การสร้างเหรียญเจ้าสัว 2 ปี พ.ศ.2535 เพื่อสมทบทุนพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก การสร้างครั้งนั้นมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มงคลวัตถุซึ่งทางวัดกลางบางแก้วสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการมอบตอบแทนให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในการสร้างพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก ซึ่งมีการดำเนินการ วิธีการและการจัดสร้าง ดังต่อไปนี้ เหรียญเจ้าสัว ตำรับหลวงปู่บุญ ซึ่งวัดกลางบางแก้วได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นในครั้งนี้ได้นำตำรับของหลวงปู่บุญมาปฏิบัติการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยมีท่านพระครูสิริชัยคณารักษ์ (สนั่น) เจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี และเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้วเป็นผู้ดำเนินการ พระอาจารย์เจือ ปิยะสีโล ศิษย์หลวงปู่เพิ่ม ผู้รับการถ่ายทอดพุทธาคมมาจากหลวงปู่บุญ อันถือว่าได้สืบทอดวิทยาคมมาจากหลวงปู่บุญเป็นผู้จารอักขระแผ่นยันต์ตามตำรับเหรียญเจ้าสัว อันประกอบด้วยยันต์ต่างๆ มากมาย เช่น ยันต์มหาโภคทรัพย์ 109 ยันต์มหาเศรษฐี เรือนเงิน-เรือนทอง ยันต์มหาลาภสังกัจจายน์ ยันต์มหาวาสนาบารมี 16 พระอรหันต์ และยันต์พระพุทธเจ้าตรึงไตรภพ เป็นต้น หล่อหลอมรวมกับชนวนโลหะพระชัยวัฒน์ของหลวงปู่บุญ ตลอดจนตะกรุด ทองคำ เงิน และทองแดงของหลวงปู่บุญ ซึ่งตกค้างอยู่ในกุฏิเก่าของท่าน นอกจากนี้ ยังได้รับชนวนพระสำคัญ และยันต์จากคณาจารย์ต่างๆ มากมายมาร่วมผสมในเนื้อโลหะของเหรียญเจ้าสัวรุ่นนี้ด้วยมากมาย แผ่นยันต์ ตลอดจนชนวนโลหะทั้งหมด จะทำการหล่อหลอมรวมเนื้อ เพื่อนำไปสร้างเหรียญเจ้าสัวทองคำ เงิน นวโลหะ และทองแดง ในวันอังคารที่ 14 เมษายน 2535 เวลา 07.19 น. อันได้ตำแหน่ง มหัทธโนฤกษ์ คือ ฤกษ์แห่งผู้มีทรัพย์ ณ วัดกลางบางแก้ว ท่ามกลางพิธีกรรมอันถูกต้อง ลักษณะของเหรียญ เหมือนเดิม ทุกประการ โดยกรรมวิธีการถอดแบบจากองค์ที่งดงามที่สุด ซึ่งมีค่าหลายแสนบาท ด้วยกรรมวิธีการถอดแบบที่ประณีตบรรจง และพิถีพิถันในการหล่อ หลอมจัดสร้างเพื่อให้งดงามสมบูรณ์ทุกเหรียญเสมอเหมือนกัน ด้านหลังเหรียญบรรจุพระคาถามหาโภคทรัพย์ของหลวงปู่บุญคือ อะระหัง ภควา นะชาลีติ จำนวนการจัดสร้าง ซึ่งเหรียญแต่ละชนิดมีจำนวนการสร้าง ดังนี้ 1. เหรียญเจ้าสัวทองคำ 700 เหรียญ 2. เหรียญเจ้าสัวเงิน 6,685 เหรียญ 3. เหรียญเจ้าสัวนวโลหะ 7,230 เหรียญ 4. เหรียญเจ้าสัวทองแดง 9,000 เหรียญ สัญลักษณ์สำคัญหรือ โค้ด คณะกรรมการได้ทำการตอกโค้ดสำคัญด้านหลังเหรียญเจ้าสัวทุกเนื้อและทุกเหรียญ เพื่อกันการปลอมแปลงในอนาคต พิธีพุทธา-มังคลาภิเษก คณะกรรมการ ซึ่งมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เป็นประธานการสร้างฝ่ายฆราวาส ได้นำมงคลวัตถุชุดนี้ทั้งหมดไปให้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แผ่เมตตาจิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นในวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2535 ทำพิธีพุทธามังคลาภิเษก ณ โบสถ์วัดกลางบางแก้ว ในเวลา 13.39 น. อันได้ตำแหน่ง มหัทธโนฤกษ์ คือฤกษ์แห่งผู้มีทรัพย์ โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นประธานจุดเทียนชัย และได้นิมนต์พระคณาจารย์มาร่วมพิธีพุทธมังคลาภิเษก จำนวน 76 รูป |
|