(D)
พูดถึงองค์จตุคามรามเทพ ในยุคนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นรูปปั้นเทพหรือเทวดา 2 องค์อยู่ในวิหารทรงม้า นั่งเฝ้าตรงบันใดทางขึ้นพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ย้อนยุคไปได้ไกลถึงพันกว่าปีสมัยสร้างวัดพระธาตุ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ปักษ์ใต้บ้านเราครับ ที่แปลกไม่เหมือนกับรูปเทพหรือเทวดาที่พบในวัดต่าง ๆ คือองค์จตุคามรามเทพจะเป็นเทพในท่านั่งยกเข่าข้างหนึ่งเรียกว่าปางมหาราชลีลา ซึ่งดูราวกับว่าองค์ท่านเตรียมพร้อมที่จะลุกขึ้นยืนขึ้นมาปกป้องภยันตรายใด ๆ ที่จะมากล้ำกลายสู่พระบรมธาตุได้ตลอดเวลา เรียกว่าท่านเป็นเทพเทวดารักษาเมืองนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ ซึ่งความเป็นมาที่แน่ชัดไม่มีใครทราบ โดยความเชื่อศรัทธาในยุคนี้เริ่มมาจากการทรงเจ้าในปี 2528 และการสร้างศาลหลักเมืองผูกโยงหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชปี 2530 รายละเอียดต้องหาอ่านเอาจากหนังสือเกี่ยวกับองค์จตุคามรามเทพแล้วละครับท่าน
ได้ลองค้นหาพระกรุโบราณของปักษ์ใต้แล้ว ยังไม่พบว่ามีพระกรุใดของปักษ์ใต้ที่มีการสร้างพระเครื่องคล้ายรูปปั้นองค์จตุคามรามเทพไว้ แต่พบว่าพระกรุบางแบบของนครศรีธรรมราชมีการเชื่อมโยงลักษณะคล้ายกับพระกรุของทางภาคเหนือ,ภาคกลางอาทิเช่นพระปรกโพธิ์ กรุวัดท่าเรือ ลักษณะคล้ายกับพระชินราช ของพิษณุโลก, พระนาคปรก วัดนางตรา ลักษณะคล้ายกับพระนาคปรก ลพบุรี, พระผานไถ กรุวัดท่าเรือลักษณะคล้ายกับพระกรุพิมพ์ซุ้มกระรอกกระแต สุโขทัย, พระกรุศรีวิชัยพิมพ์ลูกเนียง ปางเสด็จจากดาวดึงส์ คล้ายพระกรุทัพชุมพล นครสวรรค์ เป็นต้น แสดงว่าอาณาจักรศรีวิชัยโบราณมิได้อยู่โดดเดี่ยว แต่มีการเชื่อมโยงทางศิลปวัฒนธรรมกับอาณาจักรอื่น ๆ ของประเทศไทย เห็นได้จากการสร้างพระเครื่องกรุโบราณต่าง ๆ ที่ค้นพบ
เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจที่พบว่าพระกรุโบราณที่มีลักษณะคล้ายมีเทพหรือเทวดา 2 องค์นั่งยกเข่าข้างหนึ่งหรือปางมหาราชลีลาคล้าย ๆ รูปปั้นองค์จตุคามรามเทพ กลับมีปรากฏในพระกรุโบราณของจังหวัดลำพูน ย้อนยุคไปไกลถึงยุคนครหิริภุญชัยพันกว่าปีมาแล้ว ได้แก่พระเลี่ยง และพระสิบสองของลำพูน ตามภาพถ่ายที่ลงประกอบบทความนี้ ด้านข้างซ้ายและขวาของพระเครื่องมีรูปพระนั่งยกเข่าอยู่ข้างละ 1 องค์เช่นกัน คล้าย ๆ กับว่ากำลังปกป้องรักษาพระพุทธรูปที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งท่านั่งเช่นนี้ เห็นว่าไม่ใช่เป็นท่านั้งปางหนึ่งของพระพุทธรูปหรือพระสาวกผู้หลุดพ้นและสงบ แต่น่าจะเป็นท่านั่งของเทพหรือเทวดาผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ ทำนองเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ดูแลความสงบเรียบร้อย หรือสามารถอำนวยชัย อำนวยพร ประเภท"ขอได้ ไหว้รับ" แน่ ๆ แต่ไม่ทราบว่าความจริงแล้วชาวลำพูนหรือชาวเหนือ จะจัดทั้ง 2 องค์ท่านข้างซ้ายและขวาดังกล่าวว่าเป็น "พระ" หรือ "เทพ" กันแน่ และเรียกท่านว่าอะไร แต่ผู้เขียนเห็นแล้วขนลุกเนื่องจากเหมือนองค์จตุคามรามเทพมาก ๆ อาจเป็นหลักฐานที่ค้นพบว่ามีการสร้างองค์จตุคามรามเทพในพระเครื่องพระกรุไทยโบราณก็ว่าได้ ดังนั้นในความคิด ความเชื่อของผู้เขียนแล้ว เห็นว่าองค์จตุคามรามเทพจึงอาจมิใช่เทพเทวดาผู้ปกป้องรักษาอาณาจักรศรีวิชัย (เมืองนครศรีธรรมราช) ของคนใต้เท่านั้น แต่อาจจะเป็นเทพเทวดาผู้ปกป้องรักษานครหิริภญชัย (เมืองลำพูน) ของชาวเหนือ ตลอดจนปกป้องรักษาอาณาจักรไทยโบราณอื่น ๆ อีกกว้างไกลที่ยังไม่พบหลักฐานด้วยก็ได้
บทความนี้เป็นความเชื่อความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ท่านอาจเห็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือมีข้อคัดค้านก็ขอให้เป็นอิสระ ผู้เขียนต้องการเพียงเปิดประเด็นใหม่ ๆ เพื่อให้มีการศึกษาในรายละเอียดสานต่อกันไปเท่านั้น...ทั้งนี้ด้วยความเคารพบูชาในองค์พ่อจตุคามรามเทพ
สำหรับท่านแล้วมีความคิดเห็นหรือมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไรช่วยโพสกันมาบ้างครับ ...สวัสดี
ต้องขออภัยท่านเจ้าของพระเลี่ยงที่ยืมรูปมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นวิทยาทานเท่านั้น ครับ |
|