ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : "Hot" - ->ประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมืองครับ เชิญชมครับ ได้ความรู้มากครับ



(D)


ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช


1. คำและความหมาย มีคำอยู่สามคำที่คล้ายคลึงกัน แต่มี่ความหมายต่างกันชัดเจน คือ คำว่า หลักเมือง คำว่า ศาลหลักเมือง และคำว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ขอแสดงความเข้าใจและคิดเห็นดังนี้
1.หลักเมือง หมายถึงนิมิตหมาย ว่าได้สร้างเมือง ณ ที่ตรงนั้น เมื่อวัน เดือน ปี เวลา นาที เท่านั้นเท่านี้
2.ศาลหลักเมือง หมายถึงสิ่งก่อสร้าง เป็นอาคารสวยงาม กะทัดรัด มั่นคง เป็นเทวสถานที่สถิตของเจ้าพ่อตามข้อ 3
3.ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หมายถึงที่สิงสถิตของเทพเจ้าผู้มีมเหศักดิ์ ดูแลปกป้อง คุ้มครองบ้านเมืองและประชาชน

2. แบบอย่างการสร้างหลักเมือง แบบอย่างการสร้างหลักเมืองที่ชัดเจนที่สุด คือ การสร้างหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ณ วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น. เรื่องราวที่บันทึกไว้เป็นดังนี้
"หลังจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จกรีธาทัพเหยียบพระนคร ได้เพียงสองวัน วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2325 ก็มีพระบรมราชโองการสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันตก ได้ทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เวลา 06.54 นาฬิกา พระราชวังใหม่ให้ตั้งในที่ซึ่งพระยาราชเศรษฐีและพวกจีนอยู่เดิม โดยโปรดให้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง แล้วจึงได้ฐาปนาสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน ล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน พอเป็นที่ประทับ" จากข้อความข้างต้นมีเรื่องสำคัญอยู่ประการหนึ่งคือการยกเสาหลักเมือง ซึ่งถือว่าเป็นมิ่งขวัญสำคัญของเมือง แต่เสาหลักเมืองและดวงชาตาพระนคร ที่ปรากฏในปัจจุบัน มิใช่ของที่สถาปนาในรัชกาลที่ 1 เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงขึ้นใหม่ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ว่า

"แลที่ศาลเจ้าหลักเมือง ศาลพระกาฬ ศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และศาลเจ้าเจตคุปต์นั้น เดิมเป็นแต่หลังคาตังไม้มุงกระเบื้อง ทรงพระกรุณาโปรดให้ช่างก่อรอบ มียอดปรางค์อย่างศาลพระกาฬที่กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่าทั้งสี่ศาลและหอกลางนั้นเดิมสองชั้นสามชั้น ขัดแตะถือปูนทำเป็นยอดเกี้ยว โปรดให้ทำใหม่ก่อผนังถือปูน แปลงเป็นยอดมณฑป... แล้วทรงพระราชดำริถึงหลักเมืองชำรุด ทำขึ้นใหม่ แล้วจะบรรจุดวงชาตาเสียใหม่ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมเก้าค่ำ (จุลศักราช 1214) พระฤกษ์จะได้บรรจุดวงพระชาตาพระนครลงด้วยแผ่นทองคำหนัก 1 บาท แผ่กว้าง 5 นิ้ว จารึกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ กรมหมื่นบวรรังษี กับพระสงฆ์ราชาคณะอีกสามรูป รวมห้ารูป เมื่อเวลาจารึกได้เจริญพระปริตแล้วพระฤกษ์ 12 พระยาโหราธิบดีได้บรรจุที่หลักเมือง เสร็จแล้วก็มีการสมโภช...."
ลักษณะของเสาหลักเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้สร้างใหม่นั่นเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ สูง 108 นิ้ว กว้างผ่านศูนย์กลาง 30 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว ปลายเสาเป็นชัยพฤกษ์ สูง 108 นิ้ว กว้างผ่านศูนย์กลาง 30 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว ปลายเสาเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ บรรจุเทวรูปและดวงซาตากรุงเทพมหานครที่เรียกกันว่า "เจ้าพ่อหลักเมือง" ก็ควรได้แก่ เทวรูปองค์นี้ไม่ใช่ตัวเสาและเทวรูปองค์นี้ก็มีพิธีประกาศเทวดาอัญเชิญเทพเจ้าเข้าประดิษฐานในเทวรูปดังปรากฏในหนังสือประกาศพระราชพิธี เล่ม 1 มีความตอนหนึ่งว่า

"ข้าแต่ท้าวเทวราชสุรารักษ์ อันควรจะเสด็จสถิตนิวาสนานุรักษ์ บนยอดหลักสำหรับพระมหานคร ข้าพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญเทพยมหิทธิมเหศวรผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์จงเข้าสิงสู่สำนักในเทวรูปซึ่งประดิษฐานบนยอดบรมมหานครโตรณ อันบบรจุใส่สุพรรณบัตร จารึกดวงพระชันษากรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยาบรมราชธานีนี้ จงช่วยคุ้มครองป้องกันสรรพไพรีราชดัษกร อย่าให้มาบีฆาถึงพระมหานครราชธานี และบุรีรอบขอบเขตขัณฑ์สีมามณฑล ทั่วสกลราชอาณาประวัติ" เนื่องจากพระราชพิธีอัญเชิญเทวดาสิงสถิตในเทวรูปดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ "เจ้าพ่อหลักเมือง" มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของมหาชนมาก จากบันทึกรับสั่งสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ในหนังสือวงวรรณคดี ฉบับเมษายน 2491 ได้ทรงอธิบายประเพณีการตั้งหลักเมืองไว้ว่า

"หลักเมืองเป็นประเพณีพราหมณ์มีมาแต่อินเดียไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้นคงเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมเป็นตำบล ตำบลเป็นตำบล ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอนั้นเดิมเรียกว่าเมือง เมืองหลายๆ เมืองรวมกันเป็นเมืองใหญ่ เมืองใหญ่หลายๆ เมือง เป็นมหานคร คือ เมืองมหานคร"

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:23 น.]



โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:25 น.] #67619 (1/13)


(D)
"ตัวอย่างหลักเมืองที่มีเก่าที่สุดในสยามประเทศนี้ คือ หลักเมืองศรีเทพในแถบเพชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานบัดนื้ เรียกเป็นภาษาอินเดียในสันสกฤตว่า "ขีน" ในภาษามคธว่า "อินทขีน" หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตาปู หัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังมาก็คงทำด้วยหินบ้าง ไม้บ้าง หลักที่กรุงเทพมหานคร ทำด้วยไม้" "เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฟ้าจุฬาโลกข้ามฟากมาจากธนบุรี สิ่งแรกที่กระทำคือตั้งหลักเมือง คิดดูด้วยปัญญาก็เห็นเป็นการสมควร เป็นยุติได้แน่นอนว่าจะตั้งเมืองที่ตรงนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ความไม่แน่ก็คงมี อาจเปลี่ยนแปลงโยกย้ายได้ที่ปักไปแล้วคนเป็นใจด้วยทุกคน อนึ่ง ควรสังเกตไว้ด้วยว่า การตั้งเมืองใหญ่มีของสองอย่างกำกับกัน คือหลักเมืองและพระบรมธาตุฯ"
3.หลักเมืองนครศรีธรรมราช ความคิดเรื่องการสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช เป็นความเห็นแตกต่างของมหาชนชาวนครศรีธรรมราช เอง ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่ามีมาก่อนแล้วปรักหักพังไป เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองสำคัญ เป็นเมืองแม่ของเมืองแม่ของเมืองบริวาร 12 เมือง (เมืองสิบสองนักษัตร) จะต้องมีหลักเมืองเป็นศักดิ์ศรี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองสมบูรณ์แบบตามโบราณประเพณี ฝ่ายนี้เห็นว่าควรสร้างหลักเมือง และขยายความด้วยเหตุผลตามหลักโหราศาสตร์ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้สืบทอดประวัติมาเป็นเวลาอันยาวนาน เป็นมหานครทางภาคใต้และเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชนขาติไทย โดยมีพระบรมธาตุเป็นหลักชัยของชาวพุทธ เป็นศูนย์รวมศรัทธาศาสนาและความเชื่อต่างๆ แต่สำหรับการสร้างบ้านเมือง จะต้องมีเสาหลักเมืองอันเป็นหลักชัยของบ้านเมืองและอยู่ควบคู่กับศาสนสถาน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าชะตาเมืองของนครศรีธรรมราชได้สร้างขึ้น ณ วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ ศก 649 พ.ศ. 1830 ตรงกับสมัยกรุงสุโขทัยมีอำนาจ
ดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชที่กำหนดขึ้นในครั้งนั้นผู้ทรงวุฒิวิทยากรโหรได้ตรวจสอบพบว่า เข้าเกณฑ์ภัยร้ายหลายประการ ไม่เป็นผลดีแก่บ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมควรที่จะวางชะตาเมืองใหม่ เพื่อให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ตามประเพณีความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยการวางศิลาฤกษ์ดวงชะตาเมืองขึ้นใหม่ และสร้างหลักเมืองขึ้นเป็นเสาหลัก เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน อยู่ควบคู่กับองศ์พระบรมธาตุตลอดไป ถ้าหลักเมืองนครศรีธรรมราชเคยมีมาก่อน ฝ่ายนี้ก็มีเหตุผล มีร่องรองที่น่าจะเป็นสถานที่สร้างหลักเมืองอยู่เหมือนกัน ได้แก่ สถานที่ต่อไปนี้

1. หินหลัก ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ท่าชี" ทางด้านทิศเหนือขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ลักษณะเป็นเสาหินขนาดย่อม ปัก (ฝัง) ไว้ ปัจจุบันหายไป สถานที่นั้นเป็นทางสี่แยกเล็กๆ แคบๆ คนอายุ 50-60 ปีคงเคยเห็น และปัจจุบันก็ยังเรียกที่ตรงนั้นว่า "หินหลัก" เรื่องนี้สันนิษฐานกันว่า เป็นนิมิตหมายอะไรบางอย่างสำหรับเมืองนคร เพราะอยู่ในตัวเมืองชั้นใน และถ้าจะเป็นหลักเขตธรรมดาของที่ดินก็ไม่น่าจะใช่ เพราะลักษณะเสาหรือหลักเป็นหิน มิใช่ไม้หรือปูนที่ทำกันทั่วไป แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่เชื่อกันสนิทนัก เพราะลักษณะการฝัง ไม่มีฐานราก ไม่มีอาณาบริเวณและลวดลายประดิษฐ์แต่อย่างใด

2. ศาลพระเสื้อเมือง มีหลักฐานปรากฏเป็นเรื่องบอกเล่า ประกอบกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ บ่งบอกว่าเป็นสถานที่สำคัญของเมืองว่า "ศาลพระเสื้อเมือง" ตามคติโบราณ เมื่อใดที่มีการตั้งบ้านเมืองก็มักจะสร้างศาลไว้ให้เทพารักษ์ ผู้รักษาบ้านเมืองด้วย ศาลพระเสื่อเมืองของนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ด้านหลังของหอนาฬิกา สันนิษฐานว่าคงจะเป็นกลางเมืองในอดีต และคงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ศาลเดิมคงสร้างด้วยไม้ จึงไม่เหลือร่องรอย เพราะผุพังลงตามกาลเวลา หลักจากนั้นเข้าใจว่ามีการสร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง มีผู้บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว เป็นศาลไม้ หลังคามุงกระเบื้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภายในประดิษฐานเทพารักษ์ สององค์ ลักษณะคล้ายกับท้าวกุเวรราช ในพระวิหารพระม้า วัดพระมหาธาตุฯ ต่อมามีผู้บูรณะเทวรูปทั้งสององค์นี้แล้วลงรักปิดทอง ในระยะหลังปรากฏว่าศาลพระเสื้อเมืองเป็นที่นับถือของชาวจีนเป็นจำนวนมาก ศาลนี้จึงได้รับการตกแต่งจนดูคล้ายศาลเจ้าของจีน อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชไม่เคยมีหลักเมืองมาก่อน ถ้าเคยมีก็น่าจะมีหลักฐานร่องรอยให้เห็นเช่นเดียวกับกำแพงเมืองโบราณ

3. ฝ่ายนี้สรุปเหตุผลว่า เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองพระ หลักเมืองสำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์ ไม่มีหลักเมืองใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว มีคนทึกทักเอาว่า การสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันจะเป็นเหตุแห่งความแตกแยก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านั้นแหละคือ คุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนเมืองนคร พูดจากันก่อนและร่วมกันทำ เมื่อยุติตกลงกันว่า จะสร้างหลักเมือง (บูรณะ) ในบริเวณสนามหน้าเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่ 2 ไร่แล้ว จังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกับส่วนราชการองค์กรภาครัฐและเอกชน บริษัทห้างร้าน พ่อค้าประชาชน พ่อค้าประชาชน จึงร่วมกันดำเนินการตามลำดับ ดังนี้ -การออกแบบ แกะสลักหรือ ประติมากรรม -พิธีเบิกเนตรหลักเมือง -พิธีทรงเจิมหลักเมือง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน -การนำ (เชิญ) หลักเมืองมาประดิษฐาน ณ สนามหน้าเมือง พิธีกรรมต่าง ๆ ข้างต้นนี้ นอกจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอื่นร่วมประกอบพิธีด้วย เช่น พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร วางศิลาฤกษ์ศาลพระเสื้อเมือง นายอนันต์ อนันตกุล วางศิลาฤกษ์สร้างศาลสถิตจตุโลกเทพ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เททองหล่อยอดชัยเสาหลักเมือง เป็นที่น่าแปลกใจอยู่บ้างว่า ศาลหรือหลักเมืองนครศรีธรรมราชไม่ปรากฏร่องรอยมาก่อน แต่ใช้คำว่า "บูรณะ" และสถานที่สร้างเป็น "หน้าเมือง" ไม่ใช่ "ในเมือง" ซึ่งเป็นเรื่องน่าสังเกตเพียงเล็กน้อย มิใช่ประเด็นสำคัญ

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:28 น.] #67620 (2/13)


(D)


4.รายละเอียดการบูรณะหลักเมือง รายละเอียดการก่อสร้าง (บูรณะ) ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชมีดังนี้

4.1 สถานที่ก่อสร้าง สร้างในพื้นที่ 2 ไร่ ณ บริเวณสนามหน้าเมืองด้านทิศเหนือ (แนวเดียวกับหอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์)

4.2 ลักษณะงาน/กิจกรรม ระบุงานก่อสร้างในเชิงปริมาณและคุณภาพไว้ดังนี้ 1)เชิงปริมาณ ก่อสร้างตกแต่งศาลใหญ่ 1 หลัง และศาลบริวารประกอบ จำนวน 4 หลังดังนี้ ตกแต่งปูนปั้นรอบนอกของศาล ตกแต่งศาลชั้นที่ 3 ของตัวศาล "จตุรมุข" ตกแต่งศาลชั้นที่ 2 ของตัวศาล "จตุรมุข" ตกแต่งศาลชั้นที่ 1 ของตัวศาล "จตุรมุข" ตกแต่งระเบียงแก้ว หัวบันไดนาค 7 เศียร 8 ตัวเป็นบันได 4 ทิศ ตกแต่งอื่น ๆ เช่น ตัวอาคารศาลภายใน โคมไฟ ป้าย เป็นต้น ตกแต่งศาลเล็กบริวาร จำนวน 4 หลัง 2)เชิงคุณภาพ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของชาวนครศรีธรรมราชตลอดไป
4.3 งบประมาณการก่อสร้าง ได้เงินจากส่วนราชการ องค์กรการกุศล ประชาชน และแหล่งบริจาคอื่น ดังนี้ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชให้การสนับสนุนโครงการ 2,000,000 บาท 2.มูลนิธิ "เมืองหลวงห่วงเมืองใต้" ให้การสนันสนุนโครงการ 500,000 บาท 3.ประชาชนบริจาคให้เป็นกองทุนสมทบโครงการ 3,382,627 บาท 4.จัดจำหน่ายเสื้อยืดที่ระลึกการบูรณะศาลหลักเมือง 55,000 บาท 5.เทศบาทนครนครศรีธรรมราชให้การสนับสนุนโครงการ 849,018 บาท 6.สำนักงานป่าไม้จังหวัดจัดหาไม้และบานประตู มูลค่า 500,000 บาท 7.ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครแสงฟ้า(จำหน่ายรถจักรยานยนต์) บริจาค 500,000 บาท 8.ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 73,155 บาท

4.4 ผู้รับเหมาก่อสร้างและสัญญา ห้างหุ้นส่วนสามัญจำกัดศรีวิชัย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ตามสัญญาจ้างที่ 1/2541 ลงวันที่ 27 เมษายน 2541 กำหนดให้งานแล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2542 เงินค่าก่อสร้างศาลหลักเมืองตามปริมาณและคุณภาพงานข้างต้น จำนวน 6,859,800 บาท(หกล้านแปดห้าหมื่นเก้าพันแปดร้อยบาทถ้วน) ซึ่งถ้าจะก่อสร้างให้เต็มรูปรวมทั้งตัวศาลบริวารและรั้ว จะต้องใช้เงินประมาณ 14 ล้านบาท
ลำดับขั้นตอนการสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช



1.คณะอนุกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีนายเอนก สิทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีมติให้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ในคราวประชุมวันที่ 14 มกราคม 2528 ในการนี้ได้มอบหมายให้พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8) พันตำรวจเอกสรรเพชญ ธรรมมาธิกุล(ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช) และพระเทพวราภรณ์เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จัดตั้งคณะทำงานจัดสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น

2.คณะทำงานดังกล่าวได้เริ่มต้นจัดหาไม้ตะเคียนทอง มาเพื่อสร้างเป็นเสาหลักเมืองโดยหามาจากยอดเขาเหลือง เดิมกำหนดจะจัดทำในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หลายคนเห็นว่าจะไม่สะดวกในการปฏิบัติ จึงเปลี่ยนไปใช้สถานที่บ้านพักผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชแทน

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:30 น.] #67621 (3/13)


(D)


3.เสาหลักเมืองมีรูปแบบและขนาดความกว้างยาว เป็นไปตามหลักการตามที่พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชแนะนำ คือ เสาแกะสลักเป็นลวดลายศรีวิชัยประกอบด้วยอักขระโบราณ ยอดเสาเป็นเศียรพระพรหมแปดเศียรซ้อนกันสองชั้น(ชั้นละสี่เศียร)ยอดบนสุดเป็นยอดชัยหลักเมือง หุ้มด้วยทองคำ

4. เพื่อให้ถูกตามธรรมเนียมนิยมจึงกำหนดให้มีพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องสองพิธีคือ 4.1 พิธีฝังหัวใจสมุทรและฝังหัวใจเมือง ประธานในพิธีคือนายเอนก สิทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบหมายจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยประกอบพิธีที่สี่แยกคูขวาง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 4.2 พิธีเบิกเนตรหลักเมือง เจ้าพิธีคือพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ ราชเดช จัดพิธี ณ บริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530

5. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับเกียรติ จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบหลักเมืองให้แก่ทางราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช(นายสุกรี รักษ์ศรีทอง) เป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530

6.ในระหว่างดำเนินการสร้างหลักเมือง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสุกรี รักษ์ศรีทอง) และรุนแรงขึ้นจนกระทรวงมหาดไทยได้โยกย้ายคู่กรณี และแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด(ร้อยตรีอำนวย ไทยานนท์)รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด
7.จังหวัดได้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทรงประกอบพิธีนำกลีบบัวทองคำขึ้นประกอบปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ และ ทรงเจิมทรงพระสุหร่ายยอดชัยหลักเมือง ในการนี้ได้เสนอวันอันเป็นมงคลไปด้วย คือวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จแทนพระองค์เป็นประธานยกกลีบบัวทองคำขึ้นประกอบปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ 3 สิงหาคม 2530

8.ปลาย เดือนกรกฏาคม 2530 กระทรวงมหาดไทยแจ้งจังหวัดว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จังหวัดนำยอดชัยหลักเมืองเข้าไปยังตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทรงเจิมทรงพระสุหร่าย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2530 เวลาประมาณ 16.00 น.

9.จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะ ประกอบด้วย นายสัมพันธ์ ทองสมัคร(รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายกำจร สถิรกุล (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)นายอนันต์ อนันตกุล (เลาธิการคณะรัฐมนตรี) นายศิริชัย บุลกุล(วุฒิสมาชิก) เข้าเฝ้าโดยมีนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำเข้าเฝ้า ในโอกาส นี้ข้าราชการและประชาชนผู้ร่วมจัดสร้างหลักเมือง ได้นำเอาวัตถุมงคลและผ้ายันต์จำนวนมากทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิมทรงพระสุหร่ายหลักเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมกับหลักเมืองจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดชัยนาทด้วย
10.วันที่ 4 สิงหาคม 2530 คณะได้นำยอดชัยหลักเมืองกลับจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยทางเครื่องบิน มีขบวนช้างม้า และประชาชนจำนวนนับหมื่นคนจัดขบวนต้อนรับแห่จากท่าอากาศยานกองทัพภาคที่ 4 มาสู่ที่ตั้งหลักเมืองในปัจจุบันนี้

11.จังหวัดได้ประกอบพิธีอัญเชิญหลักเมืองขึ้นสู่ศาลถาวร โดยนายนิพนธ์ บุญญภัทโร(ผู้ว่าราชการจังหวัด)เป็นประธาน

12.ได้ทำการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นในที่ดินราชพัสดุตามที่ทางจังหวัดขออนุญาตโดยสร้างเป็นศาลด้วยทรงเหมราชสีลา ก่ออิฐถือปูนสามชั้น ส่วนยอดบนเป็นทรงแหลม ภายในศาลพื้นปูด้วยหินอ่อน ฝาผนังจากพื้นขึ้นมาหนึ่งเมตรปูด้วยหินอ่อน มีการสลักดุนประวัติความเป็นมาของหลักเมือง มีบันไดขึ้นลงทั้งสี่ด้านเชิงบันไดเป็นรูปพญางูทะเลแผ่แม่เบี้ย รอบศาลหลักเมืองมีศาลเล็กสี่มุม รูปทรงเป็นลักษณะเช่นเดียวกับศาลหลักเมือง แต่ลดขนาดลง

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:34 น.] #67622 (4/13)


(D)
13.การก่อสร้างศาลหลักเมืองก็ดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง โดยมีรายได้จากเงินบริจาค จากศิษย์ และผู้มีจิตศรัทธา บางท่านบริจาคเป็นวัสดุก่อสร้าง มีการจำหน่ายวัตถุมงคลธูปเทียนและทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอ ไทยานนท์รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ประสานงานดำเนินการเกี่ยวกับศาลหลักเมืองเต็มตัว

14.วันที่ 31 ตุลาคม 2531 จัดพิธีสวมยอดชัยหลักเมือง โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร รองผู้บัญชาการทหารบก(ตำแหน่งในเวลานั้น)

15.ล่วงถึงปีพุทธศักราช 2533 การก่อสร้างศาลหลักเมืองแล้วเสร็จประมาณ 35 % สิ้นเงินประมาณ 4 ล้านบาท การก่อสร้างยังคงดำเนินการต่อไปแต่ไม่อาจจะเร่งงานได้ เพราะฤดูฝนเป็นอุปสรรค นอกจากนั้นต้องดำเนินการตามเวลาฤกษ์อันเป็นมงคลตามที่พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชกำหนด การก่อสร้างโดยการจ้างแรงงาน และวัสดุก่อสร้างเป็นของคณะทำงานก่อสร้างก่อสร้างหลักเมืองและผู้มีจิตศรัทธา

16.งานก่อสร้างศาลหลักเมืองชะงักไประยะหนึ่ง คือในช่วง พ.ศ.2536-2540 ล่วงถึง พ.ศ.2541 ในสมัยที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พิจารณาเห็นว่าปูชะนียสถานแห่งนี้ควรที่จะได้รับการบูรณะให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เป็นศรีสง่าและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองอีกแห่งหนึ่งจึงจัด "โครงการบูรณะก่อสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช" เพื่อให้แล้วเสร็จทันการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา พร้อมกันนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณะก่อสร้างศาลนี้ตามคำสั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ 235/2541 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 กรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ หาทุน ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน

รูปลักษณ์หลักเมืองนครศรีธรรมราช

หลักเมืองนครศรีธรรมราชที่สร้างขึ้นและประดิษฐานในศาลอันโดดเด่นเป็นสง่า ณ บริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช มีรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ช่างผู้ สลักบรรจงแกะขึ้น ตั้งแต่ฐานถึงยอดมีลวดลายเก้าแบบ ทุกแบบแกะสลักขึ้นด้วยคติธรรมความเชื่อในเรื่องกฎวัฏจักรและโลกธรรมเป็นหลัก กล่าวคือ

1. ฐานวงกลมเก้าชั้น ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกรูปทุกนามมีต้นกำเนิดมาจากดินเมื่อถึง กาลดับขันธ์ก็จะสลายร่างกลายเป็นดิน ทุกอย่างเป็นอนิจจัง จึงควรเตือนสติให้ระลึกว่า มงคลคาถาเก้าประการเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ซึ่งเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ มีดวงตามองเห็นธรรม ทั้งเป็นความหมายบอกเป็นนัยให้รู้ว่า หลักเมืองที่ปรากฏขึ้นใหม่นี้สถิตในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
2. ลวดลายมงคลเล็ก ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า ทุกคนที่เกิดมาเมื่อลืมตาดูโลก ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ย่อมเป็นทารกที่สะอาดบริสุทธิ์ เสมือนดังผ้าขาวไม่มีรอยเปื้อน น่ารักใคร่ทะนุถนอม ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด ถือเป็นสิ่งมงคลขนาดย่อม แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สังคมและสิ่งแวดล้อมมีส่วนทำให้ความบริสุทธิ์และสะอาดแปรเปลี่ยนไป

3. ลวดลายดอกและในลำโพง(ลายแรก) ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่าเมื่อมนุษย์เติบโตขึ้นย่อมถูกครอบงำด้วยอารมณ์ กิเลส ตัณหา ราคะ ความมัวเมาทั้งปวง สันดานและสภาพแวดล้อมจะหล่อหลอมปรุงแต่งให้คนกลายเป็นผู้เร่าร้อนเป็นทุกข์ อยากได้ อยากมี ไม่มีขอบเขตจำกัด อ่อนไหวหันเหไปตามอารมณ์เบื้องต่ำ เสมือนต้นลำโพง พันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีพิษ สามารชุบย้อมจิตใจอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปได้ สัญลักษณ์แห่งความชั่วนี้จะครอบงำมนุษย์เพิ่มขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่ถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส

4. ลวดลายเล็บช้างและน่องสิงห์ ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า บนเส้นทางแห่งความดีและความชั่วนั้น เมื่อยังอยู่ในเยาว์วัย บิดามาดาและครูบาอาจารย์จะต้องคอยควบคุมดูแลสั่งสอนปลูกฝังขัดเกลา มิให้หันเหไปในทางชั่ว หรือประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ควรตั้งอยู่บนเหตผลและทราบถึงความถูกความผิด

5. ลวดลายดอกและใบลำโพง(ลายที่สอง) ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า เมื่อเจริญเติบโตพ้นจากอ้อมอกพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ย่อมสามารถจำแนกความดีชั่วได้ว่า สิ่งใดถูกสิ่งในผิด หากปล่อยตัวปล่อยใจเสมือนเสพดอกและใบลำโพง เลือกประพฤติปฏิบัติไปในทางชั่วมัวเมา วิถีชีวิตก็จะพบแต่ความทุกข์เร่าร้อน หาความเจริญเป็นสิริมงคลมิได้ เวียนว่ายอยู่บนกองทุกข์แม้จะมีความสุขบ้างแต่ก็เป็นเสมือนลมพัดผ่านชั่วครู่ชั่วยาม

6. ลวดลายขดมงคล ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผลและมีความคิดรู้จักจำแนกเลือกเฟ้นความดีความชั่ว รู้จักสร้างสมขนบเนียมประเพณี และ อารยธรรม จนพัฒนาก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง สิ่งที่ดีงามย่อมเป็นมรดกตนทอดไปสู่ลูกหลาน แม้ว่ากิเลส ตัณหา ราคะ และอารมณ์เบื้องต่ำจะคอยก่อกวนชักจูง แต่หากรู้จักเลือกทางที่ดีแล้ว ก็จะทราบถึงเหตุถึงผล แสวงหาทางดับทุกข์จนดำเนินชีวิตอย่างมีความสงบสุขไปตามธรราชาติได้ เป็นสัจธรรมที่มั่นคงยั่งยืน สมดังสัจธรรมที่ว่าทำดีได้ดี และธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:35 น.] #67623 (5/13)


(D)
7. ลวดลายน่องสิงห์(ลายแรก) ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า สัจธรรมเบื้องต้นที่จำแนกความดีความเลว ของมนุษย์นั้น เป็นแต่เพียงงความรู้สึกสำนึกขั้นหยาบที่สามารถระลึกเองได้ แต่ไม่อาจเข้าถึงพระอภิธรรมขั้นละเอียดอ่อน หรือโลกธรรมขั้นสูงได้ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายบ้านเมืองมาเป็นเครื่องรองรับคอยกำกับบังคับมิให้ผู้คนละเมิดหลักนิติธรรม

8. ลวดลายมงคลรอบเสา ประดิษฐจากความเชื่อที่ว่า พระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลายจะช่วยชี้ช่องทางให้มนุษย์มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงพระพุทธศาสนา ช่วยให้คนพ้นจากความเป็นสัตว์ ผู้ใดศรัทธาเลื่อมใสประพฤติปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ผู้นั้นล่วงพ้นวัฏสงสาร ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด หากดำรงชีวิตอยู่ก็ทราบถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ รู้วิถีทางดับทุกข์ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขไปตามฐานะ จิตใจสงบเยือกเย็นด้วยแสงแห่งพระรัตนตรัย

9. ลวดลายบัวคว่ำบัวหงาย ประดิษฐ์จากความเชื่อที่ว่า องค์จตุคามรามเทพปฐมกษัตริย์ชาวศรีวิชัยได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมของพระพุทธศาสนา หยั่งถึงความดีความชั่วอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มุ่งหวังให้ชาวศรีวิชัยทุกรูปทุกนามไดรับแสงแห่งพระรัตนตรัย จึงอุทิศทรัพย์ศฤงคารทั้งปวงสร้างพระธาตุเพื่อเป็นพุทธบูชา ปราบปรามเหล่าจัณฑาลชั่วช้ามิให้ก่อความเดือดร้อนในแผ่นดิน แผ่บรมเดชานุภาพไปทั่วทะเลใต้ มีบุญฤทธิ์ อิทธิอภินิหารยิ่งใหญ่จนได้รับสมญาว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้ทรงขจัดความมืดมัวในโลกดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งส่องชี้ให้เห็นความดีความชั่วปวง ผู้ใดกระทำความดีก็จะได้รับผลดีตอบสนอง ผู้ใดกระทำความชั่วก็จะถึงการวิบัติพินาศไปในที่สุด

10. ลวดลายน่องสิงห์(ลายที่สอง) ประดิษฐ์จากความเชื่อที่ว่า ความดีความชั่วเป็นสิ่งสามัญที่เกิดขึ้นควบคู่กับมนุษย์ แม้ว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา บิดามารดา ครูบาอาจารย์ จะได้อบรมสั่งสอน ปลูกฝังขัดเกลาให้ละเว้นจากความชั่วร้ายทั้งปวง ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์สุขแก่สังคม แต่ยังมีบรรดาเหล่าทรชนผู้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เหมือนกับสุนัขพึงใจกับอาจม เมื่อมีการสถาปนาหลักเมืองขึ้นแล้ว องค์ราชันจตุคามรามเทพจะสำแดงเทวอำนาจให้ปรากฏแก่ชาวเมือง จะควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองให้ดำเนินไปตามทำนองคลองธรรม ส่งเสริมผู้กระทำความดี และล้างผลาญทำลายผู้ก่อกรรมทำชั่ว

11 .รูปพรหมสี่หน้า(ใหญ่) ประดิษฐ์จากความเชื่อเรื่อง สัญลักษณ์ของเทวดารักษาเมืองผู้รอบรู้สรรพศาสตร์ทั้งหลายและเข้าถึงพระอภิธรรมขั้นสุดยอด ประกอบด้วยทิยญาณหยั่งรู้ไตรโลก คืออดีต ปัจจุบัน อนาคต มีอำนาจอภิสิทธิ์เหนือชีวิตมนุษย์ สามารถสำแดงอภินิหารในร่างแปลง ประดุจดังพระพรหมสี่หน้าอันมีต้นแบบมาจากบานประตูทางขึ้นองค์พระบรมธาตุเจดีย์(ในวิหารพระทรงม้า) เพื่อเตือนสติให้ทราบว่า การประกอบกรรมชั่ว แม้จะเร้นลับสายตาผู้คน สามารถปกปิดซ่อนเร้น หรืออาจหลอกลวงมนุษย์ธรรมดาได้ แต่เทพเจ้าประจำหลักเมืองยังมองดูอยู่ทั้งสี่ทิศ จึงไม่อาจรอดพันสายตาไปได้เลย
12. รูปพรหมสี่หน้า(เล็ก) ประดิษฐ์เป็นสัญลักษณ์ของเทวดารักษาเมืองประจำทิศน้อยทั้งสี่ แสดงความนัยให้ทราบว่า ไม่ว่าชาวนครจะอยู่สารทิศใด ทิศตรง ทิศเฉียง ต้อวงเกรงกลัว และละอายต่อบาป ไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง การก่อกรรมทำชั่วไม่อาจซ่อนเร้นปิดบังให้พ้นเทวดาฟ้าดินได้เลย

13. เปลวเพลิงยอดพระเกตุ ประดิษฐเป็นสัญลักษณ์ความมีชัยนะของชาวเมืองนครที่จะมาถึงในวันข้างหน้า บ้านเมืองจะแปรเปลี่ยนไปสู่ความรุ่งโรจน์และกลายเป็นอู่อารยธรรมของคาบสมุทรไทยอีกครั้ง เหมือนดังเคยเป็นมาแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 18 ขอบารมีพระบรมธาตุอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ร่วมกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช จงช่วยคุ้มครองปกป้องอภิบาลคนดีให้อยู่รอดปลอดภัย ผู้ใดมีจิตคิดและทำอกุศลกรรมหนัก ขอได้ช่วยดลจิตใจให้ผู้นั้นลดกระทำลงมาให้มีส่วนเหลือเพียงน้อย ผู้ใดทำชั่วน้อยๆ ก็ขอจงได้ลดละเลิกหันมาบำเพ็ญกรรมดี ทั้งนี้เพื่อความผาสุกสวัสดิมงคลแก่เมืองมาตุภูมิของตนสืบไป

17.ยังมิทันที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ย้างไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะเดียวกันกระทรวงก็แต่งตั้งนายสวัดิ์ กฤตรัชตนันต์มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแทน

18.นายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สานต่อโครงการบูรณะศาลหลักเมืองจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลในวันใดวันหนึ่งสุดแต่พระราชอัธยาศัย

19.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2543 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรงท่ามกลางความปลาบปลื้มปิติยินดีของพสกนิกรเป็นล้นพ้น


โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:37 น.] #67624 (6/13)


(D)
จตุคามรามเทพ เทวดารักษาเมืองนคร


พลตำรวจโทสรรเพชรธรรมมาธิกุล ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวน อธิบายว่าเทวดารักษาเมืองหรือเทพประจำหลักเมือง หรือเจ้าพ่อหลักเมืองนครศรีธรรมราช คือ "จตุคามรามเทพ" หรือ "จันทรภาณุ" ผู้ซึ่ง "ตั้งดิดตั้งฟ้า" สถาปนา "กรุงศรีธรรมโศก" ศูนย์กลางแห่ง ศรีวิชัย

ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายานสาขาหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกรูปทุกนาม ต้องเวียนว่ายตายเกิดท่ามกลางกองทุกข์ การขะข้ามวัฏสงสารก็ด้วยยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ หากผู้ใดตั้งปณิธานแน่วแน่ อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือขจัดความทุกข์ยากของมนุษย์ มุ่งบำเพ็ญบารมีหกประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี วิริยบารมี ธยานบารมี(ฌานบารมี) และปัญญาบารมีครบถ้วนแล้ว ผู้นั้นจะบรรลุความเป็นมนุษย์โพธิสัตว์ หรือคฤหโพธิสัตว์ หากพากเพียรสร้างบารมีขั้นสูงอีกสี่ประการ คือ อุปายบารมี ปณิธานบารมี พลบารมี และชญาบารมี ผู้นั้นจะสำเร็จเป็นเทวโพธิสัตว์ทรงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ สามารถบังคับฟ้าดิน สำแดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นเป็นร่าง แปลงธรรมอันจักช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ให้พ้นทุกข์และภัยพิบัติ ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข องค์จตุคามรามเทพถึงแล้วซึ่งความแกล้วกล้าสามารถ เจนจบสรรพศาสตร์ทั้งปวง บำเพ็ญบารมีถึงพรหมโพธิสัตว์ จึงทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ จนได้รับนามาภิไธยราชฐานันดรว่า "จันทรภาณ" ผู้มีอำนาจดั่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ ถืออาญาสิทธิ์รูปราหูอมจันทร์ และวัฏจักร 12 นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ อันเป็นตราประจำเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
องค์จตุคามรามเทพ มีบริวารเป็นทหารกล้าสี่คน ได้แก่พญาชิงชัย พญาหลววงเมือง พญาสุขุม และพญาโหรา เป็นกำลังหลักในหารปราบพวกพราหมณ์ที่ปกครองเมืองตามพรลิงค์อยู่ก่อน เมื่อได้บ้านเมืองแล้วก็ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ สถาปนาเมืองสิบสองนักษัตรหรือกรุงศรีธรรมโศก ฝังรากฐานพระพุทธศานาอย่างถาวรจนได้รับการเทิดพระเกียรติว่า "พญาศรีธรรมาโศกราช" ภายหลังท่านเป็นเทวดารักษาเมือง สถิตอยู่ ณ รูปจำหลักที่บานประตูไม่ทั้งสองที่ทางขึ้นลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั่นเอง ส่วนบริวารทั้งสี่ก็เป็นเทวดารักษาเมืองประจำทิศของเมืองเช่นเดียวกันเมื่อสร้างหลักเมืองแล้วก็ได้อัญเชิญท่านมาสถิต ณ เสาหลักเมืองอันงดงามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ องค์จตุคามรามเทพและบริวารนี่เองที่ได้มาแสดงความอัศจรรย์ให้ปรากฏด้วยการประทับทรง หรือ "ผ่านร่าง" มาบอกกล่าวให้สร้างหลักเมือง แก้อาถรรพ์ดวงเมืองที่พวกพราหมณ์ได้ฝังไว้จนทำให้บ้านเมืองไม่ปกติสุข ผู้ตนแตกแยกแก่งแย่งชิงดีกันหาความสงบสุขไม่ได

ส่วนเทวดารักษาเมืองโดยรอบศาลหลักเมืองนั้นพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล อธิบายไว้เป็นสามแนวหรือสามระดับ ได้แก่ แนวแรก (ระดับล่าง) เป็นเทวดารักษาทิศ เทวดารักษาทิศเหนือชื่อท้าวกุเวร เทวดารักษาทิศตะวันออกชื่อ ท้าวธตรฐ เทวดารักษาทิศใต้ชื่อท้าววิรุฬหก เทวดารักษาทิศตะวันตกได้แก่ ท้าววิรุฬปักษ์ แนวที่สอง(ระดับกลาง) เป็นจตุโลกเทพ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และพระบันดาลเมือง แนวที่สาม (ระดับสูง) เป็นไปตามคติพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในจักรวาลของพุทธศานาฝ่ายมหาชน คือพระไวโรจน พุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง พระอักโษภยพุทธเจ้าอยู่ด้านตะวันออก พระอมิตาภะพุทธเจ้าอยู่ด้านตะวันออก พระรัตนสมภพพุทธเจ้าอยู่ด้านทิศใต้ และพระอโมฆะสิทธิพุทธเจ้าอยู่ด้านเหนือ

การสักการะเทวดารักษาเมืองนครศรีธรรมราชแบบครบสูตร ใช้เครื่องบูชาอันประกอบด้วย ดอกไม้ 9 สี(หรือ 9 ชนิด หรือ 9 ดอก) ธูป 9 ดอก เทียน 9 เล่ม หมากพลู 9 คำ ยาเส้น 1 หยิบมือ และน้ำจืด 1 แก้ว (หรือ 1 ขวด) รำลึกถึงเทวดารักษาเมืองดังที่กล่าวนามข้างต้น ตั้งจิตอธิษฐานตามใจปรารถนา

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครศรีธรรมราชเคยมีชื่อว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ แต่ตำนานไทยเหนือเรียกว่า เมืองสิริธรรมนคร กรุงศรีธรรมโศกสร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน คงทราบข้อความจากคัมภีร์เก่าแก่ของชาวอินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกว่า เมืองท่าตมะลีบ้าง เมืองท่ากมะลีบ้าง จนกระทั่งในราว พ.ศ.1150 จดหมายเหตุจีนกล่าวถึงเซียะโท้วก๊ก แปลว่าประเทศอินเดีย ซึ่งจักรพรรดิจีนส่งราชทูตเดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรีต่อมาภิกษุจีนผู้คงแก่เรียนมีชื่อว่า หลวงจีนอี้จิง เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย ใน พ.ศ. 1214 ได้แวะมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เมืองโฟชิ จึงทราบว่าบ้านเมืองทั้งหลายในคาบสมุทรภาคใต้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีอำนาจทางทะเล หลวงจีนอี้จิงจึงขนานนามว่า "ประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อาณาจักรศรีวิชัย"

นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมากในเรื่องที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยจนถึงทุกวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เมื่อ พ.ศ. 1710 ศิลาจารึกหลักที่ 35 พบที่บ้านดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงการแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้ากรุงศรีธรรมโศก ขึ้นไปครอบครองดินแดนในแถบภาคกลางของประเทศไทย ต่อจากนั้นดินแดนแถบนี้กลับตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร ครั้นใน พ.ศ.1773 ศิลาจารึกพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช กล่าวว่าพระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพกรุงตามพรลิงค์กลับคืนมาได้ ภายหลังจากพรองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อนุชาพระองค์เสวยราชสมบัติแทน ตำนานกล่าวว่า

"พญาจันทรภานุผู้น้องเป็นพระยาแทน พญาจันทรภาณุเป็นพระยาอยู่ได้ 7 ปี เกิดไข้ยมบนลงทั้งเมือง คนตายวินาศประลัย พญาจันทรภาณุ พญาพงศาสุราหะ อนุชา และมหาเถรสัจจนุเทพกับครอบครัวลงเรือหนีไข้ยมบน ไข้ก็ตามลงเรือพญาและลูกเมียตายสิ้น พระมหาเถาสัจจานุเทพก็ตาย เมืองนครทิ้งร้างเป็นป่ารังโรมอยู่หึงนาน"

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [พฤ. 21 ธ.ค. 2549 - 21:38 น.] #67625 (7/13)


(D)
หลักฐานเท่าที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงแสดงให้เห็นว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยแล้วล่มสลายไปเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถูกทิ้งร้างจมอยู่กลางป่าอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งพวกเจ้าไทยลงมาปกครองและฟื้นฟูบูรณาการบ้านเมืองขึ้นใหม่ ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนายพระธาตุนครศรีธรรมราช

ไม่มีใครทราบว่าในการฟื้นฟูบูรณาการกรุงศรีธรรมโศก และพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ในครั้งนี้มีเบื้องหลังหรือความเป็นมาแท้จริงอย่างไร คงทราบความจากตำนานแต่เพียงว่าพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงโปรดให้มีตรามาเกณฑ์ผู้คนสร้างเมื่องนครศรีธรรมราชและพระธาตุ จนสำเร็จเสร็จสิ้นในสมัยขุนอินทราชาเป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีมหาราชา จนกระทั่งชาวนครศรีธรรมราชผู้หนึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชเก่า จดบันทึกไว้ในสมุดข่อยในหอสมุดแห่งชาติ จึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่สถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่า เดือน 3 ปีเถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับ พ.ศ.1830

เมื่อพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช และพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ตรวจสอบรูปดวงชะตาเห็นว่ากรุงศรีธรรมโศกและดินแดนภาคใต้ถูกสาป จึงร่วมกันหาทางแก้ไข รายงานให่คณะกรรมการจัดสร้างสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชทราบ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเพื่อล้างมนตราอาถรรพ์แห่งคำสาปใน พ.ศ.2530

ตำนานองค์จตุคาม


ตรรกวิทยาของชาวกะ ที่เรียกว่า จตุคามศาสตร์ เชื่อกันว่า นางพญาจันทรา นางพญาพื้นเมือง ทะเลใต้ ราชินี ผู้สูงศักดิ์ขององค์ราชันราตะ หรือ พระสุริยะเทพ ซึ่งรวบรวมดินแดนในคาบสมุทรทองคำเข้าเป็นจักรวรรดิ์เดียวกันในพุทธศตวรรษ ที่ 7 พระราชมารดาของเจ้าชายรายเทพ บรรลุธรรม สำเร็จตรรกศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ ทรงอิทธิฤทธิ์ บังคับคลื่นลมร้ายให้สงบได้ชาวทะเลทั้งหลายกราบไหว้รำลึกถึง เมื่อออกกลางทะเล เรียกกันว่า แม่ย่านาง ชาวศรีวิชัยให้ความเคารพนับถือเทิดทูน ฉายานามว่า เจ้าแม่อยู่หัว

เจ้าชายรามเทพได้ศึกษาเล่าเรียนวิชา จตุคามศาสตร์ จากพระราชมารดาจนเจนจบ แล้วทรงเรียนรู้หลักสัจะรรมทางพุทะศาสนา เลื่อมใสศรัทานิกายมหายานอย่างแรงกล้า มุ่งหน้าสร้างบารมี หวังตรัสรู้เป็นพระโพธสัตว์ ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะประกาศธรรมให้มั่นคงทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ ทรงอุตสาหะบากบั่นสร้างราชนาวีตามตรรกศาสตร์มหายาน ที่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมได้รวดเร็วและปลอดภัยบรรทุก กำลังพลและสัมภาระได้ มากมายมหาศาลเยือนน่านน้ำใด หลักศาสนา ศิลปอารยะธรรมประดิษฐานมั่นคง ณ ดินแดนนั้น จนเหล่าราชครูต่างถวาย นามาภิไธยราชฐานันดร ว่า องค์ ราชันจตุคามรามเทพ

เมื่อพระศรีมหาราชชาวชวากะได้ประกาศสัจธรรมทั่ว สุวรรณทวีปแล้วจึงได้สร้าง มหาสถูป เจดีย์ขึ้นที่หาดทรายแก้วและในปลายพุทธศตวรรษที่8 องค์ราชันจตุคามรามเทพทรงมานะพยายามจนบรรจะธรรมจนบรรลุโพธิญาณ จักรวาลพรหมโพธิสัตว์ ประกอบด้วย บุญฤทธิ์ อิทธิฤทธ อภินิหาร สยบฟ้า สยบดินได้ตามปรารถนา วาจาเป็นประกาศิตเหนือมวลชีวิตทั้งหลายทรงศักดานุภาพเหมือน ดังพระอาทิตย์และ พระจันทร สมญานามตาม ศาสตร์จันทรภาณุ สาปแช่งศัตรูผู้ใดจะถึงกาลวินาศ จนเลื่องลือไปทั่วทวีป ได้รับการถวายนามยกย่องว่า พญาพังพกาฬ การประกาศชัยชนะที่เด็ดขาดเหนือสุวรรณทวีปและหมู่เกาะทะเลใต้นี้เปรียบได้กับมหาราชในชมพูทวีป

ดังนั้น พญาโหราบรมครูช่างชาวเกาะ ได้จำลองรูปมหาบุรุษเป็นอนุสรณ์ ตามอุดมคติศิลปะศาสตร์ศรีวิชัย เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมุตแห่ง เทวราชที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ ทรงเครื่องราชขัติยาภรณ์ สี่กร สองเศียร พรั่งพร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรมและศิลปะกรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้ ลูกหลานราชวงศ์ไศเลนทร์ในชั้นหลังได้ถ่ายทอดศิลปะศาสตร์แปลงร่างธรรมเป็น นารายณ์บรรทมสินธุ์บ้าง อวตารปราบอสูรบ้าง ตามค่านิยมของท้องถิ่น

ความเป็นมาองค์พ่อจตุคามรามเทพ


องค์พ่อจตุคามรามเทพ คือ เทวดารักษาพระบรมธาตุ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สถิตอยู่ที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศง 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ และสร้างศาลหลักเมืองของจังหวัด จึงมีการทำพิธีอัญเชิญองค์พ่อฯ ไปสถิตที่ศาลหลักเมืองตั้งแต่นั้นมา
ก่อนจะมาเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุนั้น องค์พ่อจตุคามรามเทพเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยศรีวิชัย ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ และในอีกชาติภพหนึ่งองค์พ่อฯ เป็นกษัตริย์ที่มีนามว่า พญาศรีธรรมโศกราช การที่องค์พ่อฯ ถูกขนานนามว่า ราชันดำแห่งทะเลใต้ เพราะอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ติดทะเลชวา และพระวรกายของพระองค์มีสีเข้ม นอกจากจะเป็นกษัตริย์แล้ว ในอีกชาติภพหนึ่งองค์พ่อฯ ยังเป็นนักรบที่แกร่งกล้าสามารถ รบไม่เคยแพ้ผู้ใดนามว่า พังพกาฬ องค์พ่อฯทรงบำเพ็ญตน สร้างบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มวลมนุษย์ สุริยัน จันทรา นั้นเป็นตัวแทนขององค์พ่อฯ ส่วนดวงตราพญาราหู ดวงตราสองแผ่นดินศรีวิชัย สุวรรณภูมิ และ 12 นักกษัตร เป็นรูปแบบของดวงตราอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจตุคามศาสตร์ ซึ่งทรงฤทธิ์ธานุภาพในทุกๆด้าน การอธิษฐานจิตขอบารมี จากองค์พ่อจตุคามรามเทพ ทุกท่านสามารถอธิษฐานจิตขอพรบารมีจากองค์พ่อจตุคามรามเทพได้ หากท่าน
1.อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ และ ไม่ขัดต่อศีลธรรม
2.เมื่อท่านได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับองค์พ่อจตุคามรามเทพ และ
3.ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแก่องค์พ่อจตุคามรามเทพ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แม้ว่าองค์พ่อจตุคามรามเทพจะเป็นพระโพธิสัตย์ที่มีจิตแห่งความเมตตาสูง ขอให้ทุกท่านอย่าเพียงแต่บารมีขององค์พ่อฯเท่านั้น ควรสร้างกุศลกรรมให้แก่ตนเองให้ครบทุกด้าน คือ ให้ทาน (เช่น สัมฆทาน บริจาคมูลนิธิต่างๆ) รักษาศีล(ศีล) และ บำเพ็ญภาวนา (สวดมนต์ และปฏิบัติกรรมฐาน) และขอให้อโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรของท่านเอง และแผ่กุศลกรรมที่ท่านทำนั้นให้แก่ มารดาบิดา ญาติกาทั้งหลาย ครูอุปัชฌาอาจาร์ย เพื่อมนุษย์ เทวดาทั้งหลายทั้งปวง เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง และเปรตทั้งหลายทั้งปวงด้วย แล้วชีวิตท่านจักบังเกิดความเจริญ

โดยคุณ chartchay_ho21 (265)(2)   [ศ. 22 ธ.ค. 2549 - 07:52 น.] #67664 (8/13)
ขอบคุณครับที่ให้ประโยชน์

โดยคุณ nongnhun (4.5K)  [ศ. 22 ธ.ค. 2549 - 08:52 น.] #67678 (9/13)
ได้ความรู้อีกเยอะเลยครับ ไม่ทราบพิมพ์เหนื่อยหรือปล่าวครับ( แซวเล่น )

โดยคุณ 123456789 (3.1K)  [ศ. 22 ธ.ค. 2549 - 19:56 น.] #67764 (10/13)
Hot--->>ขอบคุณมากนะครับที่มากเยี่ยมชมครับ

โดยคุณ kochega (15)  [ส. 23 ธ.ค. 2549 - 10:58 น.] #67845 (11/13)
ขอบพระคุณมากมาย คร๊าบบบบบ สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์แก่เพื่อนสมาชิก..

โดยคุณ nurseman (2.1K)  [อ. 26 ธ.ค. 2549 - 05:13 น.] #68332 (12/13)
ทำำให้คนที่ไม่รุ้ ได้รุ้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับองค์พ่อฯ ขอบคุณนะคับ

โดยคุณ tee-zung (844)  [จ. 01 ม.ค. 2550 - 02:02 น.] #69087 (13/13)
ขนาดอ่านยังตาลายเลย แล้วคนพิมพ์จะขนาดไหน ขอบคุณในการนำเสนอมั่กๆๆๆๆๆ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1