ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : +++พระกริ่งพระพุทธนวราชบพิตรและพระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร รุ่นแรก+++



(D)
พระพุทธนวราชบพิตร

พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริสร้างขึ้น เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์ กับพสกนิกรของพระองค์

พระพุทธนวราชบพิตรมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูป ภ.ป.ร.ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ต่างกันตรงที่พระพุทธรูป ภ.ป.ร. เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร แต่พระพุทธวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย กล่าวคือ พระหัตถ์ขวา แทนที่จะพาดหงายบนพระเพลา กลับเป็นพาดคว่ำบนพระเพลา ดังพระพุทธรูปปางมารวิชัยโดยทั่วไป

นอกจากนี้ มีส่วนฐานที่มีความแตกต่างกันมาก โดยพระพุทธรูปนวราชบพิตรประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย (บัวสองชั้น) แต่บัวออกจะกลีบใหญ่กว่าฐานพระพุทธรูป ภ.ป.ร. และมิได้มีฐานเท้าสิงห์รองรับ ปราศจากผ้าทิพย์ประดับที่ฐานดังเช่นพระพุทธรูป ภ.ป.ร.

ประการสำคัญก็คือ พระพุทธนวราชบพิตรจะต้องมี “พระสมเด็จจิตรลดา” ประดับไว้ที่ฐานบัวหงายตรงกึ่งกลางกลีบยัวที่อยู่ตรงกลาง ๑ องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ได้มาจากปูชนียสถานสำคัญทั่วประเทศ ผสมด้วยผงส่วนพระองค์ เฉพาะอย่างยิ่งเส้นพระเจ้า

ทั้งนี้ ก็ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ ให้พระพุทธนวราชบพิตรเป็นที่สถิต ศูนย์รวมของบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่ได้มาจากทุกจังหวัดตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เป็นจุดรวมของชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

ผู้ได้บูชาสักการะพระพุทธนวราชบพิตรองค์เดียว ก็เท่ากับได้ท่องเที่ยวไปนมัสการปูชนียสถานมาถ้วนทั่วทุกแห่งในเมืองไทย

พระพุทธนวราชบพิตรมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๓ ซม. (๙ นิ้ว) สูง ๔๐ ซม. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เข้าไปปั้นหุ่นถวายถึงในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้ทรงตรวจตากำกับการปั้นหุ่น พุทธลักษณะของพระปฏิมาอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดให้หล่อขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ พร้อมกับได้พระราชทานพระนามว่า “พระพุทธนวราชบพิตร”



พระพุทธนวราชบพิตรเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดขอบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพัน ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดตลอดทั่วพระราชอาณาจักร

พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ในรัชกาลปัจจุบัน อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมีมาในบ้านเมืองของเรามาก่อน นับเป็นอนุสรณ์สำคัญยิ่งเนื่องในพระองค์ ที่ทรงมีพระราชปรารถนาดีต่อพสกนิกรของพระองค์ทั่วหน้าอีกทั้งยังเป็นการยกย่องเทิดทูนพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างพระพุทธปฏิมา อันเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ปูชนียวัตถุสูงสุดแทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธเราให้ความเคารพกันอย่างสูงสุด เป็นประธานในพิธีกรรมทั้งปวง ให้เป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป ตราบชั่วกาลนาน

ระเบียบปฏิบัติ ด้วยเหตุที่พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำคัญยิ่ง เป็นมิ่งขวัญของแต่ละจังหวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ ดังได้กล่าวมาแล้ว ทางสำนักพระราชวงจึงได้วางระเบียบปฏิบัติ เกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้หลายประการ อาทิ เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อทางจังหวัดจัดงานพิธีใดๆ ก็ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้เป็นประธานในพิธีนั้นๆ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานในพระราชพิธี หรือพิธีของทางจังหวัด ก็ให้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระราชพิธีหรือในพิธีนั้นๆ ทุกครั้ง

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมยังจังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชาในพลับพลา หรือในที่ประทับแรมตลอดเวลาที่ประทับอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางจังหวัด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีบทสวดพิเศษ ชื่อว่า “ชยมังคลคาถา” สำหรับให้พระสงฆ์สวด ในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำจังหวัด ไว้โดยเฉพาะอีกด้วย

อนึ่ง กระทรวงมหาไทยยังได้ออกระเบียบไว้ เมื่อปี ๒๕๑๐ ชื่อว่า “แนวพิธีการพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร” สำหรับให้แต่ละจังหวัด ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เมื่อได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรไว้อีกโสดหนึ่งด้วย

จังหวัดแรกที่ได้รับพระราชทาน

จังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ก็คือจังหวัดหนองคาย ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ในโอกาสนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย มีความสำคัญที่ขออัญเชิญมาเฉพาะบางตอน ดังนี้

“ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ฐานบัวหงายข้าพเจ้าได้บรรจุพระพิมพ์องค์หนึ่ง ซึ่งทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ อันได้มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร... ฯลฯ...”

“...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง”

“ขออนุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป”

พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปสำคัญยิ่งแห่งยุค ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่บรรดาชาวพุทธในราชอาณาจักรไทย สืบไปชั่วกาล


ภาพและข้อมูลจาก
สารานุกรมพระ ( http://www.mac.in.th/~pra/sara_05_0004.html)
ข้อมูลจาก
ลานธรรมเสวนา ( http://larndham.net/index.php?showtopic=14359&st=6

โดยคุณ คุณพระ (28)  [ศ. 27 ต.ค. 2549 - 10:49 น.]



โดยคุณ คุณพระ (28)  [ศ. 27 ต.ค. 2549 - 10:54 น.] #57494 (1/3)


(D)


กริ่งพระพุทธนวราชบพิตร พระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร
พระกริ่งไพรีพินาศ
เฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เนื่องในพิธี กาญจนาภิเษก และการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จัดสร้างพระกริ่งพระพุทธนวราชบพิตร พระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร พระกริ่งไพรีพินาศ และเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานที่ฐานบัวขององค์พระสำหรับการตอบแทนผู้มีจิตรศรัทธาบริจากสมทบโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่สูงสุดที่ พุทธศาสนิกชนพสกนิกรผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ จะได้มีโอกาสมีพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทรงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลของพระองค์และพระราชทานสำหรับประจำจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสมีไว้เป็นที่สัการะบูชาเป็นสมบัติส่วนตนได้
เนื่องในปีมหามงคลวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50ปีนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดสร้างสำหรับพุทธศาสนิกชนพสกนิกรผู้มีจิตรศรัทธามีไว้เป็นที่สัการะบูชาเป็นสมบัติส่วนตนได้ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐยิ่ง

รายละเอียดชนิดและจำนวนในการจัดสร้างครับ
พระกริ่งพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดสูง 3.2 ซ.ม.
1.ชุดพิเศษ เนื้อทองคำ เนื้อนาค เนื้อสามกษัตริย์ เนื้อเงิน เนื้อทอง 93 (1 ชุด 5 องค์) สร้าง 599 ชุด
2.เนื้อทองคำ เนื้อสามกษัตริย์ เนื้อเงิน (1 ชุด 3 องค์) สร้าง 2539 ชุด
3.เนื้อสามกษัตริย์ สร้าง 9500 องค์
4.เนื้อเงิน สร้าง 9500 องค์
พระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร ขนาดสูง 1.9 ซ.ม.
1.เนื้อทองคำ เนื้อสามกษัตริย์ เนื้อเงิน (1 ชุด 3 องค์) สร้าง 2539 ชุด
2. เนื้อสามกษัตริย์ สร้าง 9500 องค์
3. เนื้อเนื้อเงิน สร้าง 9500 องค์
พระไพรีพินาศ ขนาดสูง 3.2 ซ.ม.
1.เนื้อทองคำ เนื้อนาค เนื้อสามกษัตริย์ เนื้อเงิน เนื้อทอง 93 (1 ชุด 5 องค์) สร้าง 99 ชุด
2.เนื้อสามกษัตริย์ สร้าง 539 องค์


เอกสารอ้างอิง
บางส่วนจากเอกสารการสร้างพระกริ่งพระพุทธนวราชบพิตร พระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร พระกริ่งไพรีพินาศ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพิธี กาญจนาภิเษก และการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

โดยคุณ คุณพระ (28)  [ศ. 27 ต.ค. 2549 - 10:55 น.] #57497 (2/3)


(D)


เนื้อทองคำ และ เนื้อสามกษัตริย์ ครับ

โดยคุณ คุณพระ (28)  [ศ. 27 ต.ค. 2549 - 10:57 น.] #57498 (3/3)


(D)


เอกสารและรายละเอียดการสร้าง ครับ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1