ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : อยากเป็น "เซียน" ต้องเรียนวิชา "ดูพระ"



(D)


เห็นว่าน่าสนใจดีครับ สำหรับมือใหม่อย่างผม และอีกหลายๆคน ลองอ่านกันดูนะครับ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000064197

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน....ไม่ว่าเศรษฐกิจจะรุ่งโรจน์หรือตกต่ำ....และไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคย "ราคาตก" ตลอดกาลก็คือ "พระเครื่อง" มิหนำซ้ำยังมีการเปิดตัวศูนย์พระเครื่องตามแหล่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นย่านเก่าแก่อย่างท่าพระจันทร์ หรือที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง รร.มณเฑียร บางลำภู งามวงศ์วาน ห้างพาต้าปิ่นเกล้า

และด้วยความที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลในวงการ "พุทธพาณิชย์" ประกอบกับมี "ของปลอม" โผล่ออกมาให้เสียเงินอย่างน่าเสียดาย ทำให้ผู้คนจำนวนมากปรารถนาที่จะยกระดับตัวเองให้กลายเป็นคนที่ดูพระเป็น หรือ "เซียนพระ"เพื่อที่จะไม่ถูกหลอกและถ้าไปได้สวยก็อาจยึดเป็นอาชีพได้ ซึ่งล่าสุดสถาบันการศึกษาทางไกล สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็เตรียมที่จะเปิด "หลักสูตรพระเครื่อง-พระบูชา" ขึ้นมาอย่างเป็นทางการอีกด้วย

*** ทำไมต้องหลักสูตรพระเครื่อง

เพียงแค่เอ่ยปากว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังจะเปิด "หลักสูตรพระเครื่อง" ขึ้น ก็เริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่า กำลังดึงคนเข้าสู่วงจร "พุทธพาณิชย์" หรือไม่

บุญส่ง คูวรากุล ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกลปฏิเสธเสียงด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ไม่ใช่พุทธพาณิชย์ แต่หลักสูตรพระเครื่องที่การศึกษาทางไกลจับมือกับ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยสร้างเป็นตำรานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของพระเครื่องพระบูชา พุทธศิลป์ ฯลฯ โดยมุ่งหวังที่จะสืบทอดความรู้เหล่านี้ให้ตกทอดไปสู่คนรุ่นหลัง ไม่ได้ต้องการดึงคนไปงมงายกับเรื่องของไสยศาสตร์หรือธุรกิจพระเครื่องอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือ เมื่อได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้งแล้ว จะทำให้เราสามารถมองเห็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สอดแทรกเอาไว้อย่างที่หลายคนนึกไม่ถึงเลยทีเดียว

"ครั้งแรกที่มีคนเสนอให้เปิดหลักสูตรพระเครื่อง เราก็ได้มีการสำรวจความต้องการจากทุกภูมิภาค ปรากฏว่ามีคนหลากหลายอาชีพให้ความสนใจ เราก็คิดว่ายังไม่มีใครทำลองทำดูสักทีก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ก็มาติดที่องค์กรของเราไม่มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพระเครื่อง พระบูชา ชนิดที่ลึกซึ้ง จึงได้สอบถามไปยังหนังสือพิมพ์ที่เปิดหน้าพระ ก็ได้รับการแนะนำให้ไปติดต่อกับสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย พอเขาฟังก็ตอบรับทันที"

"อย่างไรก็ดี กว่าที่จะรวบรวมเนื้อหาแล้วเขียนออกมาเป็นตำราหรือคู่มือที่ชื่อว่า มรดกแผ่นดิน ก็ใช้เวลาเกือบปี และก็มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ล่าสุดก็ตกลงกันว่าหากผู้ที่ลงทะเบียนเรียนกับเราจะขายในราคาพิเศษ(ตำราจะประทับตรากระทรวงฯกับสมาคมฯ ) ส่วนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดให้สมาคมฯตั้งราคาเองโดยใช้ตราของสมาคมฯเพียงอย่างเดียว"

บุญส่งอธิบายต่อว่า สำหรับรายละเอียดของหลักสูตรและการเรียนการสอนนั้น จะใช้เวลาเรียนรู้เนื้อหา 60 ชั่วโมง และเรียนรู้จากการค้นคว้าเพิ่มเติมและทำกิจกรรมตามที่กำหนดอีก 100 ชั่วโมง รวม 160 ชั่วโมง ทั้งนี้ โดยมีเนื้อหาสาระครอบคลุม การกำเนิดพระเครื่อง การจำแนกพระพิมพ์ พิมพ์ทรงพระเครื่องยอดนิยม กรรมวิธีและวัตถุดิบในการสร้างพระเครื่อง และการใช้อุปกรณ์และการดูแลรักษาพระเครื่อง

"การที่เรากำหนดหลักสูตรเอาไว้ในระบบการเรียนผ่านสื่อทางไกลก็เพื่อให้คนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนอยู่ที่บ้านได้ โดยสามารถรับข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านอีทีวี อีกส่วนจะทำเป็นแผ่นซีดีประกอบกับตำราเรียนในลักษณะของแพกกเกจ คือเมื่อลงทะเบียนจะได้รับตำรา พร้อมซีดี ผู้เรียนจะเรียนตอนไหนก็ได้"บุญส่งแจกแจง

ด้าน พิศาล เตชะวิภาค หรือที่รู้จักกันในชื่อ ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า ตำราพระเครื่อง เล่มนี้ต้องนับได้ว่าสุดยอดและสมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีใครเขียนหนังสือ ตำรา สไตล์นี้มาก่อน

"ยอมรับว่า หืดขึ้นคอทีเดียว กว่าจะคลอดตำราเล่มนี้ออกมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ทางสมาคมอาศัยเครือข่ายจากผู้มีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีประสบการณ์จำนวนมาก มาให้ข้อคิด ข้อแนะนำ เริ่มจากมาทบทวนความทรงจำสมัยก่อนเข้าสู่วงการเล่นพระ ว่าอยากรู้อะไรบ้าง แล้วเอาความรู้สึกนั้นมาเขียนเพื่อให้คนอ่านได้รับได้รู้ เช่น อยากรู้ว่าพระองค์นี้ต้นกำเนิดอยู่ที่ไหน เนื้ออะไร มีอายุเท่าไหร่ เก๊-แท้ ดูตรงไหน ขณะเดียวกันได้ค้นคว้าตำรับตำรา ภาพพระมาใส่ไว้ในตำรา เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น"

ขณะที่การทำซีดีก็คือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยขยายองค์ความรู้ของผู้เรียนให้กว้างขวางแล้วจำเนื้อหาได้อย่างแม่นยำขึ้น โดยเชิญผู้มีความรู้ในเรื่องนั้นมาเล่า มาขยาย ซึ่งแต่ละเรื่องละตอนจะลงลึกตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของเกจิอาจารย์องค์นั้น มีชื่อเสียงได้อย่างไร เด่นทางด้านไหน สร้างพระมากี่รุ่น สร้างขึ้นเพราะอะไร ฯลฯ

ยกตัวอย่างที่สมาคมฯ เพิ่งทำเสร็จสดๆ ร้อน เช่น "หลวงปู่ทวด" ที่เนื้อหาจะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของสุดยอดตำนานแห่งอริยสงฆ์ผู้สามารถทำให้น้ำทะเลจืดได้ และผู้สร้างสุดยอดวัตถุมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์จากบรรดาผู้ชำนาญการด้านพระเครื่องในเมืองไทย รวมทั้งนำเสนอประวัติและเรื่องรางต่างๆ ของวัตถุมงคลจากหลวงปู่ทวดทุกรุ่นเพื่อให้ท่านผู้มีความศรัทธาในบารมีของหลวงปู่ทวด เป็นต้น

นอกเหนือจากตำราและซีดีแล้ว เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาและเรียนรู้ประสบการณ์โดยตรง จึงได้มีการกำหนดให้ผู้เรียนไปยังแผงพระซึ่งเป็นสาขาของสมาคมฯที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาพระจากของจริง เพราะยิ่งศึกษาจากของจริงมากเท่าไหร่จะเรียนรู้รวดเร็วมากเท่านั้น เนื่องจากบางอย่างไม่สามารถอธิบายหรือเขียนให้เข้าใจได้ ต้องเห็น ศึกษาด้วยตนเองร่วมด้วย

"ตำราพระเครื่อง ซีดี ที่การศึกษาทางการกับสมาคมฯ ร่วมกันทำขึ้น เป็นการย่นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5-10 ปี เหลือเพียง 160 ชั่วโมง กว่าที่ผมหรือคนอื่นๆ ที่ได้ชื่อว่าเซียนพระ เขาใช้เวลาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมากกว่า 5 ปีกว่าจะรู้เทียบเท่าที่ถ่ายทอดอยู่ในตำรา ถือว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาศึกษาเรื่องพระเครื่องพระบูชาโชคดีกว่าพวกผม แต่ทุกคนในสมาคมฯยินดี เผยแพร่ความรู้ เพราะถือว่าเป็นการถ่ายทอดมรดกไทย"

"หลักสูตรพระเครื่อง เป็นเพียงการเรียนรู้พื้นฐานแล้วต้องการให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระเกจิอาจารย์ พระเครื่อง พระบูชา องค์นั้น แต่ยังไม่สามารถแยกแยะพระแท้พระเก๊ได้ ส่วนใครต้องการเรียนรู้วิธีการสังเกตพระว่าแท้หรือไม่แท้ ต้องอาศัยประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม วิทยากรที่อยู่แผงพระ(ทุกสาขา)สามารถให้คำแนะนำวิธีการดูได้"

พิศาลบอกด้วยว่า เมื่อหลักสูตรนี้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีผู้ก้าวเข้ามาสู่วงการพระเพิ่มขึ้นนับหมื่น นับแสนคนเลยทีเดียว

*** เส้นทางของเซียนพระ

สำหรับเส้นทางกว่าที่จะมาเป็นเซียนพระได้นั้น พิศาลบอกว่า คนที่จะเข้าศึกษาเรื่องพระเครื่องพระบูชาได้ต้องเกิดจากใจรัก เกิดความชอบ ความสนใจ และก่อนที่จะสนใจจะต้องได้เห็นได้สัมผัสมาก่อนเสมอ

"ผมเป็นลูกข้าราชการกรมป่าไม้ และในยุคนั้นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะนิยมสะสมพระ จะมีการพบปะแลกเปลี่ยนพระกัน เราก็เห็นอยู่ทุกวัน แล้วสังเกตเห็นว่าเขาหวงพระ เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนพบว่าไม่ใช่จะแลกเปลี่ยนกันง่ายๆ บางทีคุยกันเป็นวัน เป็นคืน บางทีใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่มีเงินแล้วซื้อได้ ผมก็มองว่าเป็นของที่มีค่า ทำให้ผมเข้าไปสัมผัส และพ่อเปรียบเสมือนครูคนแรก ท่านจะเล่าให้ฟังว่าพระองค์นี้หายาก พระองค์นี้ได้มาจากที่ไหน กว่าจะได้มาต้องฟันฝ่าอุปสรรคอะไรมาบ้าง ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ"

พอปี 2506 เดินทางมาเรียนในกรุงเทพฯ พิศาลก็เริ่มเข้ามาคลุกคลีสนามพระแถวศาลอาญา ซึ่งขณะนั้นมีผู้นิยมสะสมพระมารวมตัวกันแต่มีเพียงไม่กี่คน แล้วเผอิญได้รู้จักนักสะสมพระท่านหนึ่งที่เมตตาถ่ายทอดความรู้ให้ สิ่งไหนไม่รู้ก็อาศัยการถามไปเรื่อยจนมีความรู้พอกพูนขึ้น กระทั่งตอนหลังมามีสนามพระวัดมหาธาตุ ทำให้คนนิยมพระเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วมีการแลกเปลี่ยนพระเครื่องพระบูชากันมากขึ้น

"อะไรที่เราไม่รู้ก็จะถามผู้รู้ ซึ่งแต่ละคนจะรู้คนละอย่างสองอย่าง รู้เฉพาะสิ่งที่สนใจ ส่วนผมเป็นคนใฝ่รู้ พูดง่ายๆ อยากรู้ไปซะทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระเครื่องพระบูชา ถามไม่พอยังศึกษาค้นคว้าจากห้องสมุด ตำรับตำราที่มีอยู่ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ส่งผลให้รู้เยอะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารู้มากกว่าคนอื่น ทั้งนี้ กว่าจะได้รับการยอมรับจากวงการพระ จนเรียกว่าเซียนใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์มากว่า 40 ปี"

พิศาลให้คำแนะนำด้วยว่า การดูพระ จริงๆ แล้วมันเหมือนเส้นผมบังภูเขา จุดสังเกตของพระไม่มีอะไรลึกซึ้ง จุดใหญ่ๆ ก็คือพิมพ์พระหรือต้นแบบ อย่างพระเครื่อง จะมาจากแม่บล็อกเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระที่พิมพ์ออกมา จะต้องมีส่วนคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นสรีระของพระ จุดตำหนิ รายละเอียดเค้าโครงหน้าตาก็จะต้องเหมือนกัน สมมติว่ามีพระ 2 องค์ ถ้าต่างกันก็จะต้องคิดแล้วว่ามีองค์หนึ่งแท้องค์หนึ่งเก๊หรือไม่ก็เทียมทั้งคู่

นอกจากนี้ยังจะต้องศึกษาเนื้อหาพระในแต่ละประเภท เช่น เนื้อดิน ความเก่าของอายุขนาดนี้ ควรจะมีลักษณะอย่างไร มีสีสัน ความแห้งอย่างไร หรือมวลสารของการผสมในเนื้อพระ ถ้าของแท้มวลสารมีมาอย่างไรก็ต้องมีอย่างนั้นตลอด

ส่วนพระบูชาเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่าพระเครื่อง และไม่ได้สร้างกันได้ง่ายๆ ช่างจะต้องปั้นแม่พิมพ์ก่อนให้ได้สวยงาม มีกรรมวิธีนำเนื้อโลหะมาหลอมเพื่อให้เข้ากับแม่พิมพ์

"พระบูชาแต่ละองค์จะไม่เหมือนกัน ช่างจะปั้นแม่แบบแล้วหล่อทีละองค์ หล่อเสร็จก็ทุบแบบทิ้ง ในความคิดผมพระบูชามีความลึกซึ้งมากกว่า แล้วที่เห็นพระบูชาแต่ละยุคต่างกันเนื่องจากช่างจินตนาการ อย่างศิลปะสุโขทัย พระจะออกมาอวบอ้วน สวยงาม พระอู่ทอง น่าตา จะเคร่งขรึม ดุดัน คือช่างแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน พูดง่ายๆ ว่าอยู่ยุคไหนก็ใช้ศิลปะของยุคนั้น"

"เซียนพระแต่ละคนจะมีการดูพระเก๊-แท้ ไม่เหมือนกัน แต่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือศึกษาพระจากแม่พิมพ์และเนื้อพระเป็นหลัก ถามว่า ทำไมมีพระปลอมออกมาจำนวนมาก ก็คงตอบว่า อะไรก็ตามที่มีราคา มันก็มีของเทียมของเลียนแบบออกมาจำหน่าย แล้วที่เห็นเกลื่อนอาจเป็นเพราะพระเครื่อง พระบูชา ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง คนทำปลอมสินค้า ปลอมธนบัตร อาจโดนจับ แต่การปลอมพระเขาจะออกมาในรูปของพระใหม่ บางคนมีฝีมือทำพระใหม่ให้เป็นพระเก่า ขอให้จำไว้ว่าพระที่มีราคา คนนิยม จะมีคนทำพระปลอมออกมา จะปลอมมากปลอมน้อยเท่านั้น สำหรับเวลานี้พระที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย พระสมเด็จวัดระฆัง แน่นอนเมื่อมีราคาสูงของเทียมก็มีออกมากเช่นเดียวกัน ชนิดที่ว่าปลอมมากกว่าของจริงหลายร้อยหลายพันเท่า ดังนั้น ใครที่จะเช่าพระดัง ถ้าตัวเองไม่มีความรู้ก็ต้องหาเซียนที่รู้จักมักคุ้นไว้ใจได้มาช่วยดูให้"

*** คลี่หัวใจคนอยากเรียน

ทีนี้ ก็มาถึงกลุ่มคนที่อยากเรียนกันบ้างว่า พวกเขามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรกัน

เทพนิภา กันทา พนักงานขายเครื่องสำอาง เล่าให้ฟังว่า การเปิดหลักสูตรพระเครื่อง นับเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทยเลยทีเดียว และน่าจะเปิดหลักสูตรสไตล์นี้มานานแล้ว เนื่องเพราะคนไทยไม่ค่อยรู้รากเหง้า รู้แต่ว่าพระองค์นี้คือพระสมเด็จ นางพญา หลวงปู่ทวด หลวงพ่อเดิม หลวงพ่อเงินฯลฯ แต่เมื่อ ถามว่าชื่อเสียงเพราะอะไร มีกี่รุ่น ทำมาจากอะไร ก็ตอบไม่ได้

"สนใจเรียนหลักสูตรพระเครื่องเอามากๆ เริ่มมาจากพ่อสะสมพระเครื่อง พระบูชา ว่างๆ จะเอาพระมาทำความสะอาด แล้วจะเล่าประวัติความเป็นมาของพระองค์นั้นให้ฟังตั้งแต่สมัยยังเด็ก ทำให้ค่อยๆ ซึมซับความรู้เกี่ยวกับพระมาบ้าง แต่ความรู้เท่าหางอึ่ง ไม่เข้าขั้นระบุว่าพระเก๊-แท้ ได้ คิดว่า จะไปสมัครเรียนแน่นอน โดยตั้งใจนำความรู้มาถ่ายทอดให้ลูกหลานฟังมากกว่าก้าวเข้าสู่การเช่า-จำหน่ายพระ"

ด้าน ร.ท.หญิง ฐานิต ร้อยกรแก้ว นักโหราศาสตร์ บอกว่า คลุกคลีกับพระเครื่อง พระบูชา พอสมควร โดยเกิดจากพี่ชายมักจะไปเช่าพระ โดยเฉพาะองค์ไหนดัง ดี มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จะเช่ามาบูชา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเป็นพระแท้หรือปลอม เพียงแต่ก่อนเช่าพระจะหนีบเซียนพระที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี เป็นหูเป็นตาดูให้ แล้ววันไหนเช่าพระมาทีไรจะมาโชว์ มาเล่าเสมอ ส่งผลให้ตนเองศรัทธา เสื่อมใส เกจิอาจารย์องค์นั้นมาอย่างต่อเนื่อง

"พอรู้ข่าวว่า จะมีการเปิดหลักสูตรพระเครื่อง ลึกๆ รู้สึกดีใจมาก แถมยังไปชวนพี่ ชวนเพื่อนหรือคนที่รู้จักมักคุ้นไปสมัครเรียน โดยมีความคิดว่าสามารถนำความรู้จากหลักสูตรพระเครื่อง พระบูชา มาประยุกต์เข้ากับวิชาโหราศาสตร์ได้ แล้วคาดว่าการทำนายจะทำให้เกิดความแม่นยำ สร้างศรัทธาให้แก่ผู้ดูเพิ่มมากขึ้น"

"เคยรู้ว่ามีเอกชนเปิดสอนประวัติความเป็นมา ขบวนการทำพระ เทคนิคการดูพระเครื่องพระบูชา แต่เขาคิดค่าเรียนแพงมาก ชนิดที่ว่าไม่รัก ไม่สนใจจริงๆ หลายรายบอกศาลาทันที พอรู้ว่า กศน.เปิดสอน ตัดสินใจโดยไม่ลังเลว่าเรียน แล้วยังต้องการให้ กศน.เตรียมหลักสูตรพระเครื่อง พระบูชา ในระดับสูงต่อไป เพราะมั่นใจว่าจะมีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก

ส่วนประสพสุข นาถทัย บอกว่า ตั้งใจจะเรียนหลักสูตรพระเครื่อง พระบูชา กับ กศน. เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน พร้อมกับทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ขั้นตอนการสร้างพระ และอื่นๆ มาเล่าให้ลูกหลานฟังมากกว่า ขณะเดียวกันจะกำชับพวกเขาด้วยว่า ให้รักษาพระทุกองค์เอาไว้ พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐาน บูชาเพื่อให้ท่านคุ้มครอง มั่นใจว่าบารมีจะช่วยให้ครอบครัวอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญในหน้าที่การงาน

///***////

หลักสูตรพระเครื่องพระบูชาจะเปิดรับสมัครนักศึกษาได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการศึกษาทางไกล อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทร.0-2354-5721,0-2644-9764,0-2354-5730-40 ต่อ 536 และ www.nfe.go.th/dei

*****

เรื่อง - สุกัญญา แสงงาม

โดยคุณ เกษตร (2.1K)  [พฤ. 18 พ.ค. 2549 - 11:46 น.]



โดยคุณ suangorndang (2.3K)  [พฤ. 18 พ.ค. 2549 - 19:51 น.] #32130 (1/3)
เป็นลักษณะ "ธุรกิจการศึกษา" อีกแขนง(รูปแบบ)หนึ่งครับ ................ความเห็นส่วนตัวครับ
........................................ด้วยความเคารพ

โดยคุณ chartchay_ho21 (265)(2)   [จ. 22 พ.ค. 2549 - 09:03 น.] #32571 (2/3)
ดีมากกก ขอบคุณ

โดยคุณ suprom (272)  [พ. 31 พ.ค. 2549 - 18:52 น.] #33979 (3/3)
ดีครับ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1