(D)
กริ่งหลังปิ หน้าทิเบต มีจารปู่ดู่ ปี 2506
กริ่งหลังปิ วัดสุทัศน์ ปี2506 ตอกโค้ต ฐานจาร องค์นี้ควั่นก้นกริ่งไม่ดัง แต่พระเดิมสวย หน้าตา ปาก จมูก ครบถ้วนคับ
หากย้อนไปมองพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ที่สร้างขึ้นในเมืองไทย จะพบว่า พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ สายสำนักวัดสุทัศนเทพวราราม มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง นับเนื่องแต่องค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ที่ทรงสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ขึ้นมาแล้ว วัดสุทัศนเทพวรารามยังมีลูกศิษย์ที่สืบสานการสร้างต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็น พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) ที่นักสะสมพระเครื่องคงคุ้นอยู่กับชื่อสมณศักดิ์ท่านที่ "พระศรีสัจจญาณมุนี" และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ)
พระกริ่งวัดสุทัศนเทพวรารามที่สืบสานตำราการสร้างต่อมาอีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจมิน้อยทีเดียว เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์ ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 เหตุที่ดำเนินการสร้างพระกริ่งนั้น ด้วยในระหว่างนั้นสภาพของทางวัดสุทัศนเทพวรารามชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ประกอบกับสภาพวัดที่ใหญ่โต หากบูรณะก็ต้องใช้เงินมิใช่น้อย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) จึงได้จัดสร้างพระกริ่งตามแบบองค์พระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ขึ้น
พระกริ่งหลังปิ มีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายทรงถือวชิระ ทรงคล้ายหัวปลี มีขนาดความสูง 3.2 เซนติเมตร ฐานกว้าง 1.9 เซนติเมตร ฐานบัวมี 7 คู่ ด้านหลังมีโค้ตตัว "ปิ" มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระกริ่งจาตุรงค์มณีของพระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) ซึ่งคงถอดพิมพ์ดังกล่าวมา มีจำนวนสร้างมากถึง 10,000 องค์ ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษกภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน มีพระเกจิอาจารย์ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก กระแสเนื้อเดิมเป็นสีจำปาออกนาก เมื่อกลับดำจะเป็นประกายแวววาวแบบปีกแมลงทับ มีผิวไฟติดอยู่ตามซอกประปราย อย่างไรก็ตาม โค้ตตัว "ปิ" อาจไม่ได้ตอกตรงฐานหลัง แต่จะมีการตอกตรงก้นฐานที่เว้าเป็นแอ่งกระทะก็มี และรอยจารที่ฐานชั้นล่างเกือบจะทุกองค์ด้วย จารดังกล่าวเป็นจารยันต์กอหญ้า โดยหลวงปู่ดู่ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระกริ่งหลังปิบางส่วนที่ยังคงเหลือได้เก็บไว้ในพระอุโบสถ บางส่วนที่ยังไม่ได้ตัดก้านชนวน ก็เก็บไว้ทั้งก้าน ต่อเมื่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ.2526 ทางมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ได้รับอนุญาตจากคณะสงฆ์ให้นำพระกริ่งหลังปิ ออกจากพระอุโบสถมาให้ประชาชนเช่าบูชาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของพระกริ่งที่ยังไม่ได้ตัดจากก้าน ทางมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ได้ตัดแต่งแล้วตอกโค้ตตัวปิ ที่ทำขึ้นใหม่มาตอก แล้วนำไปให้พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง) วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม อธิษฐานจิตปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวสำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 3 ปีชวด พ.ศ.2443 ณ บ้านตำบลบ้านหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ นายเขียว วิโรทัย มารดาชื่อ นางประกอบ วิโรทัย เมื่ออายุได้ 13 ปี บิดาได้นำไปฝากเรียนอักษรสมัยที่วัดใกล้บ้าน จนอ่านออกเขียนอักษรไทยและขอมได้ ต่อมาจึงได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนประชาบาล จนจบชั้นประถมปีที่ 4 จนมีอายุได้ 18 ปี จึงได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โดยมาเป็นศิษย์พระอาจารย์ทอง วัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่อปี พ.ศ.2460 เมื่ออายุได้ 19 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ครั้งยังเป็นที่ "พระพรหมมุนี" เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2461 ครั้นถึงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2464 จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ครั้งยังเป็นที่ "พระพรหมมุนี" เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุบฺผโก) และ พระราชเวที (นาค สุมนนาโค) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระคู่กรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า จนฺทสิริ และได้เจริญในสมณศักดิ์ตามลำดับ คือ เป็นพระครูจุลคณานุศาสน์ (พระครูปลัดซ้าย) ฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เมื่อปี พ.ศ.2482 เป็นพระครูมหาคณานุสิชฌน์ (พระครูปลัดขวา) ฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เมื่อปี พ.ศ.2483 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระศรีสมโพธิ์" เมื่อปี พ.ศ.2489 เป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชในราชทินนามเดิม เมื่อปี พ.ศ.2490 เป็นพระราชาคณะเสมอชั้นเทพในราชทินนามเดิม เมื่อ พ.ศ.2498 และเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมสุทธาจารย์" เมื่อ พ.ศ.2502 และโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ "พระวิสุทธิวงศาจารย์" เมื่อ พ.ศ.2511 อันเป็นตำแหน่งและนามสมณศักดิ์ที่ตั้งขึ้นใหม่และโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520
|