(D)
พระหน้านกฮูก กรุวัดชายทุ่ง สุพรรณบุรี เป็นพระพิมพ์ศิลปะเวียงจันทน์ หรือที่เรียกกันว่า
พระลาว พระพักตร์คล้ายหน้านกฮูก อันเป็นที่มาแห่งชื่อพระสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นบรรจุในกรุเจดีย์รวมกับศาสตราวุธต่างๆ
ประวัติวัดชายทุ่ง...สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยชาวไทยเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในราวปี พ.ศ.๒๓๖๙ -๒๓๗๐ กล่าวกันว่าชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมานั้นมีพระภิกษุร่วมขบวนมาด้วย คือ หลวงพ่ออุมงค์ ( องมงค์ หรือ โองมุงค์ เรียกเพี้ยนกันไปตามกาลเวลา) ร่วมกันสร้างวัดขึ้นที่ บริเวณบ้านโคกหม้อ (ปัจจุบัน คือ หมู่ ๕ ตำบลท่าระหัด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี) หลังจากสร้างวัดแล้ว จึงสร้างพระพิมพ์บรรจุในเจดีย์ เป็นพระเครื่อง เนื้อชินตะกั่ว และเนื้อว่าน ๒ พิมพ์ คือ
๑. พิมพ์หน้านกฮูกเศียรแหลม
๒. พิมพ์หน้านกฮูกเศียรโล้น
โดยขณะนำพระบรรจุในองค์เจดีย์นั้น ชาวบ้านโคกหม้อได้นำศาสตราวุธ ต่างๆ อาทิ ปืนดาบศิลา หอก ดาบ หลาว ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นอาวุธในศึกสงครามที่ผ่านมาฝังเข้าไปด้วย
พระกรุวัดชายทุ่งนี้ แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ โดยมีฝรั่งกับชาวบ้านคนไทยละแวกนั้น ไปดักยิงนกพิราบ ที่เกาะองค์เจดีย์ โดยในขณะที่เหนี่ยวไกปืนนั้น ปรากฏว่ากระสุนขัดลำกล้อง และได้ลองยิงอีกหลายครั้งแต่ผลปรากฏเหมือนเช่นเดิม ชาวบ้านจึงลือกันว่า ...เจดีย์องค์นี้เฮี้ยน...
เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปจนถึงนักขุดพระ จึงแห่กันมาที่เจดีย์วัดชายทุ่งลงมือขุดเจาะเจดีย์เพื่อหาสมบัติ และพระบูชา พระพิมพ์ในกรุ เพราะเชื่อว่าฝรั่งที่ยิงปืนไม่ออกนั้นอาจมีของขลังหรือของวิเศษอยู่ข้างใน หลังจากขุดเจาะถึงข้างในแล้ว...ก็พบอาวุธต่างๆบรรจุรวมกับพระบูชา และพระพิมพ์ เนื้อว่านและเนื้อชิน (ไม่มีพระพิมพ์เนื้อผง) พระพิมพ์ในกรุนี้ต่อมาวงการพระเรียกว่า พระหน้านกฮูก แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์เศียรแหลม และ พิมพ์เศียรโล้น เนื้อพระที่พบส่วนใหญ่เป็น เนื้อชินตะกั่ว คล้ายกับ พระหลวงพ่อเนียม วัดน้อย และบางองค์ผิวสนิมแดงมีไขขาวเกาะติดทั่วไป แต่สำหรับเนื้อว่าน นั้น พบน้อยมาก ปัจจุบันค่าความนิยม พระหน้านกฮูก กรุวัดชายทุ่งอยู่ในระดับหมื่นต้นๆ แต่ถ้าหากเป็นเนื้อว่านค่านิยมจะสูงกว่า ส่วนในด้านพุทธคุณนั้น เลื่องลือในด้านมหาอุด และ คงกระพันชาตรี มีประสบการณ์มากมาย คนที่นิยมพระพุทธคุณด้านนี้มักอาราธนาคู่กับพระหลวงพ่อเนียม วัดน้อย(สุดยอดเกจิแห่งเมืองขุนแผน)........ |