(D)
เมื่อวานผมได้เข้าไปอ่านกระทู้ของคุณ thanin_b กรณีมีการขายพระเก๊ของ สนง.แห่งหนึ่ง จึงได้ไปค้นหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนำมาลงกระทู้เพื่อเป็นความรู้แก่เพื่อนๆ หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้(ผู้ขายไม่มีจรรยาบรรณหรือมีเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่)
เมื่อมีการซื้อขายพระ แต่มาพบในภายหลังว่าเป็นพระปลอม ถือว่าเป็นปัญหาที่นักสะสมพระมักเจอกันเกือบทุกคน ในทางกฎหมายเราจะมีสิทธิหน้าที่อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ในที่นี้จะขอแยกข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้
1. กรณีนาย ก.(ผู้ขาย) รู้ว่าเป็นพระปลอมแต่นำมาหลอกขายให้แก่นาย ข.(ผู้ซื้อ) โดยให้นาย ข. ตัดสินใจซื้อเอง โดยเข้าใจว่าเป็นพระแท้
ถาม สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะมีผลอย่างไร?
ตอบ สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ ทั้งนี้เพราะนาย ข.ผู้ซื้อแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาเพราะถูกกลฉ้อฉลและหากไม่มีการหลอกลวงดังกล่าว นาย ข.ก็คงไม่ตัดสินใจซื้อพระองค์ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 วรรคแรก
และเมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ นาย ข.จึงมีสิทธิบอกล้างให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 175(3)
ถาม จะขอคืนพระและเรียกเงินคืนได้หรือไม่?
ตอบ เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวถูกบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะ จะส่งผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น นาย ข.ผู้ซื้อจึงสามารถส่งมอบพระคืนให้แก่นาย ก. และเรียกเงินคืนจากนาย ก.ได้ แต่นาย ข.ต้องใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในอายุความ 1 ปีนับตั้งแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176
ถาม นาย ก.มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงหรือไม่?
ตอบ การที่นาย ก.รู้ว่าพระที่ตนนำมาขายเป็นของปลอม แต่ไม่ได้แจ้งให้นาย ข.ทราบกลับบอกว่าเป็นของแท้ทำให้นาย ข.ผู้ฅซื้อหลงเชื่อ การกระทำของนาย ก.จึงเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
2. ทั้งนาย ก.(ผู้ขาย)และนาย ข.(ผู้ซื้อ) ต่างไม่รู้ว่าเป็นพระปลอมและทั้งสองเข้าใจว่าเป็นพระแท้จึงตกลงซื้อขายกัน
ถาม สัญญาดังกล่าวจะมีผลเป็นอย่างไร?
ตอบ สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ แม้ว่าผู้ขายจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามว่าพระที่ตนนำมาขายนั้นเป็นพระแท้หรือพระปลอม ทั้งนี้เพราะนาย ข.ผู้ซื้อแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาเพราะสำคัญผิดว่าเป็นพระแท้ จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157
ถาม จะขอคืนพระและเรียกคืนพระได้หรือไม่?
ตอบ สัญญาซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ นาย ข.จึงมีสิทธิบอกล้างให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175(3) ซึ่งจะส่งผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้นนาย ข.ผู้ซื้อจึงสามารถส่งมอบพระคืนแก่นาย ก.และเรียกเงินคืนจากนาย ก.ได้ แต่นาย ข.ต้องใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176
ถาม นาย ก.มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงหรือไม่?
ตอบ การที่นาย ก.ผู้ขายไม่ทราบว่าพระที่นำมาขายเป็นของปลอมและเข้าใจว่าเป็นของแท้ นาย ข.ตัดสินใจซื้อเพราะเชื่อว่าเป็นของแท้ การกระทำของนาย ก.จึงไม่เป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการกระทำของ นาย ก.จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
3. ทั้งนาย ก.(ผู้ขาย)และนาย ข.(ผู้ซื้อ) ต่างรู้ว่าเป็นพระปลอม แต่ก็ตกลงซื้อขายกันตามสภาพ
ถาม สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะมีผลอย่างไร?
ตอบ สัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์และผูกพันคู่สัญญา ทั้งนี้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้วว่า พระที่ซื้อขายกันนั้นเป็นของปลอมและตกลงซื้อขายกันตามสภาพที่เป็นอยู่ จึงเป็นการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อขายที่มีผลบังคับได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 อีกทั้งพระปลอมก็มิใช่ทรัพย์สินซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติห้ามการซื้อขายไว้ ดังนั้นคู่สัญญาจึงสามารถตกลงซื้อขายพระปลอมได้ไม่เป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
ถาม จะขอคืนพระและเรียกคืนเงินได้หรือไม่?
ตอบ กรณีนี้จะมีผลต่างจากกรณีที่ 1 หรือ 2 เพราะสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ดังนั้น นาย ข.ผู้ซื้อ จึงไม่สามารถส่งมอบพระคืนแก่นาย ก.และเรียกเงินคืนจากนาย ก.ได้ เว้นแต่ นาย ก.ผู้ขายจะยินยอม
หวังว่าเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาเช่นนี้ คงจะนำไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ข้อสังเกตุ ตัวบทกฎหมายกับความเป็นจริงอาจสวนทางกันบ้างเล็กน้อยนะครับ
|
|