(N)
รูป เหมือนพระเกจิอาจารย์ลอยองค์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการสะสม พระเครื่อง ย่อมไม่คลาดไปจากรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร รูปปั๊มเหมือนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์
ทว่า ชื่อเสียงของหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ย่อมมิบันเบาเป็นอย่างแน่นอน ความโด่งดังของท่านเห็นได้จากวัตถุมงคลของท่านที่คนย่านราชบุรีและ สมุทรสงคราม ตระหนักได้ดีและล้วนต่างหวงแหนกันยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ขนาดหน้าตัก ๑ นิ้ว ที่เจ้าพ่อกังวาน วีระนนท์ คลองบางนกแขวก พกพาติดตัวไปไหนต่อไหนตลอดเวลา ก็ได้อาศัยรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มนี่แหละ กำบังตนให้รอดพ้นจากสายตาของตำรวจกองปราบ ซึ่งบุกเข้ามาจับถึงในบ้าน แต่หาตัวเจ้าพ่อไม่พบอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทั้ง ๆ ที่เจ้าพ่อก็ตกใจยืนตัวแข็งท่องนะโมอยู่กลางบ้าน ในคอเจ้าพ่อแขวนรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มรุ่นนี้องค์เดียวเอง หากมาพลาดเมื่อลืมทิ้งไว้บนบ้านขณะกำลังอาบน้ำ จึงสิ้นชื่อไปในที่สุด นี่ยังไม่รวมเรื่องเล่าขานต่างๆนาๆอีกนับไม่ถ้วนในเรื่องคลาดแคล้ว คงกระพันต่างๆอีกมากมาย
กล่าวสำหรับอัตโนประวัติของหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ถือ กำเนิดที่ราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ อันตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ที่ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนทั้งหมด ๙ คนของนายทุ้ม กลิ่นเทพเกษร และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร ในครั้งที่ท่านมีอายุได้ ๙ ปี บิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงพ่อโต๊ะ วัดราชคาม ครั้งมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดท่าสุวรรณ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๖๐ โดยมีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า &#8220พุทธสโร&#8221
จากนั้นจึงจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชคาม ได้ศึกษาเล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์ (หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ) พระ อนุสาวนาจารย์ และพระกรรมวาจารย์ของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระอธิการพู่ เจ้าอาวาสวัดราชคาม มรณภาพลง หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ก็ได้รับการนิมนต์จากญาติโยมให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน ซึ่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแล้ว ได้ทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ ได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านวัตถุ ตลอดจนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ได้จัดสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระประธานประจำพระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง ฌาปนกิจสถาน และที่สำคัญยิ่งคือ ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาทางธรรม ซึ่งก็คือการเรียนพระไตรปิฏกนอกจากนั้นยังได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของลูกหลานชาวบ้านในละแวกวัด ซึ่งมีชื่อว่า &#8220โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล&#8221
นอก จากนั้น ยังได้ช่วยเหลือวัดใหม่ต้นกระทุ่ม จังหวัดราชบุรีในการดำเนินการสร้างพระอุโบสถ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสมณศักดิ์เป้นพระครูชั้นประทวน
หลวง พ่อชุ่ม พุทธสโร สมัยหนุ่ม ๆ เคยเดินธุดงค์ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าไปปักกลดบำเพ็ญเพียรภาวนากับพระ อาจารย์ลึกลับในถ้ำมะละแหม่งในเขตพม่ากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (พระไพโรจน์วุฒาจารย์) และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรียนวิชาอาคมต่าง ๆ มาด้วยกัน กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จมาเยี่ยมถึงที่วัดราชคาม เพราะเป็นศิษย์พระอาจารย์เดียวกัน
วัตถุ มงคลของหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร นั้นมีเหรียญแสตมป์สี่เหลี่ยม ด้านหน้าสกรีนรูปท่าน ด้านหลังเป็นยันต์เนื้ออลูมิเนียม ๒ ชิ้นประกบกัน หาดูได้ยากยิ่ง สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญออกให้เช่าบูชาเพื่อหาทุนสร้างพระอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก (ออกที่วัดราชคาม) สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญพิมพ์คือยันต์อุ (นิยม เพราะสร้างก่อนจนบล๊อกชำรุด ) สำหรับเนื้อทองฝาบาตร(สร้างน้อย)และเนื้อทองเหลือง,๘,๐๐๐ เหรียญ สำหรับเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง ส่วนบล็อคยันต์จุดสร้าง ๑๐,๐๐๐ สำหรับเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง (ปัจจุบันหายากขึ้นเรื่อยๆ) และในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนรูปใข่ขนาดเล็กเป็นรุ่นที่ ๒ มี ๓ เนื้อประกอบไปด้วย ทองเหลือง อัลปาก้า และทองแดง(บางเหรียญมีกระไหล่ทอง) ในปี ๒๔๙๔ นี้มีแหวนด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
ใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก่อนหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร จะมรณะภาพ ๑ ปี ได้มีการจัดสร้างรูปเหมือนขนาดใหญ่ของหลวงพ่อชุ่ม พุทธสโรขึ้นและได้จัดสร้างรูปหล่อขนาดหน้าตักกว้าง ๑ นิ้ว ขึ้นด้วย เป็นเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองอุดกริ่งที่ใต้ฐานปิดทับด้วยทองแดง จำนวนการสร้าง ๑,๑๑๐ องค์ โดยในการสร้างครั้งแรกนั้น ช่างที่กรุงเทพฯได้ สร้างตัวอย่างมาถวายให้หลวงพ่อเลือกจำนวน ๑๐ องค์ (ภายหลังแจกให้แก่กรรมการวัด)โดยทั้ง ๑๐ องค์มีการตกแต่งมาเรียบร้อยแล้วแต่ด้วยอายุของหลวงพ่อที่มากแล้วทำให้การ สร้างแล้วแต่งองค์พระทำให้เสียเวลารวมทั้งต้นทุนที่แพงเกินไปจึงไม่ได้ ผลิตออกมา แต่ได้เลือกเอาพระที่หล่อเสร็จแล้วไม่ได้ตกแต่งแต่ให้รมดำมาทดแทน และได้ตอกโค๊ตอักษรใต้ฐานว่า &#8220พระครูชุ่ม&#8221 (บางองค์ตอกด้านหน้าที่ฐานก็มี) ซึ่งต้องสังเกตให้ดีเพราะเป็นข้อพิจารณาพระเก๊-แท้ได้เป็นอย่างดี ส่วนพระที่ไม่ได้ตอกก็มีเช่นกันแต่มีจำนวนน้อยแค่ ๑๐๐ องค์โดยประมาณ เนื่องจากหลังจากสร้างเสร็จได้มีการออกให้บูชาไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ตัวตอกยังดำเนินการส่งมาไม่ถึงและพระชุดนี้ได้ออกให้บูชาไปก่อนแล้ว
ลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง ด้านหลังเห็นสังฆาฏิ และรอยจีวรอย่างชัดเจน
ใต้ฐานตรงกลางเยื้องไปด้านหลังมีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่งและผงพุทธคุณไว้ด้านใน
หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๐๔.๓๐ น. มีอายุได้ ๗๗ ปี ๕๗ พรรษา และร่างกายหาเน่าเปื่อยไม่. |