(N)
พระอาจารย์เถ่งวัดหนองกรับ
พระอาจารย์เถ่ง ฐิตคุโณ เจ้าคณะตำบลหนองบัวเขต 1 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันวัดหนองกรับ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ท่านมีศักดิ์เป็นเหลนแท้ๆของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ และเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อสิน วัดละหารใหญ่
ท่านเป็นชาวระยอง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.ค. 2502 โยมพ่อชื่อเจริญ สุขวารินทร์ โยมแม่ชื่อ บุญ งามศรี เป็นหลานแท้ๆของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ส่วนโยมตาเป็นพี่ชายหลวงปู่ทิม เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดละหารไร่ มี หลวงปู่ลัด วัดหนองกระบอก เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสิน วัดละหารใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเชย วัดละหารไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ฐิตคุโณ
หลังบวชแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดละหารไร่ 1 พรรษา แล้วไปจำพรรษาที่วัดละหารใหญ่อีก 38 พรรษา โดยศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนจบนักธรรมตรี,โท,เอก ตามลำดับ จบอภิธรรมมัชฌิมโท สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระอาจารย์เถ่งท่านเรียนวิชาจากโยมพ่อ (หลวงตาเจริญ สุขวารินทร์) ที่เป็นรองเจ้าอาวาสสมัยที่อยู่กับหลวงปู่ทิมเป็น 10 ปี ซึ่งท่านได้เรียนวิชาจากหลวงปู่ทิม และหลวงปู่แก้ว หลังจากนั้นโยมพ่อย้ายมาอยู่วัดละหารใหญ่ได้ถ่ายทอดวิชาของ 2 พระเกจิให้ท่าน ดังจะเห็นในปัจจุบันว่าทั้งวิชาพุทธาคม และการเขียนยันต์จะมีเอกลักษณ์เป็นของท่านเอง
ช่วงที่บวชเรียนอยู่วัดละหารใหญ่ 38 พรรษา ครูบาอาจารย์ที่ได้เรียนจากหลวงพ่อเพ่ง สาลโน อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ ศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ก็มาถ่ายทอดวิชาให้ นอกจากนี้ท่านยังเรียนวิชาหุงสีผึ้งจากลุงเย็น ศิษย์หลวงปู่ทิมและสัปเหร่อวัดละหารไร่ อีกทั้งสายหลวงปู่ทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้งด้วย จนมีความเชี่ยวชาญในวิชาหุงสีผึ้งเขียวตำรับหลวงปู่ทาบ
ท่านได้นำวิชาแขนงต่างๆมาช่วยเหลือญาติโยม และใช้ในการเดินธุดงค์ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และถ้ำวัวแดง จ.อุดรธานี รวมทั้งการปฏิบัติธรรมปริวาสกรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏเลยสักครั้งว่า มีเหตุร้ายและภยันตรายใดๆมารบกวนท่านในการปฏิบัติธรรม
ท่านส่งเสริมให้อุบาสก อุบาสิกา รักษาศีลทุกวันพระ นำพระภิกษุสงฆ์และสามเณรลงทำวัตรเช้า-เย็นไม่เคยขาด สวดมนต์นั่งสมาธิตั้งแต่ตีสี่เป็นกิจวัตร จนกระทั่งพรรษาที่ 38 ท่านได้รับตำแหน่งการปกครองจากคณะสงฆ์จังหวัดระยองให้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองกรับ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2560 ท่านก็เริ่มสานต่องานบูรณะพัฒนาวัดด้วยการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามสะอาดตา อาทิ ย้ายศาลา, สร้างกุฏิ เตรียมสร้างเมรุเผาศพหลังใหม่
ที่สำคัญคือ การก่อสร้างอุโบสถตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อสาคร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกรับ
หลังจากท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดหนองกรับก็มีเรื่องราวไม่น่าเชื่อเกี่ยวกับตำราต่างๆมาอยู่ที่ท่าน เช่น ช่วงที่มีการย้ายศาลาข้างซุ้มประตูวัด ท่านได้พบตำราหลวงพ่อสาครที่เขียนด้วยลายมือท่านเอง มีทั้งตำราพุทธาคม และตำรายาหลายเล่มอยู่ในตู้บนศาลา ทั้งๆที่หลวงพ่อสาครมรณภาพมาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีใครพบเห็นและเอาไป
วัตถุมงคลของพระอาจารย์เถิ่งหลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองกรับ ประกอบด้วยแพะมหาโภคทรัพย์ เหรียญเสมาไตรจักร}เหรียญรุ่นแรก ทรงหยดน้ำ,เหรียญพญาเต่าเรือน โดยนำรายได้มาสมทบทุนการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ที่ยังขาดทุนทรัพย์อีกมาก
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ก.ค. 2562 นี้ ตรงกับวันครบรอบอายุครบ 5 รอบ 60 ปี ของพระอาจารย์เถ่ง คณะกรรมการวัดและชาวบ้าน รวมทั้งลูกศิษย์จะจัดงานมุทิตาสักการะ มีการถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ โดย ทนายเริงฤทธ์ ชูเชิด ศิษย์ใกล้ชิดและคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนนั่งเต็มองค์ ที่ระลึกฉลองอายุครบ 5 รอบ และเครื่องรางหมูทองแดง ซึ่งจะแจกพร้อมผ้ายันต์ให้แก่ทุกท่านที่มาร่วมงาน
การจองเสมา 5 รอบ เปิดให้จองเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาเฉพาะในเฟสบุ๊ค ชมรมศิษย์พระอาจารย์เถ่ง วัดหนองกรับเท่านั้น โดยคุณเชิดชู เย็นสายสุข ปรากฎว่านาทีเดียว
ลูกศิษย์กดเข้ามาจอง 200 กว่าราย พระหมดต้องปิดจองภายใน 3 นาทีกว่า 400 ราย ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแค่ 5 วัน วัตถุมงคลเสมา 5 รอบ ราคาไปกว่าเท่าตัวทุกรายการแล้ว เพราะพระอาจารย์เถ่งเป็นพระที่ศีลดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระนักพัฒนา เป็นที่เคารพและศรัทธาของลูกศิษย์
วัตถุมงคลของท่านสร้างน้อย และเป็นที่นิยมมาก รุ่นแรกขึ้นกว่า 10 เท่าทุกรายการที่สำคัญคือหาคนขายไม่ได้ เป็นที่รักและหวงแหนของลูกศิษย์ทุกคนที่มีไว้ในครอบครองอย่างมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าเสมา 5 รอบคงตามรุ่นแรกไปติดๆแน่นอนครับ
ในส่วน พญาเต่าเรือน และปรกมะขาม ทั้งสองรุ่นก็แรงไม่แพ้กัน ไม่ต่ำกว่าสองเท่าของราคาที่ออกจากวัด จำนวนสร้างที่น้อย และ ด้วยเป็นงานพุทธศิลป์ ที่สวยงามระดับแนวหน้าของประเทศ ที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมวัตถุมงคลเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีผู้ศึกษาและสะสมที่เข้ามาในชมรมทุกวัน วัตถุมงคลของพระอาจารย์จึงมีราคาขยับขึ้นทุกวันตามกลไกตลาด แต่มีคนนำมาให้เช่าน้อยมาก เพราะต่างก็หวงแหนกัน |