(D)
เรื่องราวข้อพิพาท พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ "เซียนบางกลุ่มยอมรับว่าแท้ แต่อีกหนึ่งกลุ่มบอกว่าเก๊" เลยกลายเป็นพระมีปัญหา ถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก และ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี เคยเปิดให้บูชาหาเงินสร้างกุศลมาแล้ว องค์ละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา แต่เซียนพระยังไม่ยอมรับอยู่ดี
ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงครั้งนั้น มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญหลายด้านร่วมทำการพิสูจน์ โดยมีบทสรุปว่า พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก เป็นพระเก่าที่มีอายุหลายร้อยปี และมีศิลปะทวารวดีชัดแจ้ง ไม่ใช่พระสร้างเลียนแบบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กเยาวชนและสตรี (ปดส.) หรือที่รู้จักกันในนาม "ผู้การแจ๊ด" เป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และเปิดแถลงข่าว "เปิดตำนาน...พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก" เพื่อเผยแพร่เรื่องราวความเป็นมาและข้อเท็จจริงของพระกรุดังกล่าว
ผู้การแจ๊ด ให้เหตุผลถึงความพยายามพิสูจน์ความจริงพระวัดถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก ว่า การสืบสวนสอบสวนในปัจจุบัน อาศัยการตรวจทางวิทยาศาสตร์อันทันสมัย ช่วยยืนยันวัตถุพยานต่างๆ ของคดี ซึ่งในชั้นศาลจะรับฟังผลการตรวจวัตถุพยานมากกว่าพยานบุคคล เพราะพยานบุคคลมีโอกาสที่จะกลับคำพูดได้
พระวัดถ้ำเสือกรุดวัดเขาดีสลักก็เช่นกัน ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้จัดเจนเรื่องพระเครื่องบางคน กลับคิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง อิจฉาริษยาเมื่อตนเองไม่มีพระแต่ผู้อื่นมี เลยปล่อยข่าวในทางเสียหาย ดังนั้นพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก หรือที่เรียกว่ากรุใหม่ จึงถูกโจมตีว่าเป็นพระเก๊ นำพาไปสู่การขาดความเชื่อถือของผู้สนใจบูชา
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๘.๐๐ น. ที่ห้องอาหารญี่ปุ่น โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ผู้การแจ๊ดเชิญผู้มีชื่อเสียงในแวดวงพระเครื่องไปคุยนอกรอบก่อนถึงวันแถลงข่าวจริง โดยในวันนั้น นายพิศาล เตชะวิภาค หรือ "ต้อย เมืองนนท์" อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย พูดขึ้นอย่างเต็มปากต่อหน้าทุกคนว่า
"ผมขอยืนยันว่า พระชุดนี้แท้แน่นอน ผมเคยซื้อมาพันกว่าองค์ แต่ก็ขายออกไปหมดให้คนในวงการพระเรานี่แหละ พระถ้ำเสือชุดนี้เนื้อก็เก่าพิมพ์ก็ถูกจะไม่แท้ได้อย่างไร ผมยังซื้อจาก เฮียอมร บางลีอาร์ต มาเป็นร้อยองค์จนหมด พระชุดนี้ถ้าไปอยู่ในมือท่านนายกพยัพ หรือ เฮียอมร หรือ เฮียอ้า เยอะๆ ป่านนี้ดังระเบิดไปแล้ว แต่นี่ดันไปอยู่กับคนที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ถึงได้เป็นอย่างนี้ แต่ผมยืนยันแท้แน่นอน"
ด้าน พ.จ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร และผู้ให้ความรู้ด้านพระเครื่องของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วเคยไปขุดคุ้ยหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่วัดเขาดีสลัก โดยคุยกับคนดังคือ เสี่ยเพ้ง อู่ทอง เจ้าของบริษัทศรีพูนทรัพย์ อดีตประธานชมรมพระเครื่องเมืองอู่ทอง และ เฮียไช อู่ทอง ทั้งสองคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
"เพราะผลประโยชน์ ถ้าบอกว่าแท้ก็กลัวว่าคนอื่นจะได้ผลประโยชน์ เพราะตัวเองไม่มีพระจะขาย คนที่มีพระไว้มากก็ใจไม่กว้าง น่าจะแจกจ่ายแบ่งปันคนโน้นคนนี้ไปเล่นบ้าง พระจะได้กระจายออกไป ผมเองก็ซื้อเก็บเอาไว้พอสมควร ใครมาหาก็แบ่งไปคนละองค์สององค์"
อย่างไรก็ตาม พ.จ.อ.โกวิท พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "บังเอิญพระกรุนี้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนที่เซียนพระเมืองสุพรรณไม่ชอบหน้า พระถึงไม่ดัง หากพระชุดนี้ไปอยู่ในมือเซียนพระดังๆ แห่งเมืองสุพรรณ ณ วันนี้พระชุดนี้คงดังระเบิดไปแล้ว แต่ไม่ดังก็เป็นผลดีสำหรับผู้เล่น เพราะจะได้เช่าหาพระดีในราคาที่ไม่แพง"
---------ล้อมกรอบ----------
เสียง-"..."-เซียน
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ให้ข้อมูลว่า ปัญหาเรื่องพระกรุใหม่พระกรุเก่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น การพบพระชนิดเดียวกันในหลายกรุนั้นถือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่นิยมสร้างพระแล้วนำไปบรรจุกรุต่างๆ เผื่อพระกรุใดกรุหนึ่งถูกทำลายไปก่อนก็ยังเหลือพระกรุอื่นๆ ไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลัง แต่ปรากฏว่ากรุต่างๆ แตกหรือพังออกมาไม่พร้อมกัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าพระที่ค้นพบก่อนย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่าพระที่ค้นพบหรือแตกกรุทีหลัง
"ปัญหาหนึ่งที่ทำให้พระกรุใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับของวงการพระคือ การทำพระใหม่และไปใส่กรุ หรือที่เรียกว่า "พระยัดกรุ" เพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นพระกรุของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากพระกรุ ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ กรุแตกจริงบ้างหรือทำให้แตกบ้าง ดังนั้นก่อนที่จะเช่าไม่ว่าจะเป็นพระกรุใดก็ตามต้องศึกษาให้ดีก่อน" อ.ราม กล่าว
ด้าน นายอนุศักดิ์ นารถกุลพัฒน์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย หรือที่รู้จักกันในนาม "อ้า สุพรรณ" บอกว่า พระถ้ำเสือกรุเก่าเล่นกันมาแต่ดั้งเดิมประมาณ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับกันในระยะเวลาสั้นๆ กว่าพระกรุใดกรุหนึ่งจะเป็นที่ยอมรับต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบๆ ปี พระบางกรุแม้จะเก่าจริงแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเซียนไม่รู้จักก็มีอีกจำนวนมาก ที่สำคัญคือคนเล่นพระมีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบพระกรุใหม่ บางคนชอบพระกรุเก่า ในขณะที่บางคนชอบพระที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ ซึ่งเป็นปกติไม่สามารถบังคับได้
กรณีพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก ที่กำลังเป็นข่าวในวงการพระเครื่องอยู่ในขณะนี้นั้น เพื่อเป็นทางออกสำหรับผู้เล่นพระกรุดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประกวดพระเครื่อง สมาคมจึงหารือเพื่อหาข้อยุติเรื่องดังกล่าว โดยแยกให้เป็นอีกชุดหนึ่งต่างหาก คือ "พระถ้ำเสือกรุเขาวัดดีสลัก ใต้รอยพระบาท"
ในขณะที่ นายไพโรจน์ ศิวะพรชัย ประธานชมรมพระเครื่องเมืองอู่ทอง บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วจะเล่นพระถ้ำเสือกรุเก่าอย่างเดียว หากใครนำกรุใหม่มาให้เช่าก็จะไม่เช่า ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครนำพระถ้ำเสือกรุใหม่มาให้เช่า เพราะรู้ว่าเล่นกรุเก่าอย่างเดียว ส่วนใครจะเล่นพระถ้ำเสือกรุใหม่นั้นเป็นความชอบส่วนบุคคล บางคนชอบพระยุคเก่า บางคนชอบยุคใหม่ห้ามกันไม่ได้ ส่วนพระกรุใหม่จะเป็นที่ยอมรับของวงการพระหรือไม่นั้น ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
|