(N)
ประวัติพระครูเกษมธรรมสิริ(ครูบาวสิน เขมวโร)
พระครูเกษมธรรมสิริ เดิมชื่อ วสิน ทองหนุน เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๖ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ ปีชวด เกิดในครอบครัวชาวนา ท่านเป็นบุตรชายคนโตในตระกูลทองหนุน โยมบิดาชื่อนายสมร ทองหนุน โยมมารชื่อ นางลิ้ม ทองหนุน มีน้องสาว ๒ คน คือ คุณยุพิน ทองหนุน และคุณยุภาพร ทองหนุน
ครั้งเมื่อเป็นเด็ก เด็กชายสินมีความสนใจเรื่องไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ วิชาคาถาอาคมเป็นอย่างมาก เกินเด็กทั่วไปสนใจ และเมื่ออายุได้เพียง ๑๒ ขวบ เด็กชายสินได้ไปขอเรียนวิชาทำฝ้ายผูกแขนและมนต์พระอุปคุตกับหลวงพ่อเพียรพร ฐานคุตโร วัดบึงขุมเงิน ต.ขุมเงิน อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งในขณะนั้นหลวงพ่อเพียรพร วัดบ้านขุมเงินเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น และเด็กชายก็ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากหลวงพ่อเพียรพรเป็นพิเศษ หลวงพ่อเพียรพรจึงถ่ายทอดวิทยาคมให้อย่าเต็มที่และไม่มีปิดบังเลย จะนับว่าหลวงพ่อเพียรพรเป็นพระอาจารย์องค์แรกของครูบาสินก็ว่าได้ หลังจากจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว จึงไม่ได้เรียนต่อเพราะด้วยที่ครอบครัวเป็นชาวนาจึงต้องทำนาช่วยครอบครัวในขณะนั้น
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ เด็กชายสินขณะนั้นอายุ ๑๗ ปี ก็ไปทำนาช่วยบิดามารดาตามปกติ แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงเกิดความคิดว่าทำอย่างไรถึงจะหนีชีวิตลำบากในการทำนานี้ได้ เพราะการทำนานั้นมันแสนจะเหน็ดเหนื่อยและลำบากมาก จึงเกิดความคิดขึ้นว่าจะขอบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเข้าศึกษาธรรมะและหนีความลำบากนี้ให้ได้ จึงได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณรในปีนั้น โดยมีพระครูโสภณรัตนธรรม (หลวงพ่อหัตถ์ ธมฺมวโร) เป็นผู้บรรพชาให้
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเตาไห ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๒๗ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖ ปีระกา โดยมีพระครูโสภณรัตนธรรม(หัตถ์ ธมฺมวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูประภากรณ์กิตติวัฒน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระครูพัฒนธรรมกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดศรีฐานนอก ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ในพรรษาแรก และสอบนักธรรมเอกได้ในพรรษานั้น จากนั้นได้เริ่มออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆเพื่อแสวงหาโมกขธรรมและครูบาอาจารย์โดยเน้นไปทางภาคใต้เป็นหลัก พอธุดงค์ไปได้สักพักก็มีความตั้งใจไปธุดงค์ไปกราบนมัสการหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ วัดบางพระ จ.นครปฐม ซึ่งก็ได้พบหลวงพ่อเปิ่นตามเจตนาของตน หลวงพ่อเปิ่นเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงเลื่องลือในขณะนั้นแต่ท่านเป็นพระที่เมตตาสูงไม่แบ่งชั้นวรรณะ สมถะไม่ถือตัว หลวงพ่อเปิ่นได้ลงวิชานะหน้าทองและสอนพระคาถาบางบทให้ครูบาสินด้วยในขณะนั้น จากนั้นครูบาสินจึงได้เดินทางกลับจังหวัดยโสธร และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าอัมพวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร โดยมีพระราชมงคล(หลวงพ่อทัศนัย พุทธสิริ) เป็นเจ้าอาวาสและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยโสธรในขณะนั้น ครูบาสินได้อุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อทัศนัย เป็นเวลา ๓ พรรษาด้วยกัน จนเป็นที่ไว้ใจ หลวงพ่อทัศนัยจึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ โดยมีวิชาทำรกแมวและเคล็ดวิชาการทำรกแมว พระคาถาต่างๆให้แก่ครูบาสิน
ในขณะนั้นวัดศรีฐานนอกไม่มีเจ้าอาวาสดำรงตำแหน่ง ชาวบ้านศรีฐานจึงนิมนต์ครูบาสินให้มารักษาการแทนเจ้าอาวาส พอเข้าพรรษาที่ ๕ ครูบาสินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานนอก และได้ตำแหน่งพระสมุห์ในปีเดียวกันนั้นเอง จากนั้นความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในตัวครูบาสินยังไม่หมดไป ก็พยายามเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อศึกษาวิชาอาคม ไสยเวทย์ต่างๆ เพิ่มเติมอีก จึงได้มาพบกับพ่อครูกัท บ้านโพนสิม ต.ทุ่งมน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร จึงขอเรียนวิชาวิชาเสียพิษไฟ ซึ่งพ่อครูกัทมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่เชื่อถือมากของคนในละแวกหมู่บ้านนั้น จากนั้นได้พบกับพ่อครูแท่ง บ้านโพนสิมเช่นกัน (อดีตพระอาจารย์สวด)ซึ่งขณะนั้นพ่อครูแท่งได้สึกออกมาเป็นฆราวาสแล้ว ได้ศึกษาวิชาทำสีผึ้งน้ำพราย พระคาถาเรียก(ภูติ)พราย พระคาถาส่ง(ภูติ)พราย พระคาถาใช้(ภูติ)พราย พระคาถาปลุก(ภูติ)พราย และพระคาถาปราบ(ภูติ)พราย จากนั้นได้ยินชื่อเสียงของอาจารย์เปล่ง บุญยืน จอมขมังเวทย์แห่งท่าตูม จ.สุรินทร์ จึงได้เดินไปเพื่อหวังจะศึกษาวิชากับพ่อครูเปล่ง แต่พ่อครูเปล่งไม่ได้รับเป็นศิษย์ เพียงแต่บอกพระคาถาและเคล็ดวิชามาส่วนหนึ่ง และเคล็ดวิชาการทำกุมารทองจากไม้วัวลืมคอก จากนั้นจึงลาพ่อครูเปล่งเพื่อเดินทางไปหาหลวงพ่อเพชร ฐานะธมฺโม วัดสิงห์ทอง ต.ม่วงเฒ่า อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาวิชาปลุกเสกขุนแผน และวิชาปลุกเสกกุมารทอง วิชาปลุกเสกไม้หิ่งหาย(กันคุณไสย มนต์ดำ กันเขาใส่ กันเขาลอง) หลังจากได้สรรพวิชาจากหลวงพ่อเพชรตามเจตนารมณ์ตัวเองแล้วจึงได้เดินทางกลับวัดศรีฐานนอก
จากนั้นไม่นานก็ได้ยินชื่อพระเกจิแห่งความเมตตาของเมืองอุบล นั่นคือหลวงปู่สวน ฉนฺทโร วัดนาอุดม ต.คำหว้า อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี จึงได้เดินทางไปหาหลวงปู่สวนเพื่อหวังเพียงแค่ว่าให้ท่านจารตะกรุดให้ แต่พอไปถึงหลวงปู่สวนกับบอกว่าไม่เขียนให้หรอก ท่านเขียนเองก็ได้ ให้ท่านทำเอาเอง แล้วก็บอกพระคาถาที่ลงตะกรุดและเคล็ดการเขียนและเสกตะกรุดให้ครูบาสิน เพื่อให้ครูบาสินมาเขียนเอาเองและเสกเอง
จากนั้นก็กลับมาทำตะกรุดเองที่วัดศรีฐานนอก ตามคำบอกของหลวงปู่สวน จากนั้นไม่นานได้ไปขอขึ้นครูธรรมกับ ธรรมบุญทัน จำชื่อหมู่บ้านไม่ได้ จำได้แต่ธรรมบุญทันอยู่อำเภอกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ธรรมบุญทันได้ขึ้นธรรมให้ครูบาสินและสอนวิชาคงกระพัน วิชามหาอุดให้แก่ครูบาสิน และได้รับการประสิทธิ์วิชาเจิมรถจากพ่อธรรมเฮือง บ้านคูขาด ต.คูขาด อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พ่อธรรมเฮืองนี้ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระครูศรีสุตาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสงัดบ้านคูขาดและอดีตพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น
ในขณะนั้นเองครูบาสินได้เกิดอาพาธอย่างหนักหาใครรักษาไม่ได้ แม้แต่หมอเก่งๆในโรงพยบาลก็รักษาท่านไม่หาย ท่านจึงคิดจะเดินทางไปหาครูบาอาจารย์เพื่อให้ช่วยรักษาอาการอาพาธของท่านให้หายได้ จึงได้ยินว่าหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม วัดบ้านโนนแกด สามารถบอกวิธีรักษาและรักษาโรคที่หมอปัจจุบันรักษาไม่ได้ อาทิเช่น โรคกรรม ครูบาสินจึงได้เดินทางไปขอคำปรึกษาท่าน พอถึงที่วัดและหลวงปู่ได้เห็นครูบาสินนั้น หลวงปู่เกลี้ยงได้ทักขึ้นมาว่า ธรรมปลาแดก ไปเฮียนมาเฮ็ดหยัง เขาขึ้นต้นไม้กะมีแต่ขึ้นจากต้นไปหาปลาย ไสเจ้าไปขึ้นแต่ปลายลงมาต้น เอาไปคืนเขา ไปสึกออกสา คะซั่นข่อยกะซ่อยเจ้าบ่ได้ หลวงปู่เกลี้ยงบอกว่าถ้าจะเรียนธรรมให้มาเรียนธรรมกับหลวงปู่ จากนั้นครูบาสินก็ไปลาสึกธรรมกับพ่อครูบุญธรรม และมาเรียนวิชาธรรมโองการจักราวุธพระเจ้าห้าพระองค์ จากหลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม เป็นต้นมา และจากนั้นได้เรียนพระเวทย์ มนต์คาถาต่างๆจากหลวงปู่เกลี้ยง อาการอาพาธต่างๆของครูบาสินก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และจากนั้นครูบาสินก็คอยเขียนตะกรุดให้หลวงปู่เกลี้ยงยุคแรกๆ จนหลวงปู่เกลี้ยงกล่าวชมว่า ท่านสินเขียนอักขระได้สวยงามและเก่งมาก จากนั้นเป็นต้นมาครูบาสินก็ได้สร้างตะกรุด๙ดี๑๐ดี โดยใช้พระคาถาวิเศษของหลวงปู่เกลี้ยงในการทำตะกรุดนี้ จะเรียกว่าเป็นคนนำพระคาถาวิเศษ๙ดี๑๐ดีมาทำตะกรุดเป็นท่านแรกหรือเป็นเจ้าตำหรับก็ว่าได้ จากนั้นเวลาครูบาสินจะทำอะไรไม่ว่าจะเป็นตะกรุดหรือพระเครื่องก็ตามจะนำไปให้หลวงปู่เกลี้ยงปลุกเสกให้ก่อนตลอด ถือว่าเป็นศิษย์ไม่ลืมครู เป็นการไม่ประมาทบุญคุณครูก็ว่าได้ ครูบาสินกล่าวตลอดว่าพระคาถาหรือพระเวทย์ที่ได้เรียนกับหลวงปู่เกลี้ยงล้วนแล้วแต่เป็นของจริงทั้งสิ้น ใช้ได้ผลจริงทุกบท นี่เป็นคำกล่าวจากปากของครูบาสินที่กล่าวให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านฟังเป็นประจำ
จากนั้นไม่นานครูบาสินก็ได้มีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงปู่อิง โชติโญ วัดโคกทม ต.กันทรารมย์ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ตอนนั้นหลวงปู่อิงมีอายุร้อยกว่าปี ครูบาสินก็ได้ไปกราบนมัสการของเรียนวิชาทำขุนแผนและวิชามหาเสน่ห์จากท่าน ท่านก็เมตตาสอนให้แต่ได้ไม่กี่บท เพราะท่านอายุมากพูดเบาและฟังยาก
จนมาถึง พ.ศ.๒๕๔๕ ครูบาสินได้จัดสร้างวัตถุมงคลอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกคือ -ขุนแผนมนต์มาลาดอกไม้ ที่ได้รับการปลุกเสกอธิษฐานจิตจากพระเกจอคณาจารย์สมัยนั้น ดังนี้ หลวงปู่เกลี้ยง หลวงปู่เจียม หลวงปู่เครื่อง หลวงปู่หงส์ หลวงปู่ฤทธิ์ หลวงปู่คีรย์ ผู้ที่บูชาไปต่างได้รับประสบการณ์ด้านเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ มหาลาภ อย่างเป็นที่เลื่องลือและกล่าวถึงเป็นอย่างมาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ครูบาสินได้รับการแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ราชทินนามที่ พระครูเกษมธรรมสิริ
พ.ศ.๒๕๕๑ ท่านได้สร้างขุนแผนปลุกโหงพราย มวลสารผงพราย ๑,๓๐๐ ตน จนเป็นที่โด่งดังและกล่าวถึงมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยมวลสารอาถรรพณ์ชั้นครูและด้วยมนต์มหาเสน่ห์ที่ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน ครูบาสินได้ผนวกมนต์มหาเสน่ห์ทุกบทและเคล็ดวิชาทุกอาจารย์ลงมาหล่อหลอมใส่ไว้ขุนแผนปลุกโหงพรายรุ่นนี้อย่างเอกอุที่สุด จนทำให้เกิดประสบการณ์มากมายแก่ผู้ได้สัมผัสบูชา ว่าดีจริง มีตัวตนจริง ช่วยผู้บูชาครอบครองได้จริง
วัดศรีฐานนอกยังได้รับการอุปถัมภ์จากหลวงตาพวง สุขินฺทริโย วัดศรีธรรมมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร ในการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นถิ่นกำเนิด ปี๒๕๓๙ มีวัตถุมงคล อาทิ เหรียญหลวงตาพวง พระผงรูปเหมือนหลวงตาพวง ผ้ายันต์ เพื่อนำปัจจัยมาสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ณ วัดศรีฐานนอก และยังมีหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มอบปัจจัยให้วัดศรีฐานนอก เป็นปัจจัย ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท(สี่ล้านบาทถ้วน) เพื่อนำมาสร้างพระอุโบสถให้แล้วเสร็จ
ปัจจุบันพระครูเกษมธรรมสิริหรือครูบาสิน อายุ ๔๒ ปี ๒๒ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีฐานนอก ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ท่านยังพัฒนาวัดศรีฐานนอก ให้เจริญรุ่งเรื่อง มีถาวรวัตถุมากมาย ใครอยากทำบุญมีโอกาสได้ไปจังหวัดยโสธร แวะกราบนมัสการท่านได้ ท่านเป็นพระใจดีมีเมตตาสูงแก่ศิษยานุศิษย์ทุกท่าน ไม่แบ่งชั้นวรรณะ |