(D)
วัดพระบาทน้ำพุ : Access for all ของผู้ติดเชื้อ
การประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมกับจุดประกายความหวังของผู้ติดเชื้อชาวไทยและทั่วโลกอีกครั้งว่า บทสรุปที่ได้หลังปิดประชุมจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ดังคำขวัญที่ว่า Access for all
หลายคนอาจรู้จักและได้ยินชื่อวัดแห่งนี้มาก่อน แต่อาจยังไม่รู้ว่า ที่วัดพระบาทน้ำพุ สถานที่พักฟื้นของผู้ป่วยโรคเอดส์ ณ เวลานี้นั้น มีสภาพเป็นอย่างไร?
กำเนิดพระบาทน้ำพุ
พระครูอุดมประชาทร (พระอลงกต ติกขปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ เล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้ก่อตั้งมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นสถานที่พักฟื้นของผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายในปี 2535 โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขและกรมศาสนา พร้อมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการในช่วงการก่อตั้ง
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทางวัดตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ สืบเนื่องมาจาก ณ ขณะนั้นคือก่อนปี 2535 สถานการณ์โรคเอดส์ในไทยเริ่มรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางรัฐบาลรณรงค์ให้ความรู้ทำให้คนเกิดความกลัว หวังให้ป้องกันตนเองจากโรคเอดส์ แต่เป็นความผิดพลาดในการให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องในขณะนั้น ทำให้ผู้คนรังเกียจผู้ป่วยเอดส์จนเกิดปัญหาสังคม
วัดพระบาทน้ำพุจึงให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
"ผู้ติดเชื้อเอดส์ในสมัยนั้น ถูกรังเกียจ คนไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมสำส่อน เป็นหญิงบริการ ชอบเสพยาเสพติดจึงปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน แสดงความกลัวและรังเกียจ ทำให้ผู้ป่วย ถูกทอดทิ้ง ถูกขับไล่ออกจากบ้าน ถูกปลดออกจากที่ทำงาน ส่งผลถึงการบริการด้านการแพทย์สาธารณสุข และเมื่อปัญหาเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในสังคมไทย"
"ช่วงแรกเราได้รับการต่อต้านชาวบ้าน องค์กรศาสนาไม่เข้าใจในบทบาท เป็นแนวความคิดที่ขัดแย้งว่าเป็นหน้าที่ของพระหรือไม่ แต่ก็ตัดสินใจที่จะดำเนินการ ถึงแม้จะถูกรังเกียจก็พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ฉะนั้น ในช่วงปีแรกเราทำการดูแลผู้ป่วยอยู่ 8 คน และใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างความเข้าใจได้"เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุอธิบาย
ที่พึ่งแห่งสุดท้ายของผู้ป่วยเอดส์
ด้วยความที่กระแสและความเข้าใจของสังคมยังไม่เปิดกว้าง ประกอบกับบริการของรัฐมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเตียงที่มีไม่เพียงพอ ทัศนคติของผู้ให้บริการที่แสดงความรังเกียจ ซึ่งกว่าเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขจะสามารถปรับตัวได้ต้องใช้เวลายาวนาน อีกทั้งสังคมไทยเองยังไม่พร้อม กลัวและไม่ยอมรับ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงถูกทอดทิ้งและแสวงหาที่พึ่งพิงสุดท้ายและมุ่งมั่นที่จะมาที่นี่...
"งานของเราหนักมากเพราะพยายามขยายตัวตามปัญหา ทั้งดูแลผู้ป่วยและขจัดความคิดต่อต้านผ่านไป 4-5 ปีความคิดของสังคมก็เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเข้าใจและยอมรับมากยิ่งขึ้น รัฐก็พยายามรณรงค์ส่งเสริมให้การอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ เน้นความเข้าใจเห็นใจเอื้ออาทร การอยู่ร่วมกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากเนื่องจากคนไทยมีพื้นฐานจิตใจมีน้ำใจ สงสาร แค่ยังขาดความเข้าใจที่ดีเท่านั้น"
"วัดอยู่ได้เพราะเป็นองค์กรที่เกี่ยวกับศาสนา มีความสัมพันธ์กับศรัทธาของประชาชน เขาเชื่อถือและให้การสนับสนุน ซึ่งวัดให้การสงเคราะห์โดยที่ไม่คิดเงิน ทำให้ผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น แต่เราไม่สามารถรับผู้ป่วยทั้งหมดได้ มาแล้วก็ผิดหวัง ต้องขึ้นทะเบียนจองเตียงต่อคิวหลายพัน เพราะจำนวนที่รับได้และผู้หลั่งไหลเข้ามาต่างกันมาก จนเราต้องหาจุดยืน คงจะขยายตัวตามปัญหาไม่ได้"
ทั้งนี้ เมื่อทางวัดยอมรับความจริงว่า ไม่สามารถขยายตัวตามปัญหาได้ วัดก็เริ่มที่จะกำหนดทิศทางและนโยบายในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นและยืนอยู่ในจุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้บริการผู้ติดเชื้อเท่าที่จะสามารถทำได้
"เด็ก 2-3 แสนอยู่กับเรา ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เรารับเด็กหมดไม่ได้ทั้งหมด มีกรอบบังคับเราอยู่ มีขอบเขตในการรับเด็กได้เท่าไหร่ต่อปี เพิ่มเตียงเท่าไหร่ ที่พักเท่าไหร่ คนดูแล ปัจจัยพื้นฐาน ดูแลคุณภาพในการบริการไม่มุ่งเน้นปริมาณดูคุณภาพเป็นสำคัญ เพราะไม่มีกิจกรรมหารายได้พิเศษ เราได้รับจากศรัทธาประชาชนล้วนๆ"
สำหรับทิศทางการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ป่วยนั้น พระครูอุดมประชาทรบอกว่า....ในปีหน้าทางวัดจะเพิ่มเตียง เพิ่มบุคลากร แต่ก็ต้องเพิ่มงบด้วย ซึ่งทุกวันนี้ได้งบจากประชาชนและเอกชนเป็นหลัก ส่วนงบประมาณที่ได้รับจากรัฐไม่เกิน 3%
นอกจากนี้ ทางวัดยังมีโครงการที่จะดูแลเด็กกำพร้าจากพ่อแม่ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 1,000 คน คนชรากำพร้าที่มีลูกเป็นเอดส์แล้วไม่มีใครดูแล ผู้ป่วยระยะที่ 2 ที่ดูแลตัวเองได้แต่มีปัญหากับครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีโครงการที่ 2 รองรับผู้ป่วยที่แข็งแรง ด้วยการหางานและสร้างงานให้มีรายได้ไม่เป็นภาระครอบครัวจนเกินไป
เอดส์วัยรุ่นน่าเป็นห่วง
ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาเอดส์มานาน พระอลงกตบอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนไป จากเดิมที่อยู่ในวัยกลางคนอายุ 25-35 ปีกลายเป็นกลุ่มอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ หรือกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งปัญหาใหม่และควบคุมยากที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากค่านิยมในการมีเพศสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การแก้ไขเอดส์ในวันรุ่นเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งส่งผลทำให้เด็กวัยรุ่นติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้น 8,000 กว่าคนต่อปี
"ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะแก้ยังไง ค่านิยมความมีอิสระ เสรีภาพ ไม่รู้แก้อย่างไร ศีลธรรมเป็นเรื่องที่พูดได้โดยหลักการ เพราะวัยรุ่นสัมผัสสื่อสิ่งเร้า ยั่วยุ มากกว่า เกิดความแตกต่างทางความคิดความเชื่อเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากขายถุงยาง ซึ่งถึงจะลดลงแต่ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะความคิดของเด็กไม่เปลี่ยน"
"จริงๆ แล้วอาตมาอยากให้เด็กนักเรียนได้ดูของจริง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตระหนักถึงการป้องกันตัวเองมากขึ้น รวมทั้งรัฐควรทำการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสามารถประเมินสถานการณ์จากสภาพปัจจุบันได้ ปัญหาเรื่องเอดส์เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ถ้าไม่มีการประชุมนานาชาติคงไม่มีความสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ แก้ไม่ได้ถ้าไม่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ "
....วันนี้ ถึงแม้จะเหนื่อย แต่พระอุดมประชาทรก็ยืนยันว่า ไม่ล้มเลิกแน่นอนและจะทำไปเรื่อยๆ โดยจะทำให้ดีที่สุดและทำอย่างมีความสุขเท่าที่จะทำได้เพื่อสืบทอดเป็นตำนาน สืบทอดทางจิตวิญญาณ แต่ก็จะต้องพยายามประคองตัวเองด้วยการหากิจกรรม สร้างรายได้ ปลูกผัก หาอาหาร ปรุงอาหารง่ายๆ รับประทานเอง เพื่อให้เป็นภาระของสังคมน้อยลงและพึ่งพาตนเองมากขึ้น
สำหรับผู้สนใจที่จะสนับสนุนวัดพระบาทน้ำพุ สามารถติดต่อได้ที่
โครงการธรรมรักษ์นิเวศ (บ้านพักผู้ป่วยระยะสุดท้าย) วัดพระบาทน้ำพุ
ตู้ ปณ. 83 อ. เมือง จ. ลพบุรี
โทร. (01) 942 - 5479 (ฝ่ายเลขา) (01) 353 - 3154 (ฝ่ายโรงพยาบาล) (01) 495 - 3838 (ฝ่ายธุรการ) Fax (036) 413 - 805
HOT !! รวบเว็บไซต์เกี่ยวกับโรคเอดส์ |