(N)
ที่มา ---- http://board.postjung.com/864143.html
หลวงปู่ป่วน ถิรธัมโม วัดช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สิริอายุ 93 ปี พ.ศ. 2558
หลวงปู่ป่วน ถิรธัมโม แห่งวัดช้างน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแก่กล้าในพลังจิตพุทธาคม ศิษย์ก้นกุฏิสืบสายธรรมจากหลวงปู่เปลี่ยน วัดช้างน้อย , หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองกรุงเก่าในอดีต ปัจจุบัน หลวงปู่ป่วน สิริอายุ 93 ปี
เมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งเก่าและใหม่จำนวนมาก สืบสานพุทธาคมจากรุ่น สู่รุ่น หลวงปู่ป่วน ถิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดอนุกุลชราราราม(วัดช้างน้อย) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนานของชุมชนบางไทรเนื่องจากศีลาจารวัตรที่งดงามบริบูรณ์ประกอบกับความเมตตากรุณาอันเป็นที่หนึ่งของบ้านบางไทร ใครต่อใครมาขออะไรก็แล้วแต่...ล้วนไม่มีใครที่ไม่ได้รับความเมตตากลับไป เมื่อกลับไปแล้วประสบความสำเร็จ....จะกลับมาเป็นศิษย์ก้นกุฏิกันทุกราย
นอกจากนี้ การให้พร การเป่ากระหม่อมก็ดี การทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ก็ดี ด้วยวาจาอันศักดิ์สิทธิ์จากจิตที่ตั้งมั่น เกือบทุกคนพูดกันหนาหูว่า หลวงปู่ทำให้ล้วนโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม
หลวงปู่ป่วน วัดอนุกุญชราราม(วัดช้างน้อย) มีนามเดิมว่า ป่วน จิตกระแสร์ เกิดวันเสาร์ เดือน พฤศจิกายน ปี 2465 ที่ ต.ช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา-มารดา ชื่อ นายเติม และ นางเล็ก จิตกระแสร์ มีพี่น้องร่วมอุทร 6 คน จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนวัดสิงห์ ในสมัยนั้นการศึกษายังไม่ค่อยเจริญ พออ่านออกเขียนได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนา
อายุ 20 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดช่างเหล็ก มีพระครูพิมพ์ วัดช่างเหล็ก จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อจง และหลวงพ่อนิล เป็นพระคู่สวด ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและวิทยาคมกับพระครูพิมพ์ วัดช่างเหล็ก เมื่อศึกษาจนหมดไส้หมดพุงแล้ว เพื่อให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงหลวงพ่อพิมพ์ท่านได้แนะให้ไปหา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในด้านสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูง จนบังเกิดดวงตาเห็นธรรม บวชได้ 1 พรรษาจำต้องลาสิกขาบท เพราะเกิดความเป็นห่วงบิดามารดาที่แก่เฒ่าที่ต้องทำนา
หลวงพ่อจง ท่านได้ให้ตะกรุดไว้ ภายภาคหน้ากรุงเก่าจะมีที่ยึดเหนี่ยวรับตะกรุดไว้..วิชาไม่ต้องไปหาที่ไหนอยู่ที่วัดช้างน้อยหมดแล้ว .... หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ดอกบัวจะเบ่งบานเต็มที่เมื่อแก่ตัว.. จากนั้นท่านมอบพระให้พร้อมกับมอบยันต์เกราะเพชร
หลังออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา จากนั้นจึงแต่งงานมีครอบครัว มีบุตร-ธิดารวมกัน 6 คน ช่วงที่ใช้ชีวิตฆราวาส หลวงปู่ท่านชอบเข้าวัดฟังธรรมไปช่วยงานวัดโน้นวัดนี้อยู่บ่อยๆ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก กับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านจะอยู่เนืองๆ และที่ได้รู้จักสนิทสนมมีการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ก็มี หลวงพ่อฟ้อน วัดบ้านพาด ผู้สำเร็จวิชาพลังเสือโคร่ง หลวงพ่อเชย วัดบางคล้า พระผู้มีดวงจิตใสดั่งแก้วมณี หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว หลวงพ่อทิม วัดพระขาว พระเกจิชื่อดัง
หลังจากนั้น หลวงปู่ป่วน ท่านตั้งใจจะบวชตลอดชีวิต ได้กลับมาอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2535 ณ วัดอนุกุญชราราม(วัดช้างน้อย) ต.ช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี พระครูวิจิตรนวกรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูโสภณบุญญาทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดำรง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ถิรธัมโม ภายหลังการอุปสมบท หลวงปู่ป่วนท่านตั้งใจพำนักอยู่วัดช้างน้อยเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่างๆที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในสมัยก่อนหลวงปู่เปลี่ยน อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างน้อย ชาวบ้านตลึงเห็นหลวงปู่เปลี่ยน เจริญสมาธิบนก้านกล้วย ต้นสูงท่วมหัว ทำตะกรุดปีละดอกทำเสร็จโยนข้ามแม่น้ำน้อยตะกรุดวิ่งข้ามแม่น้ำกลับมาตกที่ท่าน้ำหน้าวัดช้างน้อย หลวงปู่เปลี่ยนเป็นพระที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์โด่งดังไปทั่ว หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกท่านยังมาเป็นศิษย์ขอจำวัดที่วัดช้างน้อย เพื่อขอศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่เปลี่ยนอยู่หลายพรรษา
ด้วย ภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียร ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในด้านพระคันถธุระ วิปัสสนาธุระและวิชาอาคมที่ตกทอดลงมา โดยมองเห็นประโยชน์ในด้านการปฏิบัติ สามารถสอนชาวบ้านได้ การรักษาศีลอันมั่นคงไม่เคยตกหล่นแม้แต่ข้อเดียว และการให้ทานที่เป็นเลิศแก่สาธุชนที่มากราบไหว้ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย ต่อมาเมื่อพระครูโสภณบุญญาทรสิ้นบุญ ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช้างน้อยว่างลง ชาวบ้านต่างเห็นพ้อง ต้องกันว่า พระภิกษุป่วน มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงตาบ้าง หลวงพ่อบ้าง หลวงปู่บ้าง แล้วแต่จะเรียกท่าน ท่านมีอุปนิสัยไม่ค่อยพูดจา เวลามีใครมาสนทนาธรรมด้วย ท่านมักได้แต่ยิ้ม เออ...เออ แล้วจะอวยพรให้ ก่อนกลับทุกครั้ง
หลวงปู่ป่วน วัดช้างน้อย ได้รับการเรียกขานจากบรรดาศิษยานุศิษย์ที่ให้ความเคารพนับถือว่า "พระเกจิมากด้วยเมตตาแห่งแม่น้ำน้อย"
หลวงปู่ป่วน วัดช้างน้อย กับ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ท่านเคยไปวัดบ้านไร่งานมุทิตาจิตหลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์มามากมาย หลวงพ่อคูณ ท่านได้เดินมาจูงมือหลวงปู่ป่วน ไปฉันเพลด้วยกันเพียง ๒ รูป ต่างได้สนทนาธรรมเสมือนเคยเจอกันมานานแล้ว
กล่าวสำหรับ วัดอนุกุญชรารามหรือวัดช้างน้อย เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ ต.ช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอดีตวัดแห่งนี้มักมีฝูงช้างป่าน้อยใหญ่เข้ามาอาศัยใบบุญหลวงปู่เปลี่ยน ไม่มีใครกล้าจับ มีหลวงปู่เปลี่ยนองค์เดียวจับช้างได้ทั้งฝูง ทุกวันนี้ไม่มีช้างให้เห็นแล้ว นอกจากรูปปั้น ปูนปั้นที่เป็นตัวแทนให้เห็นเท่านั้น จึงเห็นเป็นวัดธรรมดาเหมือนวัดทั่วไป ภายในวัด มีพื้นที่บริเวณกว้างขวาง สำหรับให้ชาวบ้านได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
หลวงปู่ป่วนได้สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้น้อยมาก อาทิ เบี้ยเศรษฐี ตะกรุดกันภัย ตะกรุดสามกษัตริย์ มีดหมอชาตรี ขณะนี้กำลังจะมีการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก เพื่อให้ไว้เป็นตัวแทนและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ รายได้นำไปบูรณปฏิสังขรณ์ภายในวัดช้างน้อย
คติธรรมที่หลวงปู่ป่วนท่านมักจะมอบให้ญาติโยม ผิดน้อยบาปน้อย...ผิดมากบาปมาก..อยากมากผิดมาก..อยากน้อยผิดน้อย |
|