ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : พระยอดธง

(D)
อยากทราบประวัติ พระยอดธงครับ รบกวนหนอ่ยครับ

โดยคุณ YANUBOL (142)(2)   [จ. 22 ต.ค. 2550 - 14:53 น.]



โดยคุณ wichean15 (6K)  [อ. 23 ต.ค. 2550 - 20:15 น.] #169883 (1/3)
พระยอดธง เป็นพระบูชาขนาดเล็ก
ที่เชื่อกันว่าใช้สำหรับประดับบน ยอดธงชัยเฉลิมพล
ที่นำหน้าออกรบในสงคราม จึงเรียกกันว่า พระยอดธง
ดังนั้นที่ใต้ฐานของ พระยอดธง จึงมีเดือยสั้นๆ
โผล่ออกมาไว้สำหรับเสียบบนยอดเสาธง แต่ก็มีบางคนบอกว่า
ไม่ใช่ เดือย ที่ว่านี้เป็นชนวนหล่อพระที่เหลืออยู่ ไม่ได้ตัดออก พระยอดธง เท่านั้นเอง
เป็นพระเครื่องแบบหนึ่งที่นิยมกันมาก เชื่อกันว่าใช้คุ้มครองป้องกันภัยได้เป็นเลิศ
ส่วนใหญ่จะสร้างในสมัยอยุธยา ด้วยเนื้อทองคำหรือเนื้อเงินและพระเกจิอาจารย์ที่สร้าง
พระยอดธง มักจะเป็นพระเกจิอาจารย์เชื้อสายรามัญเป็นส่วนใหญ่

พระยอดธงบางกะจะ เป็นพระที่รู้จักกันมานาน ตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้ากรุงธนบุรี
ตีฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยา มาแวะพักทัพที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่จะเข้า
ตีเมืองจันทบุรี ทหารทุกคนในกองทัพได้รับการประพรมน้ำมนต์
และรับพระยอดธงไว้คุ้มตัวให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติ พระยอดธง
ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ภายในวัดพลับ ในเวลาต่อมาเมื่อเจดีย์ทลายลง
จึงได้พบพระยอดธงเหล่านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ วัดพลับยังใช้เป็นที่ประกอบพิธีปลุกเสก
น้ำพระพุทธมนต์ซึ่งใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ จักรีทุกพระองค์
น้ำที่นำมาใช้ในพิธีดังกล่าวได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในเมืองจันทบุรีถึง 3 แห่ง
คือ น้ำจากถ้ำพระนารายณ์ ตำบล คลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี
น้ำจากสระแก้ว ในวัดสระแก้ว ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่
และแห่งสุดท้ายคือจากสระน้ำวัด พลับนี้เอง วัดพลับนี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบางกะจะเขตอำเภอท่าใหม่
ห่างจากตัวเมืองเพียง 8 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับที่ไปค่ายเนินวง

โดยคุณ wichean15 (6K)  [อ. 23 ต.ค. 2550 - 20:17 น.] #169885 (2/3)


(D)
พระยอดธงกรุวัดพระธาตุแหลมลี่ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างใสมัย
พระนางจามเทวีเป็นพระเครื่องที่มีอายุการสร้างยาวนานมากว่ากันว่า
เป็นศิลปะสมัยอยุธยาผสมศิลปะเชียงแสนมีอายุประมาณ 200 ปี
มีหลายเนื้อทั้งทอง เงิน ทองผสม ฯลฯ มีการขุดพบหลังจากที่ได้มีการบูรณะ
ปรับปรุงยกพระนอนชื่อพระเววาทภาษิตขึ้นจากพื้นดินก็พบพระยอดธงดังกล่าว
ประมาณ 30 กว่าปี มาแล้ว พบน้อยมากประมาณ ไม่เกิน 200 องค์
เพราะการพบน้อยจึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงเพราะหาไม่ค่อยได้แถมของปลอมเลียนแบก็มีมากด้วย
พุทธคุณดีเด่นด้าน แคล้วคลาด ครับ
รูปยืมท่านอื่นมานะครับ ขอขอบคุณ

โดยคุณ wichean15 (6K)  [อ. 23 ต.ค. 2550 - 20:25 น.] #169890 (3/3)
จากเวป คนรักมีด ครับ
ลองอ่านดู


พระยอดธง"พระเจ้าตาก" กรุวัดพลับ บางกะจะ จันทบุรี

พระเครื่อง เป็นประติมากรรมที่จำลองรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีขนาดเล็ก เพื่อสามารถนำติดตัวไปบูชา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ ความเป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องคุ้มครองภยันตรายต่างๆ รวมไปถึงการสืบพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า แต่ละเมือง แต่ละจังหวัดที่มี ประวัติศาสตร์อันยาวนานมักจะมีการสร้างพระเครื่องอันมี ศิลปะและเอกลักษณ์ของแต่ละเมืองไว้เป็นพุทธานุสรณ์ อาทิ เมืองลำพูนก็มี พระรอด พระคง ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย, พระซุ้มกอ เมืองกำแพงเพชร, พระหูยาน ลพบุรี หรือ พระร่วง เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย เป็นต้น

ทางด้านชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็มีของดีไม่น้อยหน้าเมืองใดโดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ดินแดนที่อุดมไปด้วย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ผลไม้หลากหลายชนิด แหล่งกำเนิดพลอย ที่โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นเมืองสำคัญที่มี บันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย นอกจากนี้ เมืองจันทบุรี ยังมีพระเครื่องอันโด่งดัง
ประจำจังหวัดอีกด้วย ที่รู้จักกันในนาม "พระยอดธง พระเจ้าตาก วัดพลับ บางกะจะ" ที่มาของ พระยอดธง พระเจ้าตาก วัดพลับ บางกะจะ มีที่มาเกี่ยวเนื่องกับ ประวัติศาสตร์การกู้ชาติของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อย่างไร ทำไมจึงเรียก พระยอดธง นี้ว่า พระยอดธงพระเจ้าตาก มีมูลเหตุดังนี้

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เข้ารับราชการทาง หัวเมืองเหนือ มีความดีความชอบจ นได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองตาก พุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่ากรีฑาทัพ มาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก ถูกเกณฑ์ลงมาช่วยรักษาพระนคร ได้เป็นผู้นำต่อสู้กับพม่า อย่างเข้มแข็ง รักษาพระนคร ไม่ให้พม่าบุกเข้ากรุงได้ มีความดีความชอบ ได้เลื่อนยศเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ถึงคราวชะตา บ้านเมืองถึงกาลวิบัติ จึงดลบันดาลให้ พระเจ้าเอกทัศน์ เกรงสนมกรม ในแก้วหูแตกมากกว่ากลัวจะเสียกรุง จึงออกคำสั่งว่า ผู้ใดจะยิงปืนใหญ่ต้อง ขออนุญาตจากศาลาลูกขุนเสียก่อน พระยาวชิรปราการ ซึ่งบัญชาการอยู่ทางด้านตะวันออก เห็นพม่ารุกไล่เข้ามา ก็ยิงปืนใหญ่ต่อสู้โดยพละการ ไม่ได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุน มีโจทย์ฟ้องแทบถูกลงโทษ แต่ด้วยเคยมีความดีความชอบมาก่อน จึงโดนภาคทัณฑ์ไว้ นับเป็นความโง่เขลาเบา ปัญญาของชนชั้นปกครองในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระยาวชิรปราการ เกิดความท้อแท้ และเล็งเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาคงจะแตกในไม่ช้า อยู่ต่อไปก็ไร้ประโยชน์ จึงได้รวบรวมสมัครพรรค พวกรวม ๕๐๐ คน ตีฝ่าทัพพม่าออกไป
ทางด้านตะวันออก พม่าได้ส่งทหารจำนวน ๒,๐๐๐ คน ออกติดตามไปทันกัน ที่บ้านโพธิสังหาร พระยาตากและ พรรคพวกก็ต่อสู้เป็นสามารถ ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตาย เป็นจำนวนมาก จากนั้นได้พาไพร่พลไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านพรานนก และได้รบกับพม่าที่ดงศรีมหาโพธิ์ จนได้รับชัยชนะอีกครั้ง และออกเดินทางไปจนถึงเมืองปราจีนบุรี ตลอดทางที่ผ่านราษฎรที่ทราบข่าว จึงพากันมาขอเป็นสมัครพรรคพวกจำนวนมาก พระยาตาก ยกทัพลงไปถึงเมืองจันทบุรี แต่ พระยาจันทบุรี ไม่ยอมอ่อนน้อม กลับปิดประตูเมืองสั่งทหารเข้าประจำหน้าที่ ทำการป้องกันอย่างเข้มแข็ง พระยาตากได้ล้อมเมืองจันทบุรี อยู่เป็นเวลานานยังไม่สามารถหักเอาเมืองได้ ทางฝ่ายพระยาจันทบุรีถึงแม้จะมีไพร่พลมากกว่า แต่ก็มิกล้านำพลออกรบเพราะครั่นคร้ามต่อกิตติศัพท์ด้านการรบของทัพพระยาตาก สืบต่อมาวันหนึ่ง หลังจากทหารหุงข้าวเย็นกินกันเป็นที่เรียบร้อย จึงมีบัญชาให้ทหารทุบหม้อข้าวและ เทอาหารที่เหลืออยู่ทั้งหมดทิ้งเสีย แล้วกล่าวว่า ถ้าไม่สามารถบุกเข้ายึด เมืองจันทบุรีในคืนนี้ให้ได้ ก็มีหวังอดตายด้วยกัน ...นับเป็นกุศโลบายอันลึกล้ำและเลื่องลือมาจนกระทั่งทุกวันนี้ พอย่ำค่ำ พระยาตากจึงให้ทหารเข้าประจำหน้าที่คอยฟังสัญญาณปืน ทำการเข้าปล้นเมืองเมื่อได้เวลายามสาม พระยาตากขี่ช้างชื่อ ช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนเป็นสัญญาณเข้าปล้นเมืองพร้อมกัน พระยาตากขับช้างเข้าพังประตูเมือง ข้าศึกยิงกระสุนต่อต้าน ท้ายช้างกลัวพระยาตาก จะเป็นอันตรายจึงบังคับช้างให้ถอยออกมา พระยาตากโกรธมากชักดาบ จะฆ่าท้ายช้างให้ตาย แต่ท้ายช้างขอชีวิตไว้ จึงขับช้างเข้าพังประตูทลายลง ทหารก็กรูเข้าเมืองได้ ชาวเมืองพากันแตกตื่นตกใจ ไม่คิดต่อสู้ขัดขืน ...
พระยาตากจึงสามารถตีเมืองจันทบุรีได้ในคืนนั้น หลังจากนั้น พระยาตากจึงเกลี้ยกล่อมให้ผู้คนที่แตกตื่นหนีภัย ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ทำการจัดเมืองจันทบุรีให้สงบเรียบร้อย จึงได้รวบรวมไพร่พล ฝึกกองทัพให้กล้าแข็ง และต่อเรือไว้ใช้ในการศึกเตรียมการกู้อิสรภาพ

พระยาตาก เป็นผู้ที่เลื่อมใสและ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งถึงแม้จะมีภาระในการปกครองบ้านเมือง ก็มิได้ลืมทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา โดยจะเห็นได้จากการไปปราบก๊ก พระยานครศรีธรรมราช เวลากลับได้สั่งให้นำ พระไตรปิฎก มาคัดลอกไว้ แล้วส่งต้นฉบับคืน
ณ ตำบลบางกะจะ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี อันเป็นบริเวณที่พระยาตาก ส้องสุมรี้พลต่อเรือรบ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานป้อมค่ายต่างๆ ใต้บริเวณดังกล่าว เป็นที่ตั้งวัดสำคัญ เรียกกันว่า วัดพลับ กล่าวกันว่า เป็นวัดที่พระยาตากได้สร้างพระเจดีย์และ บรรจุพระเครื่องชนิดหนึ่งไว้เป็นพุทธานุสรณ์ ในการที่รบได้ชัยชนะพระเครื่องดังกล่าวนิยมเรียกว่า "พระยอดธงพระเจ้าตาก"

พระยอดธงพระเจ้าตาก เป็นพระหล่อแบบโบราณ พุทธลักษณะองค์พระเป็น แบบลอยองค์ประทับนั่งไม่มีอาสนะหรือฐาน มีทั้งแบบปางมารวิชัยและปางสมาธิ ที่ใต้องค์พระจะปลายกฏเดือยลักษณะเป็นแท่งกลมยื่นออกมาพอประมาณ รายละเอียดขององค์พระไม่ค่อยจะมีความประณีตงดงามนัก พระเนตร (ตา) พระนาสิก (จมูก) ไม่ค่อยติดชัดเจนพอเห็นเป็นเค้าเท่านั้น ส่วนพระโอษฐ์จะเป็นเหมือนรอยเส้นเว้าลึกลงไปในเนื้อ เท่าที่พบมี ๒ ขนาดด้วยกันคือ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก ในด้านเนื้อหาของ พระยอดธงพระเจ้าตาก นี้
เป็นพระที่สร้างด้วยเนื้อชินเงิน แต่ส่วนมากผิวพระจะเกิดสนิมขุมกัดกร่อน มีรอยร้าวระเบิดแตกปริ สนิมจัดที่เรียกกันว่าสนิมตีนกานับเป็นพระเครื่องที่น่าภาคภูมิใจของจังหวัดจันทบุรีอีกพิมพ์หนึ่ง

ประวัติวัดพลับ บางกะจะ จันทบุรี

วัดพลับ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกะจะ อ.เมือง เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า พื้นที่ชุมชนวัดพลับและบ้านบางกะจะ เป็นชุมชนโบราณ คงมีอายุในราว พ.ศ. 2300 วัดนี้นามเดิมว่า "วัดสุวรรณตัมพรุธาราม" แปลว่าอารามที่มีผลมะพลับทองเนื่องจากมีต้นมะพลับสาขา ใหญ่โต เมื่อเวลามีผลสุกจะเหลืองอร่ามเหมือนสีทอง ต่อมาประชาชนนิยมเรียกว่า "วัดพลับ"
เป็นบริเวณที่กองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชได้ใช้พักไพร่พล สิ่งก่อสร้างในวัดมีด้วยกันหลายสมัย มีสิ่งสำคัญคือ ตู้พระไตรปิฏกไม้ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำ ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย เจดีย์ทรงปรางค์
หอไตรกลางน้ำซึ่งสร้างเป็นอาคารไม้เสารองรับหลังคาเป็นของเดิม มีเขียนลายรดน้ำปิดทอง อายุเก่ากว่าสมัยก่อนอยุธยา เจดีย์กลางน้ำเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบ รัตนโกสินทร์ วิหารไม้หลังคาทรงจตุรมุขที่มีอายุนับร้อยปี ภายในประดิษฐานพระประธานปางทุกรกิริยา ซึ่งแตกต่างจากวัดทั่วไปตรงที่มักจะมีพระประธานปางมารวิชัย วิหารนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเสด็จเมืองจันทบุรีและพระอุโบสถแห่งนี้ยังเคยใช้เป็นสถานที่ปลุกเสกมุรธาภิเษกหรือน้ำพระพุทธมนต์สำหรับรดพระเศียรในงานราชาภิเษกของพระมหากษัติย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ในสมัยต้นราชวงศ์จักรี ด้านหลังวัดเคยมี " สำซ่าง "ซึ่งเป็นที่เผาศพแบบโบราณ ที่เชื่อว่าเหลืออยู่ที่วัดนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในเจดีย์วัดพลับนี้ มีพระยอดธงบรรจุอยู่ ต่อมาเจดีย์ได้แตกออกปรากฎว่ามีพระยอดธงเป็น จำนวนมากซึ่งมีอภินิหารป้องกันภัยได้ทั้งภาคพื้นดินและอากาศรวมถึงในน้ำ จนหมู่นักเลงพระกล่าวขานขนานนามว่าพระยอดธงดีต้องพระยอดธงพระเจ้าตากของ วัดพลับ บางกะจะ ( ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันที่ 3 มิถุนายน 2546 )

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1