากมีข้อผิดพลาดก็ขอให้คุณ วินัย ช่วยท้วงติงบ้าง และการที่เอ่ยนามของคุณ วินัย บ่อยครั้งจนอาจดูเหมือนกับว่าพระทุกรุ่นเป็นการสร้างโดยคุณ วินัยทั้งหมด ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วคุณ วินัยได้มีการสร้างเพียงบางรุ่นเท่านั้น เช่นรุ่นหล่อโบราณ ,รุ่นก้นระฆังบางส่วนและพระเนื้อผงอีกหลายรุ่น การกล่าวนาม ของท่านก็เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่คุณวินัยเพราะคนรถไฟหรือบุคคลภายนอกบางส่วนเมื่อพูดถึงพระเนื้อช๊าฟรถไฟแล้วอันดับแรกก็จะคิดถึงคุณวินัยทันที เพราะเมื่อมีการจัดสร้างพระเนื้อช๊าฟแทบทุกครั้งโดยมากแล้วคุณวินัยคือผู้ที่นำพระไปให้หลวงพ่ออธิฐานจิตให้และผู้ที่ได้รับพระโดยมากก็จะได้รับจากคุณ วินัยจนมีการเรียกกันจนเกิดความเคยชินหรืออย่างที่บุคลภายนอกที่รู้จักท่านก็เป็นเพราะคุณวินัยก็เป็นหนึ่งในผู้ที่นิยมเก็บสะสมพระเครื่องโดยทั่วไปอยู่แล้วและท่านก็เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านต่างๆอีกหลายเรื่องหรือที่ได้กล่าวนามคุณชนะ ผู้สร้างพระรุ่นนิ้วกระดก ที่ผู้เขียนกล่าวนามได้ก็เพราะได้ขออนุญาตจากบุตรคุณชนะ แล้ว เรื่องนามนี้ก็ได้มีผู้ทักท้วงผู้เขียนมาบ้างแล้วเหมือนกัน ในครั้งต่อไปผู้เขียนจะขอกล่าวแต่เพียงว่า เป็นพระที่จัดสร้างโดยกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงานการรถไฟและจะขอกล่าวถึงนามผู้ใดให้น้อยที่สุดเพราะเนื้อช๊าฟรถไฟนั้นเป็นวัตถุที่จะหามาให้ได้เป็นจำนวนครั้งละมากๆ จะเป็นไปได้โดยยากต้องร่วมแรงร่วมใจกันหลายๆคนเพื่อช่วยกันหาและเก็บเศษเนื้อช๊าฟรถไฟที่ไม่ใช้แล้วมารวบรวมไว้ การสร้างพระแต่ละครั้งจะได้จำนวนพระครั้งละไม่มากแค่เพียงหลักร้อย มีการสร้างได้จำนวนมากก็เห็นจะมีก็แต่พระทีมีการจัดสร้างในปี 2515เท่านั้น ครั้งนั้นมีการรวบรวมเนื้อช๊าฟจากหลายแห่งและที่มากที่สุดคือเนื้อช๊าฟที่ได้มาจากโรงงานรถไฟที่อุตรดิตถ์ ได้มาถึงหนึ่งลัง พระที่สร้างในครั้งนั้นได้จำนวนหลายพันองค์ จากคำบอกเล่าของคุณบุญมา ฮวนชาตรี ( ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง พนักงานขับรถ สังกัดงานรถจักรบางซื่อ )ซึ่งขณะนั้นท่านยังอยู่ในวัยเด็กท่านจะมาช่วยงานเล็กๆน้อยๆในวัดเป็นประจำเนื่องจากบิดาของคุณบุญมานั้นก็สนิทสนมคุ้นเคยกับคณะกรรมการและทางวัดอยู่ด้วยท่านหนึ่ง คุณบุญมาได้เคยพบเห็นการนำพระเนื้อช๊าฟของกลุ่มพนักงานรถไฟที่สร้างเสร็จแล้วและได้นำมาให้หลวงพ่ออธิฐานจิตให้อยู่บ่อยครั้ง บุคคลเหล่านั้นเมื่อนำพระมาถึงวัด หลวงพ่อท่านจะกล่าวขึ้นด้วยความเมตตาว่า &#8220 เอ้า มากันแล้วหรือพวกรถไฟ เอา.เอาเข้ามาเลยจะจัดการให้ แล้วยังกล่าวในทำนองเตือนหรือปรามด้วยว่า ของไม่ดีอย่าเอามาทำนะ&#8221 คำว่าของไม่ดี คำพูดดังกล่าวเป็นลักษณะเหมือนหลวงพ่อท่านหยั่งรู้ว่า ช๊าฟรถไฟนั้นหากเป็นของใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้งานจะเป็นของที่อยู่ในบัญชีของสงวนจะใช้ได้ก็แต่เฉพาะในงานเท่านั้นหากจะเบิกใหม่ต้องนำซากเก่ามาคืนด้วย ( หากสูญหายจะมีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดและต้องมีโทษ ) พระที่นำมาในแต่ละครั้งที่คุณบุญมาได้เห็นจะมีมาครั้งละประมาณ 1 กระป๋องขนาดใหญ่ มีอยู่เพียงครั้งเดียวที่นำมาเป็นจำนวนมากโดยได้ใส่มาในลังขนาดใหญ่มากมาที่วัด เมื่อมีการสร้างกันโดยคนรถไฟหลายกลุ่มพระที่ได้โดยมากก็จะกระจายอยู่กับพนักงานรถไฟเท่านั้นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นแม่งานบางท่านถึงจะมีพระตกค้างอยู่กับตนจำนวนนับร้อยๆ องค์ ผู้เขียนขอกล่าวซ้ำเพิ่มเติมเรื่องพระเนื้อผงที่หลวงพ่อได้นำไปแช่น้ำมนต์อีกสักเล็กน้อย จากคำบอกเล่าของคุณบุญมาทราบว่าหลังจากที่นำพระขึ้นมาจากอ่างน้ำมนต์แล้วได้พบว่าพระโดยมากจะชำรุดเปื่อยยุ่ยเกือบทั้งหมด หลวงพ่อผิวซึ่งได้อยู่ ณ.ที่นั้นด้วยได้ขออนุญาตหลวงพ่อเพื่อทำขึ้นใหม่หลวงพ่อท่านก็ได้เมตตาอนุญาต ให้จึงได้ทำการกดพิมพ์ทำพระกันขึ้นใหม่ที่ในวัดเลยซึ่งคุณบุญมาก็มีโอกาสได้ร่วมช่วยทำด้วย ตลอดเวลาที่กดพิมพ์เพื่อสร้างพระ หลวงพ่อท่านได้เมตตานั่งปรกอธิฐานจิตให้ตลอดเวลาด้วย
ยังมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างพระเนื้อช๊าฟชุดนี้อีกหนึ่งท่านที่จะขอกล่าวถึงรวมไว้ในที่นี้เลยท่านนั้นคือคุณอัมพร ดวงทอง คุณอัมพรนั้นเป็นบุตรของคนรถไฟ พักอยู่บ้านพักของรถไฟที่ช่องแคเติบโตและเรียนอยู่ที่นั่นการทำงานครั้งแรกในตำแหน่ง คนการช่างของการรถไฟ ท่านเคยได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่ออยู่นานพอสมควรท่านเป็นบุคลหนึ่งที่ได้เก็บวัตถุอันเป็นมงคลของหลวงพ่อไว้หลายอย่างเช่น จีวร,รัดประคต ฯลฯ.ซึ่งในปัจจุบันท่านก็ยังคงเก็บรักษาอยู่ ก่อนนั้นบุคลที่รู้จักคุณอัมพร จะไม่สนใจคุณอัมพร มากนักเพราะอุปนิสัยโดยทั่วไปของท่านจะเป็นคนโผงผางและติดจะเพลย์บอย อีกด้วย จะมีชื่อเสียงออกไปในทางลบอยู่มาก การที่มีส่วนร่วมในการสร้างพระนั้นเมื่อคุณอัมพร ได้เข้าทำงานในการรถไฟใหม่ๆอายุและตำแหน่งยังน้อยอยู่เมื่อมีการสร้างพระขึ้นครั้งใดจะถูกเรียกใช้เพื่อเป็นลูกมือแทบทุกครั้ง คุณอัมพรจึงเป็นคนหนึ่งที่รู้ขั้นตอน,จำนวนและวิธีการสร้างดีที่สุดคนหนึ่ง มีการสร้างพระขึ้นอีกหลายครั้งที่ไม่ทันในยุคของหลวงพ่อแต่เป็นพระเนื้อช๊าฟและเป็นช๊าฟที่เกิดมีปัญหาขึ้นมาคุณอัมพรเป็นคนหนึ่งที่ทางการเพ่งเล็งมากที่สุดเพราะเป็นผู้รู้วิธีสร้างพระจากเนื้อช๊าฟเป็นอย่างดี ถึงกับการรถไฟได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคุณอัมพรอยู่หลายครั้งเมื่อเรื่องทุกอย่าง ปรากฏชัดเจนและคุณอัมพรได้พ้นมลทินแล้วคุณอัมพรจึงได้อนุญาตให้เปิดเผยชื่อท่านได้และประวัติความเป็นมาของการสร้างพระที่ผู้เขียนที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ คุณอัมพรก็เป็นบุคลหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆและได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มามากพอสมควร อนึ่งเมื่อมีการปลุกเสกพระในปี พ ศ.2516 พระที่เหลือตกค้างอยู่กับคุณวินัยและกับอีกหลายๆท่านคุณอัมพรถูกใช้ให้ไปหาอุปกรณ์ที่จะใส่บรรจุพระเพื่อนำเข้าร่วมในพิธีปลุกเสก คุณอัมพรก็เป็นบุคลที่ไป ซื้อปี๊ปน้ำมันก๊าดจากตลาดช่องแคเพื่อนำมาให้ใส่พระในครั้งนั้น
เรื่องสุดท้าย ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวไปบ้างผู้เขียนตั้งใจว่าจะไม่กล่าวถึงแล้วแต่เพื่อความชัดเจนจึงขอนำมากล่าวไว้สักเล็กน้อยท่านผู้อ่านหากเห็นแล้วว่าไม่เป็นสาระก็จงอ่านข้ามไปเสีย มีการถามกันมาว่าผู้เขียนได้ประโยชน์ใดกับเรื่องนี้ ประโยชน์จากการขายบทความหรือประโยชน์จากการขายพระ ผู้เขียนขอเรียนว่าคำถามแรกไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆจากบทความของผู้เขียนเลยประโยชน์ที่ได้คงเป็นอานิสงค์จากการได้ประกาศสรรเสริญเกียรติคุณของหลวงพ่อ ก่อนหน้าที่จะมีการนำบทความต่างๆของผู้เขียนและคณะลงเผยแพร่ในนิตยสารร่มโพธิ์ ผู้เขียนและคณะได้จัดทำหนังสือเป็นรูปเล่มไว้สำหรับแจกแก่ผู้ที่มีความสนใจมาก่อนแล้ว ทำมาได้ระยะหนึ่งทางคณะทนแบกรับภาระไม่ไหวจึงล้มเลิกไปแต่ในปัจจุบันยังทำในรูปแบบ วีซีดี แจกอยู่ ส่วนเรื่องประโยชน์จากการขายพระนั้น ถึง ณ.ปัจจุบันก็สามารถพูดได้ว่าไม่มี พระชุดนี้ของผู้เขียนตั้งแต่ที่ได้เริ่มเก็บสะสมมาตลอดเวลาหลายปีจะมีแบ่งปันให้ก็แต่ในหมู่เพื่อนร่วมงานเท่านั้น บุคลภายนอกที่ได้ไป จนถึงปัจจุบันนี้มีเพียง 5 ท่านเท่านั้น ที่ผู้เขียนเก็บพระชุดนี้ไว้ก็เพราะความศรัทธาในองค์หลวงพ่อและประวัติการสร้างที่ชัดเจนเนื่องจากผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่อยู่ในการรถไฟข้อมูลที่ได้รับจะไม่มีการบิดเบือนใดๆทั้งสิ้น คนมี่มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้เขียนจะทราบว่าอุปนิสัยของผู้เขียนนั้นจะเก็บมากกว่าออก รายได้ของผู้เขียนเมื่อพอมีเหลือจากการใช้จ่ายประจำเดือนแล้วผู้เขียนจะนำมาเก็บในรูปแบบพระเครื่องหรือพระบูชาทุกครั้ง โดยเฉพาะพระชุดเนื้อช๊าฟรถไฟนี้ ผู้เขียนมีความสนใจมากเป็นพิเศษตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนใช้เงินไปนับล้านบาทเพื่อเก็บสะสมพระชุดนี้ เงินจำนวนนี้หากผู้เขียนจะเก็บพระชุดของทางวัดแล้วผู้เขียนสามรถที่จะขอแบ่งปันจากผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะสามารถเก็บพระได้จำนวนมากมากพอสมควรเพราะผู้เขียนสามารถที่จะขอแบ่งได้ในราคาประมาณ หนึ่งส่วนสามของราคาทั่วๆไปเท่านั้นแต่ผู้เขียนจะไม่กระทำในสิ่งนี้เพาระจะเป็นการรบกวนผู้ใต้บังคับบัญชาเสียมากกว่า
ได้มีบุคคลบางท่านได้ติดต่อแนะนำมาในบางเรื่องและผู้เขียนได้พิจารณาดูแล้วเห็นว่าดี มีประโยชน์ สามารถที่จะทำได้ และผู้เขียนคาดว่าจะเริ่มทำได้ในปีหน้าคือการเอาพระเนื้อช๊าฟรถไฟบางส่วนของผู้เขียนนำออกประมูลเพื่อนำรายได้เข้าวัดในงานต้มยาแจกทานในเดือนมีนาคมของทุกปีผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้
ฉบับนี้ขอชี้แจงเพียงแค่นี้ก่อนหากมีโอกาส ในฉบับหน้าผู้เขียนคาดว่าจะนำเสนอในเรื่องรูปแบบ,พิมพ์ทรง ,ส่วนผสม,วิธีการสร้างหรือการจำแนกพิมพ์ ไว้พบกันใหม่ในฉบับหน้านะครับ


จรัญ ปั้นโฉม
ประธาน ชมรมผู้นิยมสะสมพระเนื้อช๊าฟฯ (ชรฟ.)

ข้อเท็จจริง 3

พระหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟรถไฟได้มีการสร้างขึ้นโดยอดีตพนักงานของการรถไฟหลายกลุ่มเช่นกลุ่มคุณ ชนะ กลุ่มคุณ วินัย โดยเฉพาะคุณ วินัย จะมีบทบาทมากในพระชุดนี้ เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ได้นำพระที่สร้างเสร็จแล้วไปให้หลวงพ่ออธิฐานจิตบ่อยครั้งที่สุดเพราะท่านเป็น ศิษย์ที่ใกล้ชิดและหลวงพ่อไว้วางใจมากท่านหนึ่ง และอีกท่านหนึ่งที่ได้สร้างคือหลวงพ่อผิว ซึ่งท่านได้ร่วมกับอดีตพนักงานรถไฟสร้างพระพิมพ์ก้นระฆัง มีตัว ผ. ที่สังฆาฏิ ซึ่งเป็นพิมพ์ที่บุคลภายนอกรู้จักและยอมรับมากกว่าทุกพิมพ์ แต่นอกจากพระพิมพ์นี้แล้วยังมีพระอีกหลายพิมพ์ที่บุคลภายนอกไม่รู้จักเพราะพระเหล่านั้นโดยมากแล้วจะมีอยู่แต่ในความครอบครองของคนรถไฟเท่านั้น ในครั้งนี้ผู้เขียนจะขอแนะนำพระหลวงพ่อพรหมพิมพ์ต่างๆโดยเฉพาะเนื้อ ช๊าฟรถไฟที่ได้มีการจัดสร้างกันขึ้นมา โดยจะแนะนำเรื่องพิมพ์,การแยกแม่พิมพ์,จำนวนและกลุ่มผู้จัดสร้าง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ทางกลุ่มผู้เขียนได้เสาะหาข้อมูลจนชัดเจนสามารถมีพยานบุคคลและพยานวัตถุที่จะยืนยันได้ ก่อนที่จะนำมาเขียนให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษากันบางส่วนที่ข้อมูลไม่ชัดเจนทางผู้เขียนก็ได้ชี้แจงลงไว้ในนี้แล้วและหากผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลเกี่ยวกับพระชุดนี้ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านท่านอื่นๆ ก็แนะนำมาทางผู้เขียนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขที่ 1. 08 &#82111741 0035 หมายเลขที่ 2. 08-5912 8115 จักเป็นพระคุณยิ่ง
หมายเหตุ.
ครั้งต่อไปจะไม่ขอกล่าวรายนามผู้ที่ร่วมจัดสร้างจะใช้แต่เพียงว่ากลุ่มอดีตพนักงานการรถไฟเท่านั้นเพราะก่อนหน้านี้ได้กล่าวมากพอควรไว้แล้ว


ให้ทราบกันโดยทั่วไปว่าพระหลวงพ่อพรหมเนื้อช๊าฟรถไฟนั้นมีสร้างกันหลายกลุ่ม,หลายพิมพ์ ( บางพิมพ์มีหลายแม่พิมพ์ )และหลายครั้งนับตั้งแต่ปี พ ศ.2513 ถึง ปลายเดือน พฤศจิกายน ปี พ ศ.2516มีรายละเอียดพอที่จะสรุปได้ดังนี้

จรัญ ปั้นโฉม

ประธาน ชมรมผู้นิยมสะสมพระเนื้อช๊าฟฯ (ชรฟ.)

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1