ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : ของฝากจากภูเก็ต...ไปสักการะหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง..ครับ



(D)


หลวงพ่อแช่ม (พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี) อดีตเจ้าอาวาสวัดฉลอง ภูเก็ต ถึงแม้พระคุณท่านจะได้มรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ชื่อเสียงและเกียรติคุณของพระคุณท่านยังตรึงตราตรึงใจอยู่ในความทรงจำของชาวภูเก็ตและชาวไทยทั่วทุกภาค แม้แต่ประชาชนเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงยังให้ความเคารพเลื่อมใส ศรัทธายิ่ง ดุจดังเทพเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นานัปการ
เมื่อครั้งพระคุณท่านมีชีวิตอยู่มีผู้ศรัทธาและเลื่อมใสท่านมาก ถึงขนาดรุมกันปิดทองที่ตัวท่านจนแลดูเหลืองอร่ามไปทั้งร่างเฉกเช่นเดียวกับปิดทองพระพุทธรูปบูชา นับเป็นความแปลกประหลาดมัหศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
"วัดฉลอง"เป็นวัดที่มีมาแต่ก่อนเก่า จึงไม่มีท่านผู้ใดทราบประวัติความเป็นมาได้ละเอียดนัก วัดฉลองนี้ตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาและป่าละเมาะ ทางด้านเหนือของเกาะภูเก็ต ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7-8 กิโลเมตร ตามหลักฐานที่ปรากฎมีศาลาเก่าแก่อยู่หลังหนึ่งทางด้านทิศตะวันออก(ของวัดในปัจจุบันนี้) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระปฎิมา จากสภาพขององค์ท่าน นับว่า...เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาช้านานแล้ว จนไม่อาจคำนวณอายุที่แน่นอนได้ชาวบ้านฉลองและคนทั่วไป เรียกท่านว่า "พ่อท่านเจ้าวัด"
เจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรกท่านเป็นพระเถระองค์ใดนั้น ในประวัติได้บันทึกเอาไว้ ก็เลยไม่ทราบนามท่านเท่าที่ทราบมี "พ่อท่านเฒ่า" ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลององค์ก่อน "หลวงพ่อแช่ม" ท่านเป็นพระที่มีความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐานเป็นที่เลื่องลือ เมื่อ"ท่านพ่อเฒ่า" ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชราอาพาธ "หลวงพ่อแช่ม" ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อจาก "พ่อท่านเฒ่า" ต่อมา....ท่านได้รับพระราชทาานเลื่อนสมศักดิ์ว่าที่เป็น "พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาฌมุนี" ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต
และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนชื่อ "วัดฉลอง" เสียใหม่เป็น "วัดไชยธาราราม" แต่....ประชาชนโดยทั่วไปมักเรียกว่า "วัดฉลอง" เพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูมาก่อน
ชาติกำเนิด-ประวัติย่อ
"หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"(รัชกาลที่ 3) (นามโยมบิดา-มารดา ไม่ปรากฎในประวัติแม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้)
หลวงพ่อแช่ม ชาตะ พ.ศ.2370 มรณภาพ พ.ศ.2451พ่อแม่ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่
ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั้งบัดนี้ ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโผกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศรีษะเป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่
พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพง พระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุปโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลม พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้านแอบดูอยูในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไปในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่มโดยไม่มีเงื่อนไข
คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เองหลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานฌมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้นในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม
บารมีหลวงพ่อแช่ม
จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับกรุงเทพมหานคร ผ่านวัดๆหนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้น นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่ หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้านในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่มตอบว่าเมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน หลวงพ่อแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม เล่าว่า ตกตอนดึกคืนนั้น โจรป่ารวม 6 คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะคนอื่นๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มองค์เดียว พวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้สิ่งของส่วนมากบรรจุปิ๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร หลวงพ่อแช่มก็ห้ามมิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้านก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพทพวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืนหลวงพ่อแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจรส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป
ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้นต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย
การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพทต่างๆในครัวเรือนต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่มให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบรรดาลให้คลื่นลมสงบเถิดรอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่มคลื่นลมก็สงบ มาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพทอีก จะแก้อย่างไรในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอหลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุถาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ตนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรแผลงๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรง กินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้นเมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุกๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีก พ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับสอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชงัดการลุกลามต่อไป เป็นที่น่าประหลาด
หลวงพ่อแช่มมรณภาพในปี พ.ศ.2451 เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่มปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง 50 เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงินเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:50 น.]



โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:52 น.] #12844 (1/19)


(D)


มณทปที่ประดิษฐานรูปหล่อของท่านให้ประชาชนได้สักการะบูชา.....หน้าบันจะเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:53 น.] #12845 (2/19)


(D)


รูปหล่อด้านซ้ายมือ เป็น หลวงพ่อแช่ม

รูปหล่อองค์กลาง เป็นหลวงพ่อช่วง

รูปหล่อองค์ขวา เป็นหลวงพ่อเกลื้อมครับ

.....แต่ละวันจะมีประชาชนมากราบไหว้ บูชา ปิดทอง...พร้อมทั้งห่มผ้าเป็นจำนวนมาก

ด้านหลังจะเห็นเป็นห้องกระจกที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ดังที่เห็นในภาพครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:54 น.] #12846 (3/19)


(D)


โบสถ์หลังปัจจุบัน และที่จุดประทัดแก้บนครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:54 น.] #12847 (4/19)


(D)


กุฎิจำลองของพ่อท่านครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:55 น.] #12848 (5/19)


(D)


เปรียบเทียบกับกุฎิเก่าครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:56 น.] #12849 (6/19)


(D)


ด้านในประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อแช่มครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:57 น.] #12850 (7/19)


(D)


ด้านในประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อช่วงและหลวงพ่อเกลื้อมด้วยครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:58 น.] #12851 (8/19)


(D)


วิหารหลวงพ่อเจ้าวัด....หน้าบันจะเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑครับ...

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 14:59 น.] #12852 (9/19)


(D)
ภายในวิหารครับ...

องค์กลางเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาช้านานแล้ว จนไม่อาจคำนวณอายุที่แน่นอนได้ชาวบ้านฉลองและคนทั่วไป

เรียกท่านว่า "พ่อท่านเจ้าวัด" ด้านซ้ายขององค์ท่านมีรูปหล่อของชายชรานั่งถือตะบันหมาก ชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ส่วนด้านขวาของ "พ่อท่านเจ้าวัด" นั้น มีรูปหล่อเป็นยักษ์ถือกระบองแลดูน่ากลัว ชาวบ้านเรียกว่า "นนทรีย์" รูปหล่อทั้ง 3 องค์นี้ ท่านศักดิ์สิทธิ์นัก จนเป็นที่โจษขานกันมานานแล้ว

โดยเฉพาะตาขี้เหล็กที่คนนิยมไปขอหวยกันมาก..ถึงขนาดมีฉลากเบอร์เอาไว้ให้เขย่าครับ...บางท่านก็นิยมไปจุดบุหรี่ถวายให้ท่านสูบครับ...

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:00 น.] #12853 (10/19)


(D)


ด้านข้างๆของมณทปจะเป็นเสนาศาสน...ส่วนด้านหน้าของมณทปซ้ายและขวา จะมีรูปปั้นของช้างพลายแก้วและพลายขวัญครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:01 น.] #12854 (11/19)


(D)


พระมหาธาตุเจดีย์

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:02 น.] #12855 (12/19)


(D)


ชั้นล่างประดิษฐานพระประจำวันให้บูชากันครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:03 น.] #12856 (13/19)


(D)


ชั้นสองประดิษฐาน"พ่อท่านเจ้าวัด" จำลองจากในวิหารครับ...มีทั้งตาขี้เหล็กและท้าวนนทรีย์ ครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:05 น.] #12858 (14/19)


(D)


ชั้นสามประดิษฐานพระมหาธาตุครับ

ด้านบนจะเป็นสถูปแก้วใหญ่...ส่วนด้านล่างจะเป็นสถูปแก้วเล็ก จำนวน 9 องค์ รอบๆครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:09 น.] #12861 (15/19)


(D)


ภาพบริเวณวัดครับ

โดยคุณ Focus (337)  [ศ. 14 ต.ค. 2548 - 15:10 น.] #12863 (16/19)
เพื่อนๆท่านไหนที่แวะไปเที่ยวที่ภูเก็ต...อย่าลืมแวะนมัสการและขอพรจากท่านน๊ะครับ....ผมเองยังเคยไปบนบานท่านสมัยเรียนอยู่มหาลัยฯเลยครับ....ผลก็คือต้องกลับไปปิดทององค์ท่านแก้บนจนเมื่อยเลยครับ....

โดยคุณ pongdej (1.1K)  [ส. 15 ต.ค. 2548 - 13:49 น.] #12909 (17/19)
ขอบคุณ มากครับ

โดยคุณ spjpleoil (3.9K)  [ส. 15 ต.ค. 2548 - 14:44 น.] #12910 (18/19)
เยี่ยมเลยครับ คุณ FOCUS ผมเองเคยไปภูเก็ต 2-3 ครั้ง และก็แวะกราบหลวงพ่อด้วย แต่ไม่เคยได้ทัวร์ทั้งวัดแบบนี้เลยครับ.

โดยคุณ Focus (337)  [พ. 19 ต.ค. 2548 - 15:15 น.] #13243 (19/19)
ขอบคุณที่เยี่ยมชมครับ..

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1