@@@พระธรรมสิทธิมงคล พ่อท่านฉิ้น โชติโก วัดเมืองยะลา
พระเกจิอาจารย์ธรรมทายาท-สหธรรมิก พระอาจารย์ทิมวัดช้างให้
เสาหลักกองทัพธรรมสามจังหวัดชายแดนใต้!!!
เรียบเรียงโดย ศุภักษร ลอยสุวรรณ์
พระธรรมสิทธิมงคล หรือ พ่อท่านฉิ้น โชติโก เจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดยะลา ผู้เป็นแม่ทัพธรรมค้ำจุนพระพุทธศาสนา เสริมสร้างสันติสุขให้กลับคืนสู่ดินแดนด้ามขวานทอง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์สายตรง หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และเป็นทั้งศิษย์และสหธรรมิกของ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างไห้ ต.ป่าไร่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
พ่อท่านฉิ้น โชติโก มีนามเดิมว่า ฉิ้น ทองกาวแก้ว ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2469 ณ บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 1 ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา
ชีวิตในวัยเยาว์ เมื่ออายุ 12 ปี ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวัดสามบ่อ ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา แต่พอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงได้ เนื่องจากฐานะความเป็นอยู่ของทางบ้านที่ค่อนข้างยากจน มีภาระต้องใช้จ่ายมาก
๏ การบรรพชาและการอุปสมบท
แต่ด้วยมีใจใฝ่ศึกษาหาความรู้เสริมเป็นมงคลชีวิต ทำให้ท่านเบนเข็มชีวิต สละชีวิตทางโลกมุ่งสู่ร่มธรรมแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบรรพชาเป็นสามเณร ณ พัทธสีมาวัดสามบ่อ ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 โดยมี พระครูปทุมธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดสามบ่อ เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้เริ่มต้นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ในสำนักเรียนจังหวัดสงขลา พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ.2488 ออกเดินทางไปศึกษาต่อที่วัดพุทธภูมิ อ.เมืองจ.ยะลา จนกระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยวิธีญัตติกรรม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2490 ณ พัทธสีมาวัดสามบ่อ จ.สงขลา โดยมี พระครูปทุมธรรมธารี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอธิการคำ วัดสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า โชติโก ซึ่งแปลว่า ผู้มีธรรมอันเจริญรุ่งเรือง
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาศึกษาเล่าเรียนอยู่จำพรรษาที่วัดพุทธภูมิดังเดิม
พ.ศ.2492 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักวัดพุทธภูมิ อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมกับเริ่มงานรับภารกิจคณะสงฆ์ในการอบรมข้าราชการใน อ.รามัน จ.ยะลา
พ.ศ.2494 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค จากสำนักวัดพุทธภูมิ อ.เมือง จ.ยะลา ในปีเดียวกันนั้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพุทธภูมิ และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนไปด้วย
การก่อสร้างวัดเมืองยะลา
ในปี พ.ศ.2495 สืบเนื่องจากทางจังหวัดยะลา ได้มีการย้ายสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แทนหลังเดิม เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีจึงสมควรสร้างวัดในพระพุทธศาสนาไว้คู่กัน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน 11174 จำนวนเนื้อที่ 55 ไร่ 51 งาน 12 ตารางวา ให้เป็นที่ตั้งวัด
การก่อสร้างวัดเมืองยะลา จึงเริ่มขึ้นในกาลต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2502 คณะกรรมการฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในจังหวัดยะลา ประกอบด้วย พระราชปัญญารังษี (หลวงพ่อเนื่อง ธัมมจักโก) วัดนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, พระมหาฉิ้น โชติโก ขณะนั้นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสุนทรประชาราม อ.รามัน จ.ยะลา และรักษาการเจ้าคณะตำบลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมสิทธิมงคล), นายย้อย เปรมไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายสุบรรณ จันทรสถิตย์ สรรพากรจังหวัด, พลตำรวจตรีพงศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายสาลี่ กูลณรงค์ นายกเทศมนตรี และนายเจริญ จันทรสุวรรณ คหบดี เป็นคณะเริ่มต้นในการหักร้างถางพงป่าดำเนินการก่อสร้างวัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น
หลังจากนั้นอีก 4 ปี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2506 กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศแต่งตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัด มีชื่อว่า วัดเมืองยะลา ที่ได้นามเช่นนี้เพื่อให้เป็นวัดที่สร้างคู่บ้านคู่เมือง และอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา ครั้นต่อมาใน พ.ศ.2507 พระมหาฉิ้น โชติโก ได้รับตราตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา เป็นรูปแรก รวมทั้ง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อาณาเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร เป็นวัดอันดับที่ 127 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2508
วัดเมืองยะลา ตั้งอยู่ในเทศบาลเมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ติดริมถนนสุขยางค์ที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย บัดนี้ได้พัฒนาจนเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยมีอายุครบ 50 ปีในปีพุทธศักราช 2552 โดยเป็นวัดที่ได้รับความอุปถัมภ์อุปัฏฐากจากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เสนาสนะสิ่งก่อสร้างบริเวณวัดมีอาณาเขตที่ชัดเจน ทัศนียภาพภายในวัดดูร่มรื่นเย็นใจ สวยงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและวัดพัฒนาดีเด่น สมกับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดยะลา
ศาสนวัตถุที่สำคัญของวัดเมืองยะลา อาทิเช่น อุโบสถ, พระพุทธิชัยลาภมงคล พระประธานในอุโบสถ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามบัญญัติ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พระมหากัจจายนเถระ ขนาดองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง หน้าตักกว้าง 6.30 เมตร สูงทั้งองค์และฐาน 10.70 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2505 ในปีต่อมา พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดวงพระเนตรพระมหากัจจายนเถระ วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแห่งองค์พระอริยสาวก เป็นอุบายธรรมให้ผู้คนที่ได้พบเห็นกราบไหว้สักการบูชาน้อมรำลึกเป็นสังฆานุสติ และเป็นศรีสง่าคู่วัดคู่เมืองยะลา
๏ ลำดับงานการปกครอง
พ.ศ.2494 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพุทธภูมิ
พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา
พ.ศ.2528 เป็นเจ้าคณะอำเภอเบตง-ธารโต จ.ยะลา
พ.ศ.2539 รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดยะลา
พ.ศ.2541 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดยะลา |
|