(D)
ย้อนหลังไปเมื่อกว่าแปดสิบปีก่อนโน้น ดินแดนแห่งที่ราบสูงนครราชสีมา หรือที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกติดปากมาจนบัดนี้ว่า "เมืองโคราช" เด็กชายนาคฯ ได้ถือปฏิสนธิ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2427 เวลา 19.10 น. เศษ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 ปีวอก จุลศักราช 1246 ท่านมาจากตระกูลและพื้นเพเดิมของผู้มีอันจะกินและมีบรรดาศักดิ์สูงของตระกูล "มะเริงสิทธิ" ปู่ทวดของท่านมียศบรรดาศักดิ์เป็นที่ "หลวงเริง" และปู่ของท่านแท้ ๆ คือ ขุนประสิทธิ์ (อยู่) นายอากรเมืองโคราชในยุคนั้น และย่าของท่านชื่อ ท่านฉิม บิดาของท่านคือ นายป้อม มะเริงสิทธิ มารดาชื่อ นางสวน บุตรพระวิเศษ (ทองศุข) และท่านอิ่ม ท่านเป็นบุตรคนที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ชาย 2 คน หญิง 2 คน ดังนี้
1.พระเทพสิทธินายก (นาค โสภณเถระ)
2.พระภิกษุโชติ (ถึงแก่มรณภาพแล้ว)
3.นางทุเรียน ประภาวดี
4.นางอุดร จุลรัษเฐียร
ใครก็รู้ ..... เมืองโคราชสมัยกว่าแปดสิบปีนั้น ห่างไกลจากกรุงเทพพระมหานครประหนึ่งคนละฟากฟ้า เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันนี้ การไปมายังไม่มีทางรถไฟและถนนหนทาง หลวงปู่นาคเล่าว่า เมืองโคราชสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กนั้น ห่างตัวเมืองออกไปเล็กน้อยล้วนแต่เป็นป่าเปลี่ยว มีแต่สัตว์ป่าที่ดุร้ายนานาชนิด ทางเดินที่จะผ่านเข้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพพระมหานครเป็นป่าดงพงพีทุระกันดารอย่างแสนสาหัสจนเรียกกันว่า "ดงพญาเย็น - ดงพญาไฟ" ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยมาพบจุดจบเมื่อผ่านดงมหาภัยแห่งนี้ ปัจจุบันคนที่เกิดในยุคนี้ อาจไม่รู้จักหรือลืมชื่อเสียแล้ว
เด็กชาย นาค มะเริงสิทธิ เหมือนกับลูกชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายที่เจริญวัยขึ้นมาอยากหาความรู้ใส่ตัวเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล แต่โคราชยังไม่มีโรงเรียนเกิดขึ้น มีแต่วัดวาอารามเท่านั้น พ่อแม่จึงส่งเด็กชายนาค ฯ มาฝากไว้กับพระครูสังฆวิจารย์ (มี) ซึ่งเป็นลุงของท่านที่วัดบึงใกล้ประตูชุมพลเดี๋ยวนี้ ซึ่งท่านได้สั่งสอนวิชาให้ตามสมควร ท่านจึงได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่นั้นมา อาศัยที่ท่านเป็นคนฉลาดเล่าเรียนเก่ง พระอาจารย์ที่เป็นครูสั่งสอนภาษาบาลีและภาษาไทย จึงแนะแนวทางให้ท่านเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในสำนักดี ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
สามเณรนาค อายุ 13 ปี หาโอกาสเดินทางอยู่เป็นเวลาแรมเดือน จึงสบโอกาสเมื่อมีกองคาราวานวัวต่างและเกวียนราว 30 กว่าคน จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ท่านจึงขอร่วมเดินทางมากับเขา ด้วยสมความตั้งใจ ท่านเล่าว่าตอนที่เดินทางมาหลายสิบวันนั้น ใกล้จะถึงเมืองสระบุรี ท่านได้เห็นกุลี (กรรมกร) เป็นจำนวนมากกำลังทำงานกรุยทางสร้างทางรถไฟอยู่แล้ว เมื่อถึงสระบุรีแล้วท่านรู้สึกไม่ค่อยสบาย จึงขอแยกจากกองคาราวาน เข้าขอฝากตัวเป็นศิษย์กับพระภิกษุรูปหนึ่งในวัด "ทองพุ่มพวง" อำเภอเสาไห้ ซึ่งหลวงนิเทศ นายอำเภอเสาไห้ ผู้เป็นน้าช่วยอุปการะ ท่านอาศัยอยู่ในวัดนี้หลายเดือนและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปด้วย แต่ท่านก็มิได้ละความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาพระธรรมวินัยในกรุงเทพฯ ให้ได้ในกาลข้างหน้า
ท่านกล่าวว่า ต่อมาท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สมความตั้งใจ มีญาติในกรุงเทพฯ แนะนำพาท่านซึ่งยังเป็นเณรไปฝากไว้กับท่านอาจารย์เลื่อม ซึ่งเป็นพระลูกวัดของวัดระฆังโฆษิตาราม มีกุฏิอยู่หน้าวัดใกล้ปากคลอง และปัจจุบันนี้ได้สร้างเป็นโรงเรียนสตรีวัดระฆัง
พระอาจารย์เลื่อมเป็นพระหลวงตาที่ชราภาพมาก และเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา มีลูกศิษย์ลูกหามาก โดยที่ท่านเป็นพระสอนทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเฝ้าสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้ด้วยความรักความเอ็นดู เพราะสามเณรนาคเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายสมองปราดเปรื่อง
ตอนนั้น .... ท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม คือ พระธรรมโตรโลกาจารย์ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) สมเด็จองค์นี้เป็นศิษย์ของสมเด็จองค์เก่า คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) นั่นเอง พระธรรมไตรโลกาจารย์มองเห็นหน่วยก้านและบุคลิกลักษณะของสามเณรแล้ว พิจารณาเห็นว่าจะดีเด่นเป็นเอกในวันข้างหน้า ท่านจึงได้รับอุปการะและสั่งสอนในสำนักของท่านทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี
ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองสมัยนั้น เพิ่งจะเริ่มขึ้นชั่วคนละฟากข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา นับได้ว่าวัดระฆังฯ อยู่ใกล้กำแพงเมืองหลวงหรือเรียกกันว่าใกล้ปืนเที่ยงที่สุดวัดหนึ่ง วัดระฆังฯ มีอาณาเขตกว้างใกญ่ไพศาล รายล้อมไปด้วยสวนและนาอยู่ใกล้ ๆ เป็นดินแดนแห่งความสงบวิเวกวังเวง เหมาะสมที่จะบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ของภิกษุสงฆ์ ท่านเล่าว่า ท่านอาจารย์นวล ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี เดิมเคยจำพรรษาอยู่สำนักวัดมหาธาตุ ได้ข้ามฟากมาสอนภาษาบาลีอยู่ในสำนักวัดระฆังฯ และเป็นอาจารย์ของท่านด้วย
เมื่อสามเณรนาคฯ มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าแปลเปรียญธรรม ประโยค 3 เป็นครั้งแรกต่อหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 5 และกรรมการสงฆ์ล้วนแต่เป็นพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ผู้ทรงสมณศักดิ์หลายรูป ปรากฏว่าสามเณรนาคฯ แปลได้เป็นเปรียญธรรมประโยค 3 ได้รับพระราชทานเครื่องไทยทานอัฎฐบริขารจากพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ด้วยองค์หนึ่ง
สามเณรนาคฯ ได้เป็นมหาสามประโยคแล้วสมความตั้งใจ ท่านมิได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้ คงพยายามศึกษาเล่าเรียนต่อไปจนเมื่ออายุครบ 21 ปี สามเณรนาคฯ เข้าแปลหน้าพระที่นั่งอีกครั้งหนึ่งและได้เปรียญธรรมประโยค 4 นับว่าสามเณรนาคฯ เป็นผู้คงแก่เรียนซึ่งหาได้ยากในยุคนั้น ซึ่งแต่ละครั้งที่เข้าสอบจะมีพระภิกษุและสามเณรสอบเปรียญได้เพียงไม่กี่รูป
ระยะนั้นท่านเจ้าอาวาส พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงทรงอุปการะบวชสามเณรนาค ผู้มีอายุครบบวชแล้วเป็นพระภิกษุสงฆ์ต่อไป โดยได้ทรงนิมนต์พระเถระผู้ทรงสมณศักดิ์สูงมาเป็นพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ ต่อหน้าองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ดังต่อไปนี้
************************************************************
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) อธิบดีสงฆ์ วัดอรุณราชวราราม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระวันรัต (ดิษ) อธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระธรรมโกษาจารย์ (แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ทรงเป็นผู้บอกอนุสาสน์
*************************************************************
พระมหานาค ป.ธ. 4 ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกชื่อท่านสั้น ๆ ว่า "มหานาค" และรับฉายาจากองค์พระอุปัชฌาย์ว่า "โสภโณภิกขุ" ได้เข้าแปลเปรียญธรรมได้ประโยค 5 ภายหลังบวชเป็นพระแล้วใหม่ ๆ ต่อจากนั้นท่านมหานาคไม่ได้เข้าแปลเพื่อสอบเปรียญธรรมเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งในขณะนั้นมีการศึกษาเปรียญธรรมถึงประโยค 6 เนื่องด้วยท่านมีภาระยุ่งกับงานของวัดมากขึ้น โดยเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดในพระคุณเจ้าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)
- ต่อมาในปี พ.ศ.2464 ท่านโสภโณภิกขุ (มหานาค) ได้รับสัญญาบัตรพัดยศเป็นที่ พระธรรมกิติ
- พ.ศ.2467 - 2468 ภายหลังจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพแล้ว พระธรรมกิติได้รับหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามแทน และเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนมรณภาพ .. (1)
- พ.ศ.2475 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศที่ พระราชโมลี
- พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นที่ พระเทพสิทธินายก
ในสมัยที่ท่านกำลังศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมประโยค 4 - 5 ท่านได้ศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานกับท่านอาจารย์ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดพลับ (เจริญภาส) เพิ่มเติมอีกโดยได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดซึ่งต้องใช้เวลาเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียนอยู่ประมาณ 10 ปี ก็สามารถใช้เป็นมูลฐานกระทำชาญวิปัสสนาส่งกระแสจิตได้ ต่อมาได้เปิดสอนทางวิปัสสนากรรมฐานขึ้นในศาลาการเปรียญของวัดระฆังโฆษิตาราม เกี่ยวกับการสอนวิปัสสนานี้ได้เคยปรากฏว่า ครั้งหนึ่งผู้เข้าศึกษานั่งสมาธิจิตทางวิปัสสนา ได้นั่งทำจิตถอดวิญญาณไปดูนรกสวรรค์ และท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 2 วัน ก็ยังไม่คืนสติ คงนั่งสมาธิอยู่เช่นนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการฝึกสอนอยู่ ได้นั่งสมาธิส่งกระแสจิตไปติดตามวิญยาณของผู้นั่งสมาธิรายนี้ และไปพบในสุสานวัดดอน ตรอกจันทร์ ปรากกว่ากำลังเที่ยวเพลิดเพลินอยู่ ท่านจึงส่งกระแสจิตเตือนวิญญาณนั้นให้กลับคืนเข้าร่างเดิมเพราะล่วงมา 2 - 3 วันแล้ว หากล่าช้าไปจะคืนเข้าร่างเดิมไม่ได้ ร่างกายก็อาจจะเน่าเปื่อยไป วิญญาณของชายผู้นั้นจึงได้สติแล้วกลับคืนมาเข้าร่างเดิมที่นั่งสมาธิอยู่ในศาลาการเปรียญวัดระฆังโฆสิตาราม นอกจากนี้ได้เคยปรากฏว่าคุณโยมของท่านป่วยอยู่ทางจังหวัดนครราชสีมา โดยมิได้ส่งข่าวถึงท่าน แต่ท่านสามารถทราบได้และนำหยูกยาไปปฐมพยาบาลได้ถูก เพราะท่านใช้อำนาจกระแสสิตทางวิปัสสนา ดังนี้ การกำหนดจิตอันกระทำให้เกิดพลังจิตขึ้นได้จึงเป็นเหตุให้พระคุณเจ้าได้คิดสร้างพระสมเด็จขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2484 โดยอาศัยตำราของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ซึ่งขณะนั้นเป็นระยะเวลาที่ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทั้งนี้เพื่อจักได้แจกจ่ายให้ทหารได้ติดตัวไปในสมรภูมิ เป็นกำลังใจและบำรุงขวัญทหารอีกส่วนหนึ่งด้วย
พระเทพสิทธินายก (นาค โสภโณ) ในตอนที่ท่านมีอายุใกล้ 70 ใคร ๆ ก็เรียกท่านว่า "หลวงปู่นาค" แม้ว่าท่านจะมีร่างกายสมบูรณ์ชราภาพมากขึ้นตามวัยและสังขาร ท่านก็มิได้ละเลยทางศาสนกิจ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของกุลบุตรทุกชั้นวรรณะมากมาย ท่านเป็นผู้สร้างกรรมดีมีเมตตาอันเป็นยอดปรารถนาต่อศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปไว้มากมาย มิได้สะสมทรัพย์สินอันใดไว้ จนถึงกาลมรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2514 เวลา 4.45 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ท่านก็จากไปอย่างสงบปราศจากความกระวนกระวายด้วยโรคชรา ขอวิญญาณของท่านจงบรรลุถึงฟากฟ้าสรวงสวรรค์ คงเหลือไว้แต่คุณงามความดีอันสูงส่ง สุดที่จะนำมาเขียนไว้ในที่นี้ รวมศิริอายุของท่านได้ 87 ปี อยู่ในสมณเพศถึง 75 ปี และเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว 47 พรรษา นับว่าท่านเป็นผู้ที่อยู่ในสมณเพศและเป็นเจ้าอาวาสที่นานที่สุดรูปหนึ่ง
คณะศิษยานุศิษย์ผู้บันทึกประวัติของท่าน "หลวงปู่นาค" ขอกราบนมัสการแทบเท้าของหลวงปู่นาค หากข้อความตอนหนึ่งตอนใดผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องโปรดเมตตาให้อภัยด้วยเถิด ...... คณะศิษยานุศิษย์
คัดลอกบทความมาจาก : หนังสือประวัติพระเทพสิทธินายก วัดระฆังโฆษิตาราม และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพสิทธินายก (นาค โสภณเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี 15 มิถุนายน 2514 จำนวนพิมพ์ 2000 เล่ม โดยเจ้าคุณเที่ยง คณะ๕ |