(N)
กรุงเทพโพลล์ เผย ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นต่อ ศก. ไทยใน 3 - 6 เดือนข้างหน้า ชี้ ศก. ไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนที่สุดรอบ 2 ปี ปัจจัยฟื้นตัวที่สำคัญ คือ การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวจากต่างชาติ การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทมากขึ้นใน 3 - 6 เดือนหน้า และ ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและปัจจุบันอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
วันนี้ (25ต.ค.) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 - 6 เดือนข้างหน้า โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 12 - 21 ตุลาคม 58 ที่ผ่านมา พบว่า
ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 31.69 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 28.94 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือนตุลาคม 56 อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 6.78) การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 14.41) และการบริโภคภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 12.71) ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 56.78 ซึ่งเป็นครั้งแรก (นับจากเดือนเมษายน 56) ที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำงานได้ดีโดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 67.80 แต่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (เดือนกรกฎาคม 58)
เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 67.39 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ 59.51) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 79.69 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน โดยดัชนีองค์ประกอบทั้งในระยะ 3 และ 6 เดือนข้างหน้าทุกดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอีก 3 - 6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และจะเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ร้อยละ 40.0 เห็นว่าอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว รองลงมาร้อยละ 25.0 เห็นว่า อยู่ที่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ ร้อยละ 18.3 เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย ขณะที่ร้อยละ 11.7 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ร้อยละ 1.7 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัว และไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงสูงสุด
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า
(1) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากที่สุดในรอบ 2 ปี
(2) ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทมากขึ้นใน 3 - 6 เดือนข้างหน้า
(3) เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและปัจจุบันอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว (Recovery) |