(D)
ผมได้ทำการรวบรวมไว้เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้กับผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา โดยที่มาได้มาจากหนังสือ ที่ระลึกงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี หลวงพ่อหยด วัดเจ้าเจ็ดใน และบางส่วนได้จากคำบอกเล่า
ประวัติ วัดเจ้าเจ็ดใน
วัดเจ้าเจ็ดใน ตั้งอยู่ที่ริมคลองเจ้าเจ็ดซึ่งเป็นทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน วัดเจ้าเจ็ดในตั้งอยู่ที่ ๓๔ ถนนสุขาภิบาลเจ้าเจ็ด หมู่ที่ ๓ ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา
วัดเจ้าเจ็ดในเกิดขึ้นหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าใหม่ๆปี พ.ศ.๒๓๑๐ ท้องที่เจ้าเจ็ดเป็นดินแดนลุ่มลาดซึ่งเป็นป่ารกร้าง มาก จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ร้ายเช่น จระเข้ ช้าง เสือ เป็นต้น และเป็นที่ลี้ภัยสงครามพม่าของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ในครั้งนั้น เมื่อเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทั้งหลายลี้ภัยมาพักอาศัยอยู่ที่ตำบลนี้ ซึ่งคงนับได้ ๗ พระองค์ จึงได้สร้างปูชนีย์วัตถุไว้ ต่อมาประชาชนจึงได้ถือเอาที่นี้เป็นวัด จึงได้ซื่อว่า วัดเจ้าเจ็ด ต่อมาภายหลังได้เกิดวัดขึ้นอีกวัดตั้งอยู่ทิศเหนือ มีเนื้อที่ติดต่อกัน ดังนั้นวัดเจ้าเจ็ดจึงมีคำว่า ใน ต่อท้าย
ต่อมาปี ๒๔๔๙ พระธรรมดิลก (อิ่ม) กับพระอุปัชฌาย์ ปั้น เป็นเจ้าอาวาสขณะนั้นเป็นหัวหน้าประชาชน ชาวเจ้าเจ็ด และกรุงเทพ ร่วมกันสร้างโรงอุโบสถขึ้นโดยสร้างทับที่ของเดิม และผูกพัทธสีมาเมื่อปี ๒๔๕๐
เจ้าอาวาสที่สืบทราบนามได้ มี ๕ รูป
๑. พระอาจารย์จีน (พระอาจารย์ สอนพระปริยัติธรรม และภาษาบาลี ให้กับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ด)
๒. พระอุปัชฌาย์ ปั้น
๓. พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม)
๔. พระอาจารย์คำ (รักษาการ)
๕. พระครูเสนาคณานุรักษ์ (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)
ประวัติ พลับเพลาใจสมาน เป็นอาคารไม้สร้างเมื่อ ๕ ตุลาคม ๒๕๐๕ เพื่อเป็นเรือนรับรอง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อประทับเสวยพระกระยาหาร (กลางวัน) เมื่อคราวเสด็จทอดผ้าพระกฐิน ซึ่งตรงกับ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ มาจัดเป็นราชานุสรณ์ พร้อมกับจัดงานแห่พระพุทธเกสรไปตามลำคลองเจ้าเจ็ดและมุ่งสู่วัดกระโดงทองโดยมีขบวนเรือแห่สวยงาม และเมื่อกลับจากวัดกระโดงทองก็จัดให้มีการถวายพระพรพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พลับเพลาใจสมาน จนถึงปัจจุบัน
ประวัติ หลวงปู่ยิ้ม
พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม) นาเดิม ยิ้ม กระจ่าง เป็นบุตรนายอ่วม และนางสุด กระจ่าง เกิดที่บ้านสาลี หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแถว อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๗ ปีกุน มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๓ คน
๑.นายจ่าง กระจ่าง
๒.พระครูพรหมวิหารคุณ
๓.นายโชติ กระจ่าง
สมัยเป็นเด็กได้ศึกษาอักขรสมัยอยู่กับพระอาจารย์จาด และพระอาจารย์จีนวัดเจ้าเจ็ดใน พออายุได้ ๑๖ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาที่วัดกระโดงทอง ภายใต้การปกครองของหลวงพ่อบุญมี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีได้อุปสมบทที่วัดเจ้าเจ็ดนอก มีพระอาจารย์สิน วัดโพธิ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จาดเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจาร อุปสมบทแล้วอยู่ที่วัดเจ้าเจ็ดในต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะตำบลเจ้าเจ็ด เป็นพระครูกรรมการศึกษาและเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ เป็นพระครูพรหมวิหารคุณ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นเจ้าคณะอำเภอบางซ้าย มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๙ รวมอายุได้ ๘๒ ปี หลวงปู่ยิ้ม เป็นเกจิ อาจารย์รุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อยิ้มได้สร้างวัตถุมงคลเมื่อปี ๒๔๗๕
วัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน
หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดในเป็นพระที่อุดมด้วย ศีลลาจารวัตร ตลอดชีวิตของหลวงปู่เป็นพระอารมณ์เย็นและยิ้มง่าย สมกับชื่อของท่าน จึงมักมีผู้คนไปนมัสการขอของทางเมตตามหานิยมของท่านมิได้ขาด หลวงปู่ยิ้มยังเป็นพระร่วมสมัยกับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จนเรียกกันติดปากว่า
"พระหมอหลวงพ่อปาน เกจิอาจารย์หลวงพ่อจง เมตตาไหลหลง หลวงปู่ยิ้ม" หลวงปู่ยิ้มท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนเป็นคำนั้นไม่พูดมาก พูดแต่สิ่งที่ดี ๆ หลวงปู่ยิ้มได้สร้างวัตถุมงคล ไว้มากมายเพื่อให้ประชาชนได้บูชาและเก็บใส่กรุไว้เพื่อเป็นการต่ออายุพระธรรมศาสนา หลวงปู่ยิ้มเริ่มสร้างวัตถุมงคลขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยวัตถุมงคลของท่านเป็นพระเนื้อดินเผา พิมพ์ต่างๆ โดยใช้ส่วนผสมมวลสาร ต่างๆดังนี้
๑.ดินใจกลางนาที่ขุดลงไปลึกๆจนเรียกว่าดินนวล
๒.ดินเจ็ดโป่งเจ็ดป่า
๓.ผงวิเศษของหลวงพ่อยิ้ม
๔.ว่านต่าง ๆ ที่หลวงพ่อสะสม
สำหรับพุทธคุณ ที่บรรดาสาธุชนที่เลื่อมใสหลวงปู่ยิ้มได้พบประสบการณ์ในวัตถุมงคลหลวงปู่นั้น จะเป็นไปในทางเมตตามหานิยม ช่วยให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองมีคนรักใคร่ และแคล้วคลาดจากเหตุภัยอันตรายต่างๆ ป้องกันเขี้ยวงา คุณไสยต่างๆได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงทางด้านคงกระพันชาตรี เนื่องจากเคยได้ยินได้ฟังจากชาวบ้านในละแวกนั้นบอกกล่าวไว้ว่า ชาวบ้านเคยนำพระงบน้ำอ้อย ของหลวงปู่ยิ้ม อาราธนาและนำเอาไปทดลองใส่ปากปลาช่อน แล้วเอามีดฟันแต่ไม่เข้า จึงถือเป็นของดีที่น่าใช้วัดหนึ่งเหมือนกันจนเป็นที่เคารพศรัทธา ของประชาชนใน อำเภอเสนา และในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุพรรณบุรี และอ่างทอง เนื่องจากพระของท่านสร้างไว้จำนวนมาก จึงพบเห็นในสนามพระบ่อยๆ ทำให้ราคาถูก หากแต่ว่าสมัยนี้พระของท่านนั้นมีให้เห็นในสนามพระน้อยลงไปทุกวันแล้ว
พระพิมพ์งบน้ำอ้อย
พระงบน้ำอ้อย เป็นพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างไปจากพิมพ์อื่นๆ ตรงที่ว่าสัณฐานของพระเครื่องจะเป็นรูปกลม ส่วนด้านหลังจะแบนราบ และเอกลักษณ์ ของพระงบน้ำอ้อยอีกอย่างหนึ่งที่คุ้นตาพวกเรากันดีก็คือ ด้านหน้าจะเป็นรูปพระหลายๆ องค์นั่งเรียงกันโดยหันพระเศียรเข้าหาจุดศูนย์กลาง พระพิมพ์งบน้ำอ้อย ของหลวงปู่ยิ้มเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่นิยมมากที่สุดของหลวงปู่ยิ้ม มีลักษณะกลมมีองค์พระพุทธอยู่ในทรงกลมนับได้ ๑๐ องค์ หรือแทนพระพุทธเจ้า ๑๐ พระองค์ หรือพระพุทธเจ้า ๑๐ ชาติ บางองค์ยังพบมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ก็มี และ แบ่งออกเป็น ๓ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก ทุกพิมพ์นั้นได้รับความนิยมเท่าๆกัน และยังแยกประเภทเป็น ๒ ประเภทคือ พิมพ์มีเส้น และพิมพ์ไม่มีเส้น (นิยมเรียก พิมพ์เทวดา)
๑.พระงบน้ำอ้อยพิมพ์ใหญ่ ขนาดองค์พระกลมใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่โดยประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร ถึง ๓๗ มิลลิเมตร
๒.พระงบน้ำอ้อยพิมพ์กลาง ขนาดองค์พระกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง โดยประมาณ ๓๐ มิลลิเมตร
๓.พระงบน้ำอ้อยพิมพ์เล็ก ขนาดองค์พระกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง โดยประมาณ ๒๐ มิลลิเมตร
|