ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : @@@หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม@@@



(D)
การสร้างวัตถุมงคลของ หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดอรัญญิการาม หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม หลวงพ่อท่านได้สร้างไว้หลายแบบ มาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีทั้งแบบพระเนื้อดิน เนื้อผง เนื้อว่าน เหรียญรูปเหมือน พระกริ่ง รูปหล่อ และเหรียญหล่อ

นอกจากนี้ ท่านยังสร้างเครื่องรางของขลังอีกด้วย เช่น ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ แหวนแขน ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดสามห่วง สีผึ้ง เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนมีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์และเล่าขานกันมาทุกวันนี้
พระเครื่องและเครื่องรางของท่านไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงาม แต่เน้นเรื่องพุทธคุณ เพราะท่านตั้งใจสร้างให้บูชาติดตัว เพื่อป้องกันภัยต่างๆ มีทั้งทางมหาอำนาจ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด เนื้อพระส่วนมากเป็นแบบเนื้อดินผสมผงปนว่าน เนื้อดินอาถรรพณ์นำมาจัดสร้างวัตถุมงคล ได้แก่ ดินโป่ง ๗ โป่ง ดิน ๗ ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น ผสมลงไปในพระทุกพิมพ์ ด้านหลังองค์พระจะประทับชื่อ หลวงพ่อเต๋ กดลึกลงไปในเนื้อพระ
วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาจนทุกวันนี้ คือ ตุ๊กตาทอง หรือที่นิยมเรียกกันว่า กุมารทอง ตำราการสร้างได้จาก หลวงลุงแดง ประกอบด้วย ดินโป่ง ๗ โป่ง ดิน ๗ ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น นำมาปั้น ตุ๊กตาทอง (กุมารทอง) แจกชาวบ้าน นำไปไว้เป็นเครื่องคุ้มครอง เพราะดินดังกล่าวจะมีเทวดารักษา จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อปั้นแล้วเอาวางนอนไว้ จึงทำการปลุกเสกให้ลุกขึ้นเองตามตำรา ตุ๊กตาทองนี้นิยมกันมาก ใครได้ไปบูชามักจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังเป็นที่อัศจรรย์ ต่อมาทำรายได้มหาศาล สามารถขออะไรสำเร็จทุกอย่าง
ในปี ๒๕๐๕ ท่านได้จัดสร้างพระเครื่องเนื้อดิน พิธีใหญ่อีกครั้ง เพื่อฉลองอายุครบ ๕ รอบ เนื้อดินที่ใช้ยังได้นำดินทวารวดีที่ชำรุดหัก และผงว่านผสมลงไปด้วย สังเกตเนื้อองค์พระเมื่อเผาแล้วเนื้อดินจะนุ่มเมื่อถูกเหงื่อถูกสัมผัส ปรากฏมวลสารและว่าน แลดูเก่ามาก พิมพ์ที่จัดสร้างมีดังนี้
๑.พระรูปเหมือนซุ้มเรือนแก้ว
๒.พระปรกโพธิ์ใหญ่
๓.พระปรกโพธิ์เล็ก
๔.พระตรีกาย (พระสาม)
๕.พระทุ่งเศรษฐี
พระเครื่องเนื้อดิน ๔ พิมพ์แรก ด้านหลังจะมียันต์อักขระนูน เรียกกันว่า ยันต์สามง่าม เนื่องจากด้านหลังมีรูป ตรี เป็นสัญลักษณ์ของวัดสามง่ามนั่นเอง ส่วนพระทุ่งเศรษฐี ด้านหลังมียันต์และชื่อฉายา คงทอง กดประทับลึกลงไปในเนื้อ
อย่างไรก็ตาม หากประมวลคาถา หรือยันต์หลังเหรียญรุ่นต่างๆ ของหลวงพ่อเต๋ จะพบว่า ไม่มียันต์ตัวใดเป็นยันต์เอกลักษณ์ หรือยันต์เฉพาะประจำตัวของท่านเลย
คาถา หรือยันต์ ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นยันต์หลักๆ เช่น คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ ที่ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" คาถาหัวใจธาตุสี่ ที่ว่า "นะ มะ พะ ทะ"
ส่วนยันต์ที่ปรากฏบนเหรียญรุ่นวางศิลาฤกษ์โรงเรียน ปี ๒๕๑๒ คือ คาถาหัวใจพระเจ้า ๔ องค์ "นะ กะ อะ ปิ" สันนิษฐานว่า คาถาตัวนี้ท่านน่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หรือหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน
สำหรับพุทธคุณของวัตถุมงคลของหลวงพ่อเต๋ ถ้าพิจารณาจากคาถาและตัวยันต์ รวมทั้งมวลสารที่นำมาใช้สร้างแล้ว พุทธคุณน่าจะเด่นทางด้านป้องกันภัย และคงกระพันชาตรี ส่วนพระที่เป็นเนื้อผง สร้างจากดิน ๗ ป่าช้า ดินโป่ง ขุยปูอุด จะเน้นด้านเมตตามหาลาภ ซึ่งปัจจุบันนี้หลวงปู่แย้ม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่าน ยังคงรักษาตำรับการสร้างวัตถุมงคลแนวของหลวงพ่อเต๋อยู่
หลวงพ่อเต๋ คงทอง มรณภาพโดยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ รวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖ เดือน ๑๐ วัน พรรษา ๕๙ ปัจจุบันทางวัดยังคงบรรจุสังขารของท่านไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้งผู้ที่เคารพศรัทธา ได้ไปกราบไหว้บูชาจนทุกวันนี้

โดยคุณ sophon_ka (240)  [อ. 08 ส.ค. 2549 - 05:02 น.]



โดยคุณ aty2518 (384)(3)   [อ. 08 ส.ค. 2549 - 18:14 น.] #43365 (1/2)
สุดยอดครับสำหรับข้อมูล

โดยคุณ mcmc1 (352)  [อ. 08 ส.ค. 2549 - 22:24 น.] #43393 (2/2)


(D)


ผมเพิ่งได้มาครับตลับยาหม่องหลังหนังเสือ อยากทราบว่ารุ่นนี้ออกปีไหนครับ ถามเจ้าของเดิมเขาก็ไม่รู้เหมือนกันครับ...

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1