(D)
ชั่วโมงเซียน : สกุลพระเครื่องเมืองสุโขทัย ๒
เมืองสุโขทัย และ เมืองศรีสัชนาลัย ถือได้ว่า เป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา สูงสุดเมืองหนึ่ง จึงมีการสร้างพระเครื่อง พระบูชา มากมาย ดังในตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึง พระเครื่อง ของเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ที่สำคัญ และนิยมมาก ในวงการ ซึ่งยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะยังมีพระเครื่องอีกหลายชนิด ที่มีศิลปะสูง และมากด้วยคุณค่า ที่น่าศึกษา จึงขอนำมาเสนอ ต่อในฉบับนี้
พระลีลา กรุวัดมหาธาตุ นอกจากสุโขทัยจะมีพระลีลาที่งดงามอย่าง พระลีลาวัดถ้ำ***บ แล้ว กรุวัดมหาธาตุ ยังมีพระลีลาที่งดงามและมีความคล้ายคลึงกับพระลีลาวัดถ้ำ***บมาก แต่มีขนาดที่เล็กกว่าพระลีลา วัดถ้ำ***บ คือกว้างประมาณ ๑-๑.๕ ซม. สร้างด้วยเนื้อชินเงิน ผิวปรอท และผิวดำ ส่วนพระเนื้อดินพบเพียงเล็กน้อย พุทธคุณไม่ด้อยกว่า พระลีลาถ้ำ***บ คือ เมตตา โชคลาภ ให้ความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้บูชา
พระลีลาบัวสองชั้น ซุ้มหงอนไก่ กรุวัดเขาพนมเพลิง เป็นพระลีลาที่สวยงาม อีกพิมพ์หนึ่งของเมืองสุโขทัย ศิลปะตะกวนผสมกับศิลปะแบบสุโขทัย ประทับ ยืนบนฐานบัวสองชั้น มีซุ้มเรือนแก้วด้านข้างขององค์พระ เป็นเนื้อชินเงิน ผิวปรอทขาว
พระอู่ทองหน้าตะกวน กรุวัดเขาพนมเพลิง เป็นพระที่เด่นมากอีกพิมพ์หนึ่ง ของกรุนี้ เป็นพระสุโขทัยหมวดตะกวนที่สวยมาก จนได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับหนึ่ง ของพระเครื่องที่มีศิลปะเชิงช่างหมวดตะกวนทั้งหมด พบเป็นพระชินเงินผิวปรอท และนอกจากจะสร้างได้สวยงามมากแล้ว พระอู่ทองหน้าตะกวนยังเปี่ยมล้นด้วยพระพุทธคุณ คือ สุดยอดทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีเลยทีเดียว
พระร่วงนั่งหลังตัน กรุวัดเขาพนมเพลิง จังหวัดสุโขทัยมี พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม ที่กรุวัดเขาพนมเพลิงยังพบ พระร่วงนั่งที่มีความคล้ายคลึงกับพระร่วง นั่งหลังลิ่มมาก แต่มีขนาดที่ย่อม กว่าเล็กน้อย และหลังเรียบตัน วงการพระจึงเรียกว่า พระร่วงนั่ง หลังตัน เข้าใจว่าเป็นพระยุคหลัง พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เพราะได้นำพิมพ์พระร่วง นั่งหลังลิ่มมาเป็นแบบ ที่พบเป็นพระชินเงินผิวปรอท ส่วนพุทธคุณนั้นเหมือนกับ พระร่วงนั่งหลังลิ่มทุกประการ คือแคล้วคลาดภยันตราย และคงกระพันชาตรี
พระท่ามะปราง สุโขทัย เป็นพระที่มีพุทธลักษณะแบบเดียวกับพระท่ามะปรางของ จ.กำแพงเพชร และ พระท่ามะปราง ของจ.พิษณุโลก แต่พระท่ามะปรางสุโขทัยจะมีขนาดเล็ก กว่าของทั้งสองจังหวัด พระท่ามะปรางสุโขทัยเป็นพระศิลปะสุโขทัยตอนปลาย พบครั้งแรกที่วัดมหาธาตุ เป็นเนื้อชินเงินผิวดำ มีรอยปริระเบิดเป็นหย่อม ๆ ต่อมาพบที่กรุเจดีย์สูง และกรุวัดเขาพนมเพลิง อีกด้วย แต่เป็นแบบเนื้อชินเงินผิวปรอทขาว
นอกจากนี้ พระท่ามะปรางสุโขทัย ยังพบเป็นเนื้อดินหยาบๆ อีกด้วย ค่านิยมของ พระท่ามะปรางสุโขทัย จะน้อยกว่า จังหวัดอื่น แต่ในด้านพุทธคุณนั้นมิได้ยิ่งหย่อน กว่าพระท่ามะปรางของเมืองอื่นเลย คือ ดีทางแคล้วคลาดและโภคทรัพย์
พระนางแขนอ่อน สุโขทัย เป็นพระที่มีการค้นพบควบคู่กับพระท่ามะปรางสุโขทัย คือทั้งกรุวัดมหาธาตุ วัดเจดีย์สูง วัดเขาพนมเพลิง พบเป็นแบบชินเงินผิวดำสนิมตีนกา และผิวปรอท ส่วนเนื้อดินเป็นแบบเนื้อหยาบ พุทธคุณเหมือนกันทุกกรุ คือ แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม
พระเชตุพน สุโขทัย มีต้นกำเนิดที่วัดเชตุพน จึงใช้ชื่อวัดเป็นชื่อพิมพ์พระ ต่อมาพระเชตุพนแตกออกมาอีกหลายกรุ ซึ่งต่างก็เรียกเหมือนกัน
พระเชตุพนเป็นพระศิลปะสุโขทัย หมวดตะกวนผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยบริสุทธ์ ที่พบเป็นพระหลายพิมพ์ แต่แบ่งเป็น ๒ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งมีขนาดองค์จริงสูงประมาณ ๖ ซม. กว้างประมาณ ๓ ซม. มีพุทธลักษณะเด่น คือประทับนั่งบนฐานบัว มีทั้งแบบ ๒ ชั้น และชั้นเดียว ส่วนอีกแบบเป็นแบบพิมพ์เล็ก มักเรียกกันอีกแบบว่า พระร่วงนั่งหน้าโหนก สุโขทัย ขนาดองค์จริงเล็กมาก ประมาณ ๑.๕ ซม. เท่านั้น พระเชตุพนมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน พุทธคุณดีทางแคล้วคลาดคงกระพัน
พระหลวงพ่อโต วัดป่ามะม่วง เป็นพระสกุลช่างสุโขทัยแบบตะกวนอีกกรุหนึ่ง พุทธลักษณะเป็นพระปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานเขียง ในซุ้มเรือนแก้ว ๒ เส้นซ้อนกัน พบเป็นเนื้อดินหลังอูม พบจากกรุวัดป่ามะม่วงและกรุวัดสระศรี ซึ่งวัดป่ามะม่วงนี้ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงใช้เป็น ที่จัดแสดงธรรม และว่าราชการงานเมืองอีกด้วย พุทธคุณของพระหลวงพ่อโตวัดป่ามะม่วง นี้เป็นที่นิยมมาก ในสมัยก่อน เพราะมีพุทธคุณสุดยอดทางด้านคงกระพันชาตรี ไม่แพ้พระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิง ของจ.พระนครศรีอยุธยา เลยทีเดียว จนมีคำกล่าว ในสมัยโบราณว่า เป็นนักเลงพระต้องมี หลวงพ่อโตวัดป่ามะม่วง
พระแม่ย่า กรุวัดเขาแม่ย่า เป็นพระเนื้อดินปางสมาธิมีเครื่องทรงและเกล้ามวยผม แบบเครื่องทรงของสตรีฝ่ายในของสุโขทัยสมัยยุคพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นที่มาของชื่อพระ เอกลัษณะของพระแม่ย่า คือ มีแม่พิมพ์ที่เกิดจากการแกะสลักจากไม้ ทำให้ปรากฏรอยเสี้ยนไม้ตามผิวขององค์พระ พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยม
พระร่วงยืน กรุทัพเข้า เป็นพระเนื้อผงขาวที่จัดได้ว่าเป็นพระเนื้อผง ที่เก่าแก่กว่าพระเนื้อผงชนิดอื่น ๆ ในไทย เป็นพระยืนปางประธานพระอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แบบเดียวกับพระเนื้อดินของกรุเตาทุเรียง และกรุวัดมหาธาตุ แต่พบเพียงเนื้อผงขาวอย่างเดียว ไม่ปรากฏเนื้ออื่น เป็นพระที่หายากมาก พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยม และโภคทรัพย์
พระเมืองสุโขทัย และ ศรีสัชนาลัย ที่กล่าวมาทั้ง ๒ ตอนก็คงพอที่จะครอบคลุมพระของ เมืองทั้งสองที่วงการพระเครื่องให้ความนิยมมากพอควรเท่านั้น แต่ยังมีพระอีกหลายแบบ ที่พบไม่มาก มีความหายาก และน่าสนใจอีกหลายแบบ เมื่อมีโอกาสอันดีจะรวบรวมนำเสนอในภายหน้าต่อไป
|