(N) เทพเจ้า..แห่งเขาคิชฌกูฏ....
พระครูธรรมสรคุณ (หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร) วัดกะทิง ต.พลวง กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
- อัตโนประวัติ
พระครูธรรมสรคุณ หรือ พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร เป็นพระที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมพัฒนาช่วยเหลือทางสังคม สาธารณประโยชน์ การศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย
พ่อท่านเขียน มีนามเดิมว่า เขียน ทองคำ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2473 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ณ บ้านกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ (ขณะนั้นเป็นอำเภอมะขาม) จ.จันทบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายอยู่ และนางมุ้ง ทองคำ ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่าและสมุนไพร ดังนั้น ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาพืชสมุนไพรและของป่าบนเขาคิชฌกูฏ จนมีความชำนิชำนาญ
ปัจจุบัน สิริอายุ 81 พรรษา 60 (เมื่อปี พ.ศ.2554) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกะทิง บ้านกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และเจ้าคณะอำเภอมะขาม จ.จันทบุรี
ท่านเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
- การอุปสมบท
จนกระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2494 โดยมีพระครูนิเทศคณานุสิฏฐ์ วัดหนองอ้อ ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูพุทธบทบริบาล วัดพลวง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ขนฺธสโร
ในปีเดียวกัน ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
- ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ.2499 ท่านพ่อรุ่ง เจ้าอาวาสวัดกะทิง ได้มรณภาพลง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกะทิงสืบแทน
พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เจ้าอาวาสชั้นตรีที่ พระครูธรรมสรคุณ และได้รับพัดพิเศษจากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.2520 ได้รับพัดพิเศษในโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร
พ.ศ.2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นตรี
พ.ศ.2533 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท
พ.ศ.2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขามชั้นโท พร้อมกันนี้ ได้ริเริ่มโครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน โดยการเข้าไปบรรยายในโรงเรียนหลายแห่ง แล้วนำร่องด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่อำเภอมะขาม และกิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ
พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขามชั้นเอก
- สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ.2538 ได้ริเริ่มโครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน โดยการเข้าไปบรรยายธรรมในโรงเรียนหลายแห่ง แล้วนำร่องด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่อำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ
พ.ศ.2541 ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง นำวัดเข้าสู่โรงเรียน ออกเผยแพร่ และจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง อารยธรรมของจันทบุรี-อาณาจักรจันทบูรเมืองเพนียด ครั้งแรกและจัดพิมพ์ครั้งที่สอง
จากผลงานดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติอนุมัติปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระครูธรรมสรคุณ (พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร) โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จประทานปริญญา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2546
รวมทั้ง ได้รับโล่เกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการแนะแนวชีวิตและสังคม ประจำปี พ.ศ.2546 จากกระทรวงศึกษาธิการ
- พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ
ทุกครั้งที่หน่วยงานราชการ องค์กรการกุศล โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หรือประชาชนทั่วไป เข้ามาขอรับความอนุเคราะห์จากพ่อท่านเขียน ขนฺธสโร ท่านไม่เคยปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ชาวบ้านญาติโยมจึงได้ขนานนามท่านว่า เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ
พระครูธรรมสรคุณ (พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร) มีความชำนิชำนาญด้านนวกรรมจิตตภาวนาเหมือนการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ดังเช่นครั้งหนึ่งได้เคยทำนายว่าจะเกิดเหตุน้ำป่าท่วมเมืองจันท์ฯ โดยท่านได้กล่าวทำนายก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำป่าท่วมจังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ.2542 ในเขตพื้นที่กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ, อ.มะขาม และ อ.เมืองจันทบุรี
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ชำนาญด้านพื้นที่ตามเชิงเขาสูง สามารถหยั่งรู้ดินฟ้าได้ล่วงหน้า ประกอบกับการเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏได้รวดเร็วจนชาวบ้านเดินตามไม่ทัน ท่านพ่อเขียนเดินได้รวดเร็วคล้ายกับการหายตัว แม้วัยของท่านจะล่วงมาถึงกว่า 80 ปีแล้วก็ตาม
- งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
พ่อท่านเขียน ขันธสโร ท่านเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการจัดงาน ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ซึ่งอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ขึ้นเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 60 วัน ระหว่างปลายเดือนมกราคม (หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์) จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม (หรือเดือนเมษายน) ของทุกๆ ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงพุทธานุสติ โดยจะมีพิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน รวมทั้ง พีธีปิดป่าหรือพิธีปิดตาสัตว์ป่าป้องกันภัยจากสัตว์ร้าย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชน
การเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏนั้นมีสืบต่อกันมานานกว่า 155 ปีแล้ว โดยมีผู้พบรอยพระพุทธบาทและก้อนหินลูกบาตรยักษ์ (ก้อนหินใหญ่รูปทรงกลมคล้ายบาตรพระขนาดยักษ์) ตั้งบนหน้าผาสูงยอดเขาพลวง อย่างน่าอัศจรรย์ ในราวปี พ.ศ.2397 ต่อมาในปี พ.ศ.2515 พ่อท่านเขียนได้บุกเบิกทางขึ้น และนำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรก และค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน รอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีความพิเศษตรงที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,050 เมตร นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปรากฏอยู่บนก้อนหินใหญ่ โดยใกล้กันนั้นมี หินลูกพระบาทหรือหินลูกบาตร ที่เป็นหินก้อนใหญ่มากตั้งตระหง่านอยู่ลักษณะเหมือนหินเรือใบที่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกับรอยพระพุทธบาท ยังมีประติมากรรมหินรูปร่างแปลกตาที่สอดคล้องกับตำนานทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น หินพระนอน ลานแข่งรถพระอินทร์ ถ้ำฤาษี หินรูปร่างคล้ายเต่าและช้างใหญ่ รวมถึงรอยเท้าพญามาร เป็นต้น ปรากฏให้เห็นด้วย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ทางราชการจังหวัดจันทบุรีจะบรรจุให้งาน ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) เป็นแผนการท่องเที่ยวก็ตาม แต่สาธุชนชาวพุทธควรถือเป็นการขึ้นเขาบำเพ็ญศีลเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่า เมื่อได้เดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏเพื่อสักการะสวดมนต์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะได้รับมหากุศล ประสบแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความโชคดีทุกคน
- สัมโมทนียกถา
พระครูธรรมสรคุณ (พ่อท่านเขียน ขันธสโร) ได้กล่าว สัมโมทนียกถา เนื่องในการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสเริ่มดำเนินกิจการโรงแรมทิพปุระ ของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสระแก้ว เป็นข้อคิดเตือนใจพุทธศาสนิกชน ความว่า มีหลายคนกลัวว่าศาสนาพุทธจะเสื่อม แต่หลวงพ่อคิดว่าถ้าพุทธศาสนิกชนยังปฏิบัติสืบทอดพระศาสนาก็ยังอยู่ได้อีกนาน แต่มีข้อเตือนใจคือ ปัจจุบันคนไทยชอบยึดติดความเป็นสากล จนลืมมารยาทไทยที่งดงามมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดี๋ยวนี้เวลาฟังพระเทศน์ ฟังธรรม มักจะนั่งบนเก้าอี้ เวลากราบพระก็ยกมือขึ้นฟ้า เหมือนคนไหว้กัน จึงอยากจะให้เปลี่ยนวิธีเสียใหม่ เช่น ให้นั่งราบกับพื้น หรือถ้าจำเป็นต้องนั่งบนเก้าอี้ เวลากราบพระให้ก้มศีรษะลงจนแขนจรดต้นขา
ส่วนเวลาอุทิศส่วนกุศล บางคนบอกว่าทำบุญด้วยใจทำไมต้องกรวดน้ำ ที่จริงการใช้น้ำเป็นเสมือนสื่อให้ใจหยุดนิ่งในบุญกุศล ไม่ให้เตลิดไปทางหนึ่งทางใด หรือพระสงฆ์ใช้ประคำก็เพื่อเป็นสื่อทำให้จิตนิ่ง อย่านำไปแขวนคอ หรือการกล่าวคำของชาวพุทธ เช่น อย่ากล่าวคำว่าเลี้ยงพระ ให้กล่าวว่า ถวายข้าวพระหรือบูชาข้าวพระพุทธ การเชิญพระให้พูดว่า อาราธนา นอกจากนี้ไกด์ท่องเที่ยวเวลาพาผู้หญิงไปวัด ก็ไม่ตักเตือนว่านุ่งสั้นเกินไป เวลานั่งทีต้องวุ่นวายหาผ้ามาปิดเข่า
หลวงพ่อเขียน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประชาชนไทยร้อยละ 80 นับถือพระพุทธศาสนา แต่จะมีร้อยละเท่าไรที่เป็นลูกพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เรื่องง่ายๆ คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว ถ้าทุกคนยึดมั่นในศีลห้า จะเป็นทางไปสู่สวรรค์หรือได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ใครร่ำรวยไม่ทำบุญจะเป็นผีเฝ้าทรัพย์ คนที่นอนฟังพระจะเกิดเป็นจระเข้ขวางคลอง คนที่นั่งฟังแล้วสัปหงกก็จะไปเกิดเป็นลิง
นอกจากนี้ หลวงพ่อเขียน แห่งวัดเขาคิชฌกูฏ ยังให้ข้อคิดถึง วัตถุมงคล ที่แจกให้สาธุชนที่ไปทำบุญที่วัดว่า ผ้ายันต์ใช้ปราบสิ่งไม่ดี เหมือนสมัยก่อนหลวงพ่อฝึกเด็กซนๆ จนได้เป็นโรงเรียนดีเด่น ส่วนลูกแก้วก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงแก้วเก้าประการ เพื่อให้สามี-ภรรยาใช้เป็นเครื่องเตือนใจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน เพราะเรื่องในมุ้งจะกลายเป็นเรื่องนอกบ้าน เวลาไม่พอใจใครให้ก้มหน้ามองตนเองในลูกแก้ว เหมือนเวลาส่องกระจกดูตัวเอง หน้าบึ้ง หน้างอ ไม่สวย นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ฯลฯ เป็นแบบอย่างในการขยายผลเรื่องการนำธรรมไปสู่บ้านสร้างวิมานในครอบครัว มีของดี มีข้าวใหม่ ผลไม้ใหม่ แต่งงานใหม่ ต้องถวายพระเป็นการสะสมบุญกุศล และสืบทอดพระพุทธศาสนา |
|