(D)
พระถ้ำเสือขึ้นหลายกรุในอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรีครับ ถ้าพูดถึงกรุเก่าก็จะหมายถึงกรุวัดเขาถ้ำเสือ และก็จะพบพระพิมพ์นี้ในกรุอื่นๆ บริเวณใกล้เคียงกันครับ เช่นกรุวัดหลวง กรุวัดเขาดีสัก กรุวัดเขาพระ เป็นต้น คำถามที่ว่าแต่ล่ะกรุต่างกันอย่างไร
กรุเขาถ้ำเสือ มีวรรณะออกแดงมะขามเปียก นับว่าเป็นกรุแรกที่ค้นพบ และเป็นที่มาของพระถ้ำเสือ คนโบราณนิยมมาก บางองค์มีการนำมาลงรักปิดทอง หลวงพ่อเนียมวัดน้อยก็ได้นำเอาพิมพ์พระนี้มาสร้างเป็นเนื้อตะกั๋ว แสดงว่าน่าจะมีการค้นพบกันมาเกือบร้อยปีมาแล้วครับ
กรุเขาพระ มีวรรณะออกเหลืองอมเทา ผิวพระหนึกนุ่น มีคราบของดินกรุ(มูลค้างคาว) คล้ายๆกันกับเขาถ้ำเสือ ค้นพบกันมานานแล้วเช่นกัน โดยปี 2465 หลวงพ่อเปี้ยน วัดโพธาราม อ.อู่ทอง ได้มาทำการบูรณะวัดเขาพระและได้สร้างพระพุทธไสยยาสน์ นามว่าหลวงพ่อสังฆ์ศรีสรรเพชญ์ ไว้ด้วย
กรุวัดเขาหลวงและกรุเขาวง มีวรรณะออกเหลืองอมแดง ผิวพระเกลี้ยงเกลามีคราบทรายละเอียดเล็กน้อย
กรุวัดเขาดีสลัก มีคราบกรุเป็นสีเทาอมดำเพราะพระพบอยู่ตามพื้นดินในถ้ำ ซึ่งมีส่วนผสมของมูลค้างคาวผสมอยู่ ส่วนพระพบอยู่ภายนอกถ้ำจะมีลักษณะผิวพรรณฟ่ามๆ เนื้อหยาบและเห็นกรวดทรายมาก ด้านหลังมีทั้งปาดเรียบและหลังนูนบางองค์มีปาดด้านข้างด้วย
(** ข้อมูลคัดจากบทความเรื่อง พระถ้ำเสือ โดย จ.ส.ต.ทวี วงษ์สิทธิ์ ตีพิมพ์ในหนังสือ คเณศพร ฉบับที่ 106,107,108,109,110 ประจำเดือน กค.-พย.2540**)
|