พระบรรจุกรุ
เมื่อประมาณปลายทศวรรษที่ 2520หรือต้นทศวรรษที่ 2530 เกิดความเชื่อที่แพร่สะพัดในหมู่นักนิยมวัตถุมงคลมากว่าพระชุดบรรจุกรุของวัดละหารไร่ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน(พระครูวิจิตรธรรมาภิรัตเชย ชยธมโม) ดำเนินการให้เปิดกรุขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2526 เป็นพระปลอม เป็นพระแบบที่เรียกว่า พระผียัดกรุ
ความเชื่อดังกล่าวทำให้ บรรณาธิการนิตยสารพระเครื่องฉบับหนึ่ง เคยปฏิเสธการติดต่อเพื่อลงข้อความประชาสัมพันธ์พระชุดดังกล่าว(เพื่อเป็นการช่วยวัดละหารไร่ในการหาปัจจัยมาพัฒนาวัด) ที่ได้ปฏิเสธก็เพราะท่านเชื่อในข่าวที่ปล่อยของกลุ่มผู้มีประสงค์ดีต่อวัดละหารไร่(หรืออาจเกรงว่า พระชุดบรรจุกรุจะเข้ามีส่วนแบ่งในตลาดพระหลวงปู่ทิมของพวกเขา) ที่ว่าเป็นพระผียัดกรุ จึงมิยอมรับเงินค่าโฆษณาเพื่อกระทำการที่ท่านเชื่อว่าเป็นการมอมเมาท่านผู้อ่าน(ให้เสียเงินเช่าบูชาพระผียัดกรุ แม้จะเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัดก็ตาม)
กว่าพระเครื่องชุดบรรจุกรุจะได้รับการยอมรับในวงกว้าง(ของกลุ่มนักนิยมสะสมพระเครื่อง)ก็ต่อเมื่อสนามพระ ฉบับคู่มือนักสะสมเล่มที่ 16(พ.ศ.2536) ได้ลงพิมพ์ข้อความประชาสัมพันธ์พระชุดนี้ให้ทางวัดละหารไร่
ปัจจุบัน(พ.ศ.2541) พระหลายพิมพ์ในชุดพระกรุนี้ ได้เป็นที่เสาะแสวงหากันมากหรือเป็นที่อยากได้ของใครต่อใครหลายคน เช่นพิมพ์พระรอด(ที่หายากเหลือหลาย) พิมพ์สมเด็จทรงแพะ และพิมพ์นาคปรก เป็นต้น
ความเป็นมาของพระบรรจุกรุนั้น เริ่มขึ้นเมื่อจะมีการผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดละหารไร่โดยในปี พ.ศ.2516 ทางวัดได้จัดเตรียมสร้างพระเครื่องสำหรับงานผูกพัทธสีมาขึ้นมาจำนวนประมาณ 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์.ครั้นจัดงานผูกพัทธสีมาใน พ.ศ.2517 ก็นำพระดังกล่าวมาให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อบรรจุไว้ในซุ้มเสมารอบอุโบสถและภายในอุโบสถ โดยผู้ทำบุญซื้อทองคำเปลวปิดทองลูกนิมิต 1 ชุด 10แผ่น จะได้รับพระเนื้อผงจำนวนหนึ่งประมาณ 12 องค์ เพื่อให้นำไปบรรจุไว้ในซุ้มเสมารอบอุโบสถซุ้มละ 1 องค์กับใส่หลุมลูกนิมิต และใต้บริเวณฐานพระประธานอีกแห่งละ 1 องค์ รวมบรรจุไว้คนละ 10 องค์ ส่วนพระที่เหลืออีก 2 องค์ให้ผู้ปิดทองเก็บไว้ติดตัวหรือเป็นที่ระลึก(การดำเนินการดังกล่าว นับเป็นความคิดที่เฉียบแหลมลึกซึ้งมาก เพราะเป็นการอำนวยกุศลประโยชน์ทั้งของวัดและผู้ทำบุญ)
พระชุดนี้ประกอบด้วย พระประจำวัน 7 องค์ คือพระประจำวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ(กลางวัน) วันพฤหัสบดี วันศุกร์และวันเสาร์(แต่ไม่มีพระประจำวันพุธกลางคืน) พระขุนแผน(มีกุมารทองใต้ฐาน) พระสมเด็จ(แบบทั่วไป) พระสมเด็จทรงแพะ พระนางพญาและพระรอด. หลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2524 ที่ท่วมถึงฐานซุ้มเสมา และทางวัดกำลังจะจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระครูภาวนาภิรัติ(หลวงปู่ทิม อิสริโก) ในวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2526 เพื่อจะได้มีวัตถุมงคลแจกเป็นของที่ระลึกในงาน ทางวัดจึงดำเนินการเปิดกรุพระดังกล่าว.ด้วยสภาพการบรรจุที่วางพระไว้บนดินในหลุมใต้ซุ้มเสมาโดยไม่มีการก่ออิฐล้อมรอบไว้ พระจึงเกิดการชำรุดเสียหายเป็นบางส่วน ได้พระแล้วทางวัดก็แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ทิม ส่วนที่เหลือก็เปิดให้เช่าบูชาเพื่อหาปัจจัยมาพัฒนาวัด
สำหรับคนวงใน ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ทันเหตุการณ์(ที่ไม่มีอคติต่อเจ้าอาวาสรูปใหม่หรือมิหวั่นหวาดต่อส่วนแบ่งการตลาด)ย่อมจกทราบถึงความที่หลวงปู่ทิมปลุกเสกอย่างแท้จริง และความพิเศษมิธรรมดาของพระชุดนี้เป็นอันดี เพราะการบรรจุไว้ในซุ้มเสมา ภายในเขตวิสุงคามสีมาที่โปรดให้พระราชทานสำหรับพระภิกษุสงฆ์จากจุตรทิศได้ทำสังฆกรรม ย่อมก่อให้พระเครื่องเหล่านั้นได้รับอานิสงส์จากการประกอบสังฆกรรมของหมู่พระสงฆ์ เช่นพิธีผูกพัทธสีมา(สมัยหลวงปู่ทิมด้วย ผู้เฒ่าบางท่านกล่าวว่า บรรดาวัตถุมงคลของแต่ละอาจารย์ที่สุดยอดเยี่ยมยมยิ่งกว่าสิ่งอื่นก็คือ วัตถุมงคลที่จัดสร้างและปลุกเสกเนื่องในงานผูกพัทธสีมา) พิธีบรรพชาอุปสมบท(ดั่งที่มีคตินิยมมักใส่พระเครื่องของขลังในบาตรของผู้อุปสมบท) การลงอุโบสถสังฆกรรม-สวดปาติโมกข์และการทำพิธีในวันสำคัญต่างๆ มานานประมาณ 9 ปีโดยอยู่ในช่วงสมัยซึ่งหลวงปู่ทิมยังดำรงเบญจขันธ์อยู่เป็นเวลาประมาณ 2 ปี.พระบรรจุกรุจึงเป็นวัตถุมงคลที่พร้อมสรรพทั้งทางคตินยมและทางอิทธิคุณบารมี ซึ่งบริบูรณ์ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ อีกอย่างหนึ่งของหลวงปู่ทิม อิสริโก. แต่สำหรับผู้คนที่ห่างไกล ผู้อยู่วงนอก รวมทั้ง นักนิยมสะสมพระเครื่องรุ่นใหม่ กลับได้รับฟังข้อมูลในทางลบที่ว่า เป็นพระผียัดกรุบ้าง เป็นพระที่สร้างภายหลังหลวงปู่ทิมมรณภาพแล้วบ้างและหลวงปู่ทิมไม่ได้ปลุกเสกบ้าง.เกี่ยวกับกระแสที่ว่า ผียัดกรุหรือสร้างในสมัยหลังจากหลวงปู่ทิมมรณภาพแล้วนั้น ปัจจุบันถูกข้อเท็จจริงและหลักฐานพยานบุคคลต่างๆตีตกเวที-เรียบสนิทไปแล้ว หากใครยังขืนชูประเด็นนี้อยู่อีก ก็ดูท่าจะเป็นบุคคลประเภทหลงยุคเสียละกระมัง.ก็จะมีแต่ประเด็นที่ว่า หลวงปู่ทิมไม่ได้ปลุกเสก(คือบรรจุกรุโดยมิได้ปลุกเสก)เท่านั้นที่ยังพอมีพะงาบๆอยู่บ้าง กับอีกคำถามหนึ่งว่า พระผงบรรจุกรุมีส่วนผสมของผงพรายกุมารด้วยหรือไม่?.
ท่านผู้ใหญ่ฯ เสริญ นิลรัตน์ ซึ่งเคยอุปสมบทและประจำพรรษาที่วัดละหารไร่ในพรรษาปี 2516และ2517 เคยให้ข้อมูลว่า พระชุดนี้ทางวัดละหารไร่จัดสร้าง และหลวงปู่ทิมปลุกเสกแน่นอน .ด้วยความเชื่อที่ว่า ลุงสาย แก้ว สว่าง ไวยาจักรในขณะนั้น ย่อมต้องทราบข้อมูลเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะเป็นการสร้างพระจำนวนมากว่าครั้งใดๆ จึงได้เรียนถามท่าน ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า นอกจากใส่ซุ้มเสมาแล้ว ยังใส่ในฐานพระประธานด้วย เนื่องจากสภาพกรุที่ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนรองรับไว้ เอาพระใส่ในทรายเลย ทำให้พระเสียหายเยอะ ถ้ายังเก็บไว้นาน ก็จะยิ่งเสียหายมากขึ้นกว่านี้อีก.
สำหรับมูลเหตุที่เกิดการเข้าใจ แม้ในหมู่คนใกล้ชิดบางคนว่า เป็นพระที่หลวงปู่ทิมไม่ได้ปลุกเสกนั้น เนื่องจาก เมื่อนำพระมาจากแหล่งผลิต(ที่นครสวรรค์) จำนวนพระทั้งหมดประมาณ 100,000 องค์ จึงไม่สามารถเอาพระจำนวนมากขนาดนั้นเข้าไว้ในห้องหลวงปู่ทิมได้ เพราะขณะนั้นในห้องหลวงปู่ทิม เต็มไปด้วยวัตถุมงคลซึ่งอยู่ในระหว่างการปลุกเสก ทั้งที่ทางวัดละหารไร่สร้างเองบ้างวัดอื่นสร้างให้ท่านปลุกเสกบ้าง. กล่าวกันว่า วัตถุมงคลต่างๆมีมาก ทั้งบางอย่างก็เป็นเนื้อโลหะ ทำให้มีน้ำหนักมาก จึงเกรงกันว่า กุฏิจะพัง ต้องหาไม้มาค้ำยันแถบบริเวณห้องหลวงปู่ทิมไว้ด้วย. ปริมาณพระเนื้อผงที่จะบรรจุกรุร่วมแสนองค์ ย่อมต้องใช้เนื้อที่ในการวางมากเช่นกัน เมื่อห้องหลวงปู่ทิมเต็มไปด้วยวัตถุมงคลต่างๆ ไม่มีที่วางสำหรับพระที่จะบรรจุกรุแล้ว จึงต้องเอาพระดังกล่าวไปเก็บไว้ในห้องบัญชี ซึ่งมิไกลจากห้องหลวงปู่ทิมมากนัก แล้วโยงสายสิญจน์จากห้องท่านไปยังห้องบัญชี มัดล่ามสายสิญจน์ไว้โดยรอบภาชนะที่บรรจุพระผงเหล่านั้น เวลาปลุกเสกท่านก็จับสายสิญจน์บริกรรม. พระมาถึงวัดตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา หลวงปู่ทิมจึงปลุกเสกพระชุดนี้อยู่ตลอดเวลาจนถึงเวลาบรรจุกรุ รวมแล้วใช้เวลาปลุกเสกนานหลายเดือนทีเดียว.ส่วนประเด็นที่ว่า พระผงชุดบรรจุกรุ มีส่วนผสมหรือมีมวลสารที่เป็นผงพรายกุมารหรือไม่ ลุงสายกล่าวว่า ได้ให้ผงพรายกุมารแก่ผู้รับพิมพ์พระชุดนี้ไปด้วย ประมาณหนึ่งกระป๋องนม.ตามหลักการหรือธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มผู้รับงานสร้างพระ โดยส่วนมาก ย่อมทำตามความประสงค์ของผู้สั่งเป็นหลัก เมื่อทางวัดให้ผงไป(ซึ่งมิใช่สิ่งที่มีราคาค่างวดใดๆในขณะนั้น) 1 กระป๋องนม ก็ควรเชื่อได้ว่าทางผู้ผลิตย่อมปฏิบัติตามเจตจำนง ใส่ผงพรายกุมารเป็นส่วนผสมของพระผงชุดบรรจุกรุด้วยเป็นแน่.
พระบรรจุกรุ
ซึ่งมีหลายพิมพ์รวมถึงพระรอดที่หายาก ผมเองเป็นต้นคิด
โดยคิดว่าถ้านานวันเข้าถาวรวัตถุที่สร้างไว้ต้องมีการทำนุบำรุงซ่อมแซม จำเป็นต้องใช้เงิน
จึงคิดทำพระบรรจุกรุขึ้นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์เท่าพระธรรมขันธ์
พอดีคุณเพียรวิทย์ จารุสถิติ และ คุณมงคล นาคแพน กำลังจะเดินทางขึ้นเหนือ
เพื่อหาไม้สักมาทำประตูและหน้าต่างโบสถ์ ผมจึงฝากเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ไปจ้างทำพระบรรจุกรุที่พยุหคีรี
ซึ่งรับทำองค์ละ ๔๐ สตางค์ หลวงปู่ทิมท่านให้ผงกองกลางไปหนึ่งถุงซึ่งถือว่ามากพอสมควร
ผมเห็นว่าสร้างพระถึง ๘๔,๐๐๐ องค์จึงถามท่านว่า พระตั้งแปดหมื่นองค์ ผงไม่น้อยไปหรือ?
ท่านบอก ไม่น้อย เพราะผงเหมือนยาพิษ ผสมแล้วก็กระจายไปทั่ว
ก่อนถึงงานฉลอง ๘ รอบ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๘ ประมาณ ๑ เดือน
โรงงานได้นำพระทั้งหมดถึงแสนองค์มาส่ง พระยังไม่แห้งดี กลิ่นน้ำมันตั๊งอิ้วเหม็นฟุ้ง
หลวงปู่จึงให้ตีคอกสี่เหลี่ยมแล้วเอาพระทั้งหมดไปกองไว้ในกุฏิตรงข้ามกับกุฏิท่าน
จนงาน ๘ รอบ ใครต้องการสร้างพระบรรจุกรุก็ทำบุญแล้วนำไปบรรจุใส่ที่ใบพัทธสีมา
แล้วรับเหรียญนาคปรก ๘ รอบเป็นของตอบแทน
ก่อนจะให้ญาติโยมนำพระบรรจุลงกรุ หลวงปู่ทิม ได้บรรจุก่อนเป็นองค์แรก
ในเวลาเช้าวันฉลอง๘รอบ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๘
โดยมีคุณวัชระ เอี่ยมโชติ อธิบดีกรมศาสนาในสมัยนั้นเดินตาม ส่วนผมเป็นผู้ถ่ายรูป
(ดูรูปบันทึกเหตุการณ์ ประกอบได้จากกระทู้ของ chinvoot ที่ต่อกันนี้)
หลังงาน ๘ รอบ ผ่านไปแล้วพระก็ยังเหลืออยู่อีกมาก เพราะทำมาให้ทั้งหมดถึงแสนองค์ ...
ทางวัดได้นำมาบรรจุไว้ตามจุดต่างๆจนหมด
มีการเปิดกรุครั้งแรก ก่อนงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ทิม เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๖
ออกให้บูชาองค์ละ ๑๐๐ บาท สำหรับพิมพ์พระรอดที่หายาก เป็นเพราะสำนักทรงแห่งหนึ่งที่ชลบุรีขนไปจนหมด
ที่ผมรู้อย่างละเอียดเพราะอยู่ด้วยในเหตุการณ์ตลอด
ชินพร สุขสถิตย์
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ |
|