ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : ครูบาอินโต พระภาวนาธิคุณ วัดบุญยืน จ.พะเยา

(D)
พระครูภาวนาธิคุณ (ครูบาอินโต คนฺธํวโส)

พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ในจิตใจของชาวเมืองพะเยา ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการเจ้าคณะตำบล ๒ สมัย และเจ้าคณะอำเภอพะเยา จ.เชียงราย ท่านเป็นผู้ทรงพุทธเวทย์อันแกร่งกล้า มีความชำนาญในทางเวทย์มนต์คาถาต่างๆ และทำน้ำมนต์ได้ศักดิ์สิทธิ์นัก น้ำมนต์ท่านประพรมให้แก่ผู้ประสบโรคาพาธภัยพิบัติต่างๆ นานาให้แคล้วคลาด ผู้ที่ได้รับน้ำพุทธมนต์ของท่านจะมีความสุขกายสบายใจกันถ้วนหน้า ท่านรับรักษาบรรเทาทุกข์ภัยโดยไม่เลือกชั้นวรรณะและไม่เรียกร้องสิ่งใดๆ เป็นการตอบแทน ท่านให้ด้วยความเต็มใจให้ด้วยเมตตากับผู้ที่ทุกข์ร้อนเสมอเหมือนกันหมด แม้ในปั้นปลายของท่านแม้จะชราภาพและมีโรคประจำตัวแล้วท่านก็ยังมีเมตตาทำน้ำมนต์เสกเป่าให้ญาติโยมที่มีมาหาท่านทุกคน ด้วยวัยชราและโรคประจำตัว โรคมาติซั่มแล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนอีก คณะแพทย์โรงพยาบาลพะเยา-เชียงราย พยายามช่วยเหลือท่านอย่างสุดความสามารถ ท่านได้มรณภาพในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๒๐ ณ วัดบุญยืน ด้วยความเศร้าเสียใจยิ่งของปวงชน สิริอายุรวม ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๒ ครูบาอินโตท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘ ปีวอก เป็นบุตรของนายตา-นางคำ ยาเจริญ บ้านต๊ำเหล่า ต.สันนกกก อ.พะเยาจ.เชียงราย มีพี่น้อง ๘ คน ท่านเป็นคนที่ ๓ มีชื่อว่านายบุญมี ยาเจริญ
การศึกษา เมื่อเด็กชายบุญมี ยาเจริญ อายุได้ ๑๐ ปี ได้เข้าเรียนหนังสือพื้นเมืองกับเจ้าอาวาสวัดต๊ำเหล่า และได้เป็นศิษย์วัดตั้งใจเล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ภาษาพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี เมื่อมีอายุครบ ๑๒ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๕๑ ฉายาว่า “อินตะหรืออินโต” และได้ศึกษาพระธรรมวินัย สนใจในการแพทย์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเทศน์ธรรมมหาราช ชูชก ฯลฯ จนเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดต๊ำเหล่า เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๕๙ เวลา ๑๑.๐๐ น. ได้ฉายาว่า “คันธวังโส” โดยมีพระอภิวงศ์ อภิวังโส วัดต๋อมใต้เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปัญโญ วัดต๊ำม่อน เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระชัยลังกา วัดต๋อมดงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ไปศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยที่วัดศรีบุญเรือง จ.ลำปาง และปี พ.ศ.๒๔๖๑ ไปศึกษาต่อที่เชียงใหม่และสอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ กลับมายังบ้านเดิม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต๊ำเหล่า ต่อมาจนปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัฌาย์ ควบคุมการบรรพชาอุปสมบทถึง ๓ ตำบล จากนั้นในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้ย้ายมาพำนักที่วัดบุญยืนเป็นครั้งคราว ขณะเดียวกันตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพะเยาว่างลง คณะสงฆ์อำเภอพะเยาจึงมีมติให้ท่านครูบาอินโตเป็นเจ้าคณะ แต่ท่านไม่พึงที่จะรับตำแหน่งมากนัก แต่ครั้นเมื่อรับแล้วจึงย้ายมาสังกัดยังวัดบุญยืนเป็นการถาวรในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่ “พระครูภาวนาธิคุณ” เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๖
ท่านพระครูภาวนาธิคุณ ได้ทำนุบำรุงสถานที่ต่างๆ มากมาย กระทั่งสถานที่ศึกษาเล่าเรียนแล้ว ท่านยังจัดสร้างวัตถุมงคลและพระเครื่องพระบูชา เหรียญบูชา รูปหล่อ พระผง พระยอดขุนพล พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ ฯลฯ และวัตถุมงคลของท่านล้วนแล้วมีประสบการณ์สูงแทบทั้งสิ้น เด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรีเป็นที่นิยมของชาวเมืองเหนือและพุทธศาสนิกชนมากมาย ผู้ที่คอบครองมักจะหวงแหนไม่ค่อยออกมาให้ชมให้เห็นกันเท่าไรนัก

หลังจากได้ยินชาวบ้านรำลือกัน จนอดใจไว้ไม่ได้ที่อยากจะสืบหารายละเอียดของท่านครูบาอินโตว่าทำไมถึงมีพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นและยังมีในที่ไกลไปยังภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เคารพนับถือท่าน จนกระทั่งวัตถุมงคลของครูบาอินโตหมดไปจากวัดบุญยืนในระยะเวลาอันสั้น เสาะหาทั้งกรรมการวัดรุ่นก่อนๆ ที่อยู่ในพิธีกรรม ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่ท่านก็ได้รับข้อมูลมาบ้างตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่กว่าจะเสาะหาวัตถุมงคลของท่านมาได้แต่ละองค์ต้องใช้เวลามากเหลือเกินกว่าจะนิมนต์มาได้ แต่ยังต้องเสาะหาเพิ่มเติมว่าท่านเป็นใครมาจากไหนกัน จนกระทั่งไปพบข้อความหนึ่งของ “ล้านนาคดี” จึงใคร่ขออนุญาตท่านในครั้งนี้ด้วยที่จะขอเผยแพร่ข้อความเพื่อเป็นวิทยาทานแด่อนุชนรุ่นหลังต่อไปซึ่งข้อความดังกล่าวมีสาระประโยชน์มากมายแล้วแต่ว่าจะพิจารณาทางด้านไหนก็ตาม โดยคัดลอกข้อความ ดังนี้

จังหวัดพะเยา
วัดป่าแดงบุญนาค หรือ วัดป่าแดงดอนไชยบุญนาค
วัดป่าแดงบุญนาค หรือ วัดป่าแดงดอนไชยบุญนาค ตั้งอยู่เลขที่ ๖๑ บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๖๕ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดป่าแดงบุญนาค เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดพะเยา ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดแรกที่มีการทานก๋วยสลากหรือประเพณีสลากภัต มีประวัติความเป็นมาว่าแต่เดิมวัดป่าแดง (ดอนไชยบุญนาค) เป็น ๒ วัดแยกจากกัน คือวัดป่าแดงหลวงหรือวัดป่าแดงดอนไชยวัดหนึ่ง และวัดบุญนาคอีกวัดหนึ่ง โดยวัดทั้งสองตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนและมีอาณาเขตติดต่อกันตามตำนานที่พระธรรมวิมลโมลีได้เรียบเรียงไว้เป็นประวัติของวัด สรุปความได้ว่าวัดป่าแดงดอนไชยกับวัดบุนนาคเป็นพี่น้องกัน ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ ๕ เส้น โดยวัดป่าแดงหลวงดอนไชยอยู่ทิศเหนือ วัดบุนนาคอยู่ทางทิศใต้ นอกจากนี้เจดีย์เก่าแก่ที่วัดบุญนาคยังมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่แบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐยกสูงตอนบน เหนือฐานแปดเหลี่ยมขึ้นไปก่อด้วยหินทราย บริเวณที่ตั้งองค์เจดีย์ของวัดบุญนาค ไม่มีพระสงฆ์ มีแต่ซากโบสถ์ สำหรับที่วัดป่าแดงซึ่งมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในบริเวณวัด มีมูลดินและซากโบราณสถานอันอาจจะเป็นเจดีย์หรืออาคารโบราณสถานจำนวน ๒๕ ตำแหน่ง ซากวิหาร ซากแนวกำแพงและเจดีย์ ซึ่งล้วนแต่มีองค์ประกอบแบบศิลปะสุโขทัย (นอกจากนี้จากศิลาจารึก พย. ๙ ที่ค้นพบบริเวณเจดีย์ทรงสุโขทัยซึ่งจารึกขึ้นเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เรียกชื่อวัดนี้ว่า “ วัดพญาร่วง ” สร้างโดยพระญายุธิษฐิระ กษัตริยะเมืองพะเยา ในปี พ.ศ. ๒๐๐๑ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในระยะเวลาก่อนหน้านั้น หากดูประกอบกับลักษณะแบบแผนขององค์เจดีย์แบบสุโขทัยแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้คงจะสร้างขึ้นในสมัยที่พระญายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งอพยพมาอยู่กับฝ่ายล้านนาและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยาเมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑)
ตามตำนานวัดป่าแดงบุญนาคได้กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาลก่อนพุทธนิพพาน ๗ ปี ในวันเดือน ๘ เหนือ แรม ๖ ค่ำ ณ สวนป่าแห่งหนึ่งในชมพูทวีปชื่อว่า “ เมืองพะเยา ” มีสระน้ำหนองอุบล (หนองเอี้ยง) ปัจจุบันเรียกว่า “ กว๊านพะเยา ” พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่นี้ พร้อมกับพระอานนท์ ขณะนั้นมีชาย ๒ คน กำลังเก็บมะม่วงมาถวายเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า พระองค์ได้เมตตาให้พระพรและมอบเกศา ๒ เส้น ให้แก่พระอานนท์พร้อมกับตรัสว่าให้นำไปบรรจุในอุโมงค์ ๒ แห่ง คือ บริเวณดอนป่าไม้แดงที่หนึ่งและที่ดอนป่าไม้บุนนาคที่หนึ่ง ต่อมา พระยาอโศกและพระอินทร์ได้นำเกศาลงบรรจุในโกศแก้ว โกศทองคำและโกศหิน จากนั้นพระอินทร์ได้เนรมิตอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือและทิศใต้ ทิศละ ๑ ลูก ลึก ๗๐ วา แล้วนิมนต์เกศธาตุเจ้า สถิตไว้ในปราสาททั้ง ๒ เมื่อเนรมิตแผ่นหินขนาดใหญ่และปิดด้วยอิฐทองคำเหนือแผ่นหินนั้น รวมทั้งก่อเจดีย์ครอบสูง ๖ ศอกแล้ว พระอินทร์ได้สั่งให้เทวบุตรชื่อเมฆเทโวและวลาหโก เป็นผู้รักษาพระเกศธาตุเจ้า ณ ที่นั้น นอกจากนี้ พระพุทธองค์ได้สั่งพระอานนท์ไว้ว่า หากพระองค์เสด็จนิพพานแล้ว ให้เอาพระธาตุกกหูขวาและกกหูซ้ายมาบรรจุไว้ใกล้ๆ กับเกศธาตุ อีกทั้งชายสองคนที่ได้ถวายมะม่วงเป็นทานแก่พระองค์ก็จะได้ไปเกิดเป็นลูกพระยาสุรรณภูมิ (เมืองสุวรรณภูมิ คือ เมืองเชียงแสนในปัจจุบัน) ผู้พี่จะมีชื่อว่า อาทิจจราช ผู้น้องจะมีชื่อว่า จันทราช ทั้งสองจะได้มาครองเมืองพะเยา อีกทั้งผู้พี่จะมาสร้างพระเจดีย์วิหารหลังเหนือชื่อว่าพระธาตุเจ้าป่าแดงหลวงดอนไชย สำหรับผู้น้องจะสร้างพระธาตุเจ้ารัตนบุนนาคแก้วชัยปราการ ภายหลังเมืองนี้จะกลายเป็นเมืองร้าง พระเจดีย์ก็จะผุพังไปจนกว่าผู้มีบุญสมภารแก่กล้ามาจากทิศใต้ จะมาปฏิสังขรณ์พระเจดีย์สองหลังนี้ให้สูงใหญ่ มั่นคงขึ้น
ต่อมาภายหลัง เหตุการณ์ก็เป็นเช่นที่พระองค์ได้ตรัสไว้จริงๆ คือ เมื่อศตวรรษที่ ๒๙ พระญาสุวรรณภูมิ มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ผู้พี่ชื่ออาทิจจราช ผู้น้องชื่อจันทราช เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม พระญาสุวรรณภูมิออกรบจนสิ้นพระชนม์ โอรสทั้ง ๒ ได้อพยพหนีเอาตัวรอดพร้อมกับนำเอาพระพุทธรูปยืนไม้แก่นจันทร์แดงและโกศบรรจุพระบรมธาตุกกหูขวาและซ้ายติดตัวไปด้วย ทั้งสองเดินทางไปถึงเมืองพะเยาซึ่งขณะนั้นขาดเจ้าผู้ครองเมืองพอดี ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าอาทิจจราชขึ้นครองราชย์และให้เจ้าจันทราชเป็นมหาอุปราช เมื่อครองเมืองพะเยาได้ ๓ ปี เจ้าทั้งสองพี่น้อง ได้ชักชวนชาวเมืองสร้างวัดพระธาตุเจ้าตนบุนนาคแก้วชัยปราการ พร้อมกับบรรจุพระบรมธาตุกกหูซ้ายไว้ ณ ที่นี้ อีกทั้งได้บรรจุผอบพระบรมธาตุกกหูขวาไว้ที่วัดป่าแดงหลวงดอนไชยในวันเดียวกันตรงกับปีก่าเม็ด (มะแม) ตุติยศักราชได้ ๗๖๕ เดิน ๔๕ เพ็ญเม็งวันผัด (พฤหัสบดี) ไทเต่าสี ฤกษ์ฟ้า ๒๕ ตัว ชื่อว่าบุพพภาโต การสร้างวัดได้ใช้เวลา ๕ ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ การเฉลิมฉลองวัดมีขึ้นในปีกัดเป้า (ฉลู) เดือน ๕ เพ็ญ พ.ศ. ๒๐๒๕ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๐๒๕ พระญาติโลกราชกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ได้โปรดเกล้าให้พระญายุธิษเฐียรมาเป็นเจ้าเมืองพะเยา ท่านมีจิตศรัทธาสร้างวิหารหลวงให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อมามีการอาราธนานิมนต์รับพระพุทธรูปเจ้าจันทร์แดงเจ้าไปไว้ที่วัดบุปผาราม (สวนดอก) เมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดอโศการาม (ศรีภูมิ) อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ มีการค้นพบผอบซึ่งบรรจุพระธาตุ ๒ ดวง ลักษณะคล้ายเมล็ดผักกาด จึงนำมาเก็บรักษาไว้ (เดิมมี ๔ ดวง แต่จอมพลผิน ชุณหะวัณ แม่ทัพในสมัยนั้นได้แบ่งเอาพระธาตุอีก ๒ ดวง ไปบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดศาลาทอง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ให้ชื่อว่า สัมพุทธเจดีย์สิงหนาท) แต่ในหนังสือเมืองพะเยา ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่ามีการค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในฐานเจดีย์วัดร้างแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ จากนั้น มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน ณ ที่ว่าการอำเภอพะเยา ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จอมพลผิน ชุณหะวัน ได้ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในเจดีย์ของวัดศาลาทองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ในหนังสือเมืองพะเยา ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ยังได้กล่าวโดยลำดับเกี่ยวกับความเป็นมาและวิวัฒนาการของวัดป่าแดงหลวงไว้ว่า “ เมื่อมีการค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ฐานเจดีย์ของวัดร้างแห่งหนึ่งในปีพ.ศ. ๒๔๘๕ จอมพลผิน ชุณหะวัน ผู้บังคับบัญชากองพลที่ ๗ ในสมัยนั้นสั่งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำผอบใหม่ขึ้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑ ชุด เพื่อเก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอพะเยาและที่สถานีภูธรอำเภอพะเยาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาคณะสงฆ์ ข้าราชการ กรรมการวัดทุกวัด ตลอดจนพ่อค้าประชาชน เห็นสมควรให้หาสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นใหม่ โดยผลการประชุมลงมติให้ใช้วัดป่าแดงบุนนาค
การแผ้วถางวัดและการกระทำพิธีสักการะในวัดป่าแดงฯ จึงมีขึ้นในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ มีพระครูภาวนาธิคุณ (ครูบาอินโต) เจ้าอาวาสวัดบุญยืน อำเภอเมืองพะเยาเป็นประธาน สำหรับแบบแปลนของเจดีย์ที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ภาคเหนือเรียกว่าแบบไม้สิบสอง คือย่อเหลี่ยมเป็นสิบสองมุม ได้รับการออกแบบโดยนายจิตร บัวบุศย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร และผู้ที่เป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้าง คือ หนานตุ้ย ทะอินตา การลงมือก่อสร้างเจดีย์ขนาดฐานกว้าง ๒๒ เมตร สูงประมาณ ๔๐ เมตร เริ่มขึ้นในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยใช้วัสดุส่วนใหญ่จากอิฐที่ปรักหักพังลงมาจากเจดีย์ของเก่า นอกนั้นก็ซื้อเพิ่มเติม เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ผลงานที่ได้ คือฐานเจดีย์จำนวน ๓ ชั้น คณะกรรมการจึงเห็นสมควรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ชั้นใต้ดินตามแบบโบราณ ดังนั้น จึงมีการสร้างวิหารพรางขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชน กำหนดการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุคือวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (เดือน ๗ เหนือ) ดังนั้น จึงถือเอาวันเพ็ญ เดือน ๕ ของทุกๆ ปี เป็นวันประเพณีนมัสการพระบรมธาตุวัดป่าแดงหลวงดอนไชยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมา มีการลงเสาเอกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ของปีเดียวกัน
อนึ่ง ระหว่างที่มีการก่อสร้างองค์เจดีย์อยู่นั้น การก่อสร้างวิหารก็ดำเนินไปพร้อมๆ กัน โดยวิหารมีขนาดกว้าง ๑๕.๗๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร มีเชิงขาย ๓ ชาย มีมุขหน้า มุขหลังและระเบียงที่กว้างมาก เวลาล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ในราวเดือน ๕-๖ การตกแต่งวิหารก็สำเร็จเรียบร้อยลง จากนั้นคณะกรรมการได้จัดงานฉลองวิหารวัดป่าแดงขึ้น โดยมีกำหนด ๓ วัน คือวันที่ ๕-๗ พฤษภาคมของปีนั้น นอกจากงานฉลองและมหรสพแล้ว ในครั้งนั้นมีพิธีปลูกต้นมหาโพธิ์ด้วย สำหรับการก่อสร้างเจดีย์ยังดำเนินการเรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงมีพิธียกยอดฉัตรพร้อมกับฉลองสมโภชในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (เดือน ๑๐ เหนือ) จากนั้นมีการสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้น ๑ หลัง พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่เป็นองค์แรกของปีนั้น คือ หลวงพ่อครูบาอินโต คนฺธํวโส นับแต่นั้นเป็นต้นมา วัดป่าแดงก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา เช่น การสร้างถังเก็บน้ำข้างวิหารด้านใต้และการขยายฐานชุกชีให้กว้างขึ้น โดยการบูรณะของพระบุญมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทำฝาผนัง หน้าต่างและประตูในวิหารพร้อมกับทำห้องครุภัณฑ์ สร้างถังน้ำเพิ่มอีก ๑ ถังรวมทั้งศาลาการเปรียญ ปีต่อมา สร้างกำแพงรอบฐานพระเจดีย์และสร้างวิหารหน้าลานพระเจดีย์อีก ๑ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นใหม่และสร้างรั้วลวดหนามล้อมบริเวณวัดบางส่วน ปีต่อมาสร้างหอระฆัง ๑ หลัง จากนั้นเมื่อวัดป่าแดงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว พระศรหมั้ว กตปุญโญ ได้มารักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗
อนึ่ง องค์พระธาตุเจ้ารตนบุนนาคแก้วชัยปราการเจดีย์ทรงสุโขทัยได้ถูกคนร้ายลักขุดเอาพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ไปเป็นจำนวน ๕ องค์ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูป ๕ องค์นั้นมีชื่อว่าหลวงพ่อนาคยังไม่ถูกหลอมทำลาย พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา (สมัยรัชกาลที่ ๗) จึงอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ซึ่งมีหน้าตักกว้าง ๖๘ เซนติเมตร ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ จนถึงบัดนี้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ สมภารวัดได้เจอท่อนไม้แก่นจันทน์ท่อนหนึ่งจึงนำมาให้ช่างแก่สลักเป็นพระแก่นจันทน์โดยจำลองได้เท่าองค์ในตำนาน โดยเฉพาะองค์ยืนคือสูง ๒๒ นิ้ว ฐานแท่นสูง ๖ นิ้ว วัดรอบองค์พระได้ ๒๓ นิ้วครึ่ง ทำการพุทธาภิเษาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และนำไปประดิษฐานไว้ในวิหารวัดป่าแดงบุญนาค ในปัจจุบันนี้ได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ฝากไว้กับหลวงพ่อพระราชวิสุทธิโสภณ เข้าบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในหนังสือพะเยา : วิถีชีวิตและภูมิปัญญา ได้กล่าวถึงหลวงพ่อนาควัดป่าแดงหลวงไว้ว่า “ จากทะเบียนของกองพิพิธภัณฑ์ ระบุได้ว่าไม่ทราบที่มา ทราบเพียงว่ารัชกาลที่ ๗ พระราชทานไว้ ซึ่งต่อมาทราบว่าพรุครูศรีวิลาสรัตนปัญญาให้ความเห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่วัดพระร่วงและถูกขโมยไป ต่อมา ได้นำถวายรัชกาลที่ ๗ ซึ่งพระครูศรีวิลาสรัตนปัญญาได้คัดลอกจารึกที่ฐานพระพุทธรูปเก็บไว้ โดยคำจารึกที่ฐานระบุไว้ว่าเป็นพระพุทธรูปซึ่งเจ้าเมืองใหญ่ ได้แก่ พระเจ้ายุธิษฐิระเป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. ๒๐๑๙ ” นอกจากนี้ ยังถือว่าหลวงพ่อวัดป่าแดงเป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างล้านนากับสุโขทัยอีกด้วย ในหนังสือเมืองพะเยา ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับเนื้อความในส่วนนี้ว่าหลวงพ่อนาคเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตักกว้าง ๑๒ นิ้ว ค้นพบที่วัดป่าแดงฯ และมีจารึกที่ฐานพระพุทธรูประบุว่ายุธิษฐิระเป็นผู้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๙ สำหรับการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา อดีตเจ้าคณะบริเวณเมืองพะเยาบันทึกไว้ว่า “ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ มีคนประมาณ ๑๐ คน ขุดพระเจดีย์วัดพญาร่วงหรือวัดบุญนาคขนเอาพระพุทธรูปองค์เล็กองค์ใหญ่และพระแก้ว พระทองคำ เพชรนิลจินดา ของมีค่าออกขาย.. ” นอกจากนี้ พระธรรมวิมลโมลีได้เขียนไว้ในหนังสือเมืองพะเยาว่าพวกผู้ร้ายจะขนพระพุทธรูปหลวงพ่อนาคล่องไปยังจังหวัดลำปางแต่ไปได้ครึ่งทาง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตามจับได้ที่หมู่บ้านร้อง อำเภองาว จับได้แล้วส่งกลับคืน นำไปฟ้องร้องกันในศาล ศาลสั่งปล่อยและยึดพระพุทธรูปเอาไว้ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสจังหวัดเชียงราย พระดุลปรีชาไว น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งต่อมาพระองค์พระราชทานให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อนึ่ง ตามประวัติวัดที่แจ้งมากล่าวว่าวัดป่าแดงบุญนาคได้ยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีเขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร แต่จากหนังสือตำนานวัดป่าแดงบุญนาคกล่าวถึงประวัติวัดป่าแดงโดยมีใจความว่า “ ได้ยกฐานะวัดร้างวัดอรัญวาสี คือวัดป่าแดงหลวงดอนไชยและวัดรตนบุนนาคแก้วชัยปราการ (วัดสองพี่น้อง) ให้รวมเป็นวัดเดียวกันและเปิดป้ายชื่อเป็น “ วัดป่าแดงบุญนาค ” ในวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับเดือน ๕ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๒๐ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๗๒ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ” แต่มีข้อมูลจากหนังสือเมืองพะเยา ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมกล่าวว่าเจ้าคณะอำเภอพะเยา ได้ทำเรื่องขอยกฐานะวัดป่าแดงบุญนาคขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยอนุมัติของกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗
รายนามเจ้าอาวาสของวัดเท่าที่ทราบ ได้แก่
พระครูภาวนาธิคุณ หรือ ครูบาอินโต คนฺธวํโส พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๘ บางข้อมูลกล่าวว่า พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๕พระนง ปสนฺโน พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๙
หลวงพ่อหลาน ปสนฺนจิตโต พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑
หลวงพ่อบุญมา พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๗
พระอธิการศรีหมั้ว กตปุญโญ พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ บางข้อมูลกล่าวว่า พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๒พระครูใบฎีกาสุทธิพันธ์ อินฺทโชโต พ.ศ. ๒๕๑๙ บางข้อมูลกล่าวว่า พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๗
พระครูใบฎีกา นพพล ธมฺมคุตโต พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๕
พระอธิการบุญทัน สุทนฺโต พ.ศ. ๒๕๓๕
พระอธิการสุทนฺโตภิกขุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา

อาคารเสนาสนะของวัดป่าแดงบุนนาค ประกอบด้วยอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์และกุฏิ ปูชนียวัตถุของวัด คือเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปแก่นจันทน์หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ พระพุทธรูปพระเจ้ายุธิษฐิระ รวมถึงพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ๑ องค์ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร และสูง ๑๐๕ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดสำหรับประชาชนซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดนั่นเอง สิ่งสำคัญของวัดที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน ได้แก่มูลดินซากโบราณสถานซึ่งอาจเป็นเจดีย์หรืออาคารโบราณ สำรวจพบ ๒๕ ตำแหน่งเจดีย์ศิลปะแบบสุโขทัย ๑ องค์ ซึ่งอาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายไว้ว่า “ เจดีย์องค์นี้ไม่สามารถศึกษาถึงรายละเอียดได้มากนัก เพราะถูกคนร้ายลักลอบขุดทำลายหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะส่วนฐานและส่วนยอด เท่าที่เหลือหลักฐานไว้พอศึกษาได้ คือเหนือฐานเขียงสี่เหลี่ยม ยกพื้นสูงเป็นลายประทักษิณก่อด้วยอิฐ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนของฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น เหนือส่วนนี้คือฐานกลมก่อด้วยหินซ้อนกันอีก ๓ ชั้นจนถึงฐานบัวถลา ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลมซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงกลมสมัยสุโขทัย ” แต่จากการศึกษาของพระธรรมวิมลโมลี ผู้พบพระพุทธรูปหินทรายรุ่นเก่าที่วัดนี้พบว่าองค์เจดีย์มีฐานเดิมเป็นอิฐแล้วสร้างเจดีย์หินทรายทับลงไป แสดงว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดมาก่อนที่ยุทธิษฐิระจะสร้างเจดีย์ทรงกลมทับลงบนเจดีย์องค์เดิมซากวิหาร ๑ หลัง ซากแนวกำแพงโบราณ เท่าที่สำรวจพบ ๔ แนวอนึ่ง สิ่งสำคัญทั้ง ๔ อย่างที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๕ ตอนที่ ๔๑ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้รับการประกาศกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
จากข้อความข้างต้นของ “ล้านนาคดี” ทำให้มองเห็นสาระต่างๆ มากมายในอดีตจวบจนปัจจุบันควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้แด่อนุชนรุ่นหลัง ช่วยกันทะนุถนอมคงไว้ซึ่งคุณค่าของแผ่นดินตราบนานเท่านาน หากวันใดท่านผู้อ่านมีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนหรือเดินทางผ่านมาก็เรียนเชิญแวะเข้าไปเที่ยวและกราบนมัสการองค์พระธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังแวะ กิน เที่ยว สัมผัสบรรยากาศริมกว๊านพะเยา ไหว้พระเจ้าตนหลวงที่วัดศรีโคมคำ ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยความสวัสดี มีโชคถ้วนทั่วเทอญ


เรียบเรียงโดย
น้ำหวาน เย็นฉ่ำ

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 29 ต.ค. 2550 - 15:01 น.]



โดยคุณ sittiporn (1.5K)  [ศ. 02 พ.ย. 2550 - 01:32 น.] #175158 (1/16)
ขอชมรูป ท่านครูบาอินโต มีบ้างหรือไม่ครับ เป็นวิทยาทานครับ

โดยคุณ dangphayao (0)  [ศ. 02 พ.ย. 2550 - 12:56 น.] #175394 (2/16)


(D)


ครูบาอินโต และเหรียญแจกผู้หญิง (เหรียญแม่ครัว) รุ่นแรก ปี 2508

โดยคุณ sittiporn (1.5K)  [ส. 03 พ.ย. 2550 - 14:12 น.] #175967 (3/16)
ขอบคุณมากครับ หากพบเจอจะเก็บไว้บูชาซักองค์

โดยคุณ dangphayao (0)  [ศ. 09 พ.ย. 2550 - 10:11 น.] #179460 (4/16)
ยินดีครับ...วัตถุมงคลของท่านดีทุกอย่าง ขนาดผมเองคนตะวันออก ยังเอาขึ้นคอหลายอย่างครับ...เก็บไว้เกือบหมด แล้วยังมีแบ่งได้ด้วย สนใจ มิต้องเกรงใจ 086-8424477

โดยคุณ russamee (1.1K)  [พ. 14 พ.ย. 2550 - 16:16 น.] #182232 (5/16)


(D)


แจมด้วยคนครับ มาช้า ดีกว่าไม่มา./
ขอบคุณและสวัสดี./

โดยคุณ russamee (1.1K)  [พ. 14 พ.ย. 2550 - 16:20 น.] #182236 (6/16)


(D)


เหรียญรุ่น 1 ขีดเดียว../
และรุ่น 1 สังฆาฎิต่อ./

โดยคุณ dangphayao (0)  [ศ. 16 พ.ย. 2550 - 19:22 น.] #183445 (7/16)
สวยมากๆ ครับ เก็บไว้ให้ดี น่าอิจฉาจรังเลย มีของดีเก็บไว้

โดยคุณ dangphayao (0)  [ศ. 16 พ.ย. 2550 - 19:24 น.] #183447 (8/16)
แล้วรุ่นอื่นๆ ยังมีอีกไหมครับ คงจะมีของสวยๆ เยอะสิครับ

โดยคุณ dangphayao (0)  [ศ. 16 พ.ย. 2550 - 19:31 น.] #183449 (9/16)
ผมเห็นของคุณแล้ว ไม่กล้าโชว์เลย มีทุกรุ่น แต่ไม่สวยเท่าของคุณที่ post มาเลย

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 10:41 น.] #184709 (10/16)


(D)


นี่เป็นกรุพระเจ้าตนหลวงนะครับ นำมาลงขัดตอนก่อน พะเยา น่าเก็บมากๆๆๆ

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 10:50 น.] #184718 (11/16)
วัดพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ) ก็อยู่ใกล้ๆ กับวัดบุญยืนของครูบาเจ้าอินโต นั่นแหละ

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 10:54 น.] #184723 (12/16)


(D)


รูปหล่อลอยองค์ครูบาอินโต

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 10:55 น.] #184724 (13/16)


(D)
ฐานอีกหน่อยนะ

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 10:59 น.] #184728 (14/16)


(D)


อีกหน่อยนะ สามขีด

โดยคุณ dangphayao (0)  [จ. 19 พ.ย. 2550 - 11:00 น.] #184730 (15/16)


(D)
เหรียญฟ้าผ่า อีกเหรียญที่ประสบการณ์เยอะ

โดยคุณ อาจหาญ (44)(2)   [ส. 22 ธ.ค. 2550 - 21:03 น.] #201494 (16/16)


(D)
อยากทราบว่าเป็นพระกรุไหนของพะเยาครับ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1