(N)
วันนี้ขอนำเสนอข้อมูลเหรียญอมตะขึ้นทำเนียบเหรียญอมตะหายากอีกเหรียญ คือเหรียญหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน จ.อุตรดิตถ์ สร้างในปี พ.ศ. 2483
ซึ่งปัจจุบันได้มีการสร้างเหรียญปลอมขึ้นมามากมายหลายเนื้อด้วยกันทั้งเนื้อเงิน ทองแดง จึงทำให้เกิดความสับสน ว่าจริงๆแล้วเหรียญหลวงพ่อเพชรวัดท่าถนนปี 2483 นั้น มีกี่เนื้อ กี่พิมพ์ กันแน่ วันนี้จึงขอนำรายละเอียดมาเผยแพร่ให้ทุกๆท่านได้รับทราบดังนี้ครับ
เหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน ปี พ.ศ.2483 เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นเหรียญหลัก เหรียญอมตะของวงการไปแล้ว ณ เวลานี้
ราคาเช่าหาก็สูงค่าขึ้นตามกาลเวลาและความนิยม
ประวัติการสร้างโดยสังเขป ปี พ.ศ .2483 ชาวบ้าน และคณะกรรมการวัดท่าถนน หรือวัดวังเตาหม้อเดิมนั้น ได้ร่วมกันสร้างเหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อเพชรขึ้นมา
ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยฉลุ ด้านหน้าเหรียญ ได้จำลองพุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชร ประทับนั่ง ขัดสมาธิ ใต้ฉัตร 9 ชั้น ล้อมด้วยโบหางแซงแซว มีอักษรไทย
ความว่า " หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน " ด้านล่างมีคำว่า " พ.ศ. 2483 " ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ 8 มุม ตรงกลางยันต์ มีอักขระขอมโบราณตัว "นะ" และเชื่อมติดเข็มกลัดไว้
เกจิปลุกเสก โดยมีพระครูธรรมฐิติวงศ์(หลวงพ่อบุญใหญ่) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เป็นเจ้าพิธี และได้นิมนต์ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ จ.อยุธยา
(ศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) สมเด็จพุฒาจารย์นวม วัดอนงค์ฯ จ.กรุงเทพ (เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือขณะนั้น) หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
จ.นครสวรรค์หลวงพ่อฝ้าย วัดสนามชัย จ.พิษณุโลก หลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว จ.พิษณุโลก หลวงพ่อกลม วัดดอยท่าเสา หลวงพ่อไซร้ วัดช่องลม จ.อุตรดิตถ์ หลวงพ่อต่วน วัดลาย
จ.สุโขทัย มาร่วมปลุกเสกเป็นต้น
รูปแบบพิมพ์การสร้าง เหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อเพชรแบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ
1. พิมพ์กนกนอก
2. พิมพ์กนกใน
รายละเอียด ลักษณะของแต่ละพิมพ์
1. พิมพ์กนกนอก จะมีด้วยกันหลายเนื้อ
1.1 เนื้อเงิน แบ่งออกเป็น 1.1.1เนื้อเงิน 1.1.2เนื้อเงินลงยาสีแดง 1.1.3เนื้อเงินลงยาสีน้ำเงิน
1.2 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
1.3 เนื้อทองแดงรมดำ
ลักษณะเหรียญเข็มกลัด พิมพ์ กนกนอก จุดสังเกตุ โบว์บริเวณบ่าองค์พระทั้งสองข้างจะม้วน กนกปลายจะแหลมออกนอกขอบ
เหรียญ และที่สำคัญ การเชื่อมเข็มกลัดด้านหลังจะมีแท่งเก็บเข็มกลัด ต่างจากพิมพ์ กนกใน
2. พิมพ์กนกใน เหรียญพิมพ์กนกในนี้ ยังแยกออกเป็นอีก 2 พิมพ์ คือ 1.พิมพ์กนกในพื้นเรียบ 2.พิมพ์กนกในพื้นเม็ดไข่ปลา(จะมีเม็ดกลมๆเล็กๆเหมือนไข่ปลา ตามพื้นเหรียญ ซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์ไม่ค่อยสะอาด)
พิมพ์กนกใน จะสร้างแค่ 1 เนื้อ คือ เนื้อทองแดง แต่จะแยกรูปแบบออกเป็น
- เนื้อทองแดง
- เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน
- เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง (ซึ่งกะไหล่ทองจะพบเห็นน้อยมาก)
ลักษณะเหรียญเข็มกลัด พิมพ์ กนกใน โบว์บริเวณบ่าองค์พระทั้งสองข้างจะม้วนเป็นกนก ซึ่งจะอยู่ภายในขอบซุ้มตัวเหรียญ ไม่ยื่น
ออกไปด้านนอก เหมือนพิมพ์กนกนอก และเข็มกลัดด้านหลัง จะไม่มีแท่งเก็บเข็มกลัด เหมือนพิมพ์กนกนอก
* หมายเหตุ *
เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2550 ได้มีเซียนพระทำการสร้างเหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อเพชร พิมพ์กนกใน ปลอมขึ้นมา
ซึ่งเนื้อที่ทำการสร้างปลอมขึ้นมานั้น คือ เนื้อเงิน เนื้อเงินลงยา เนื้อเงินพิมพ์เม็ดไข่ปลา ซึ่งทั้งหมดเป็นพิมพ์กนกในทั้งสิ้น ได้นำออกมา
ขายและก็ระบาดไปทั่วทั้งในและนอกจังหวัดอุตรดิตถ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีบรรดาเซียนพระทั้งในจังหวัดอุตรดิตถ์ และต่างจังหวัด
โทรมาสอบถามข้อมูลที่แท้จริง กับทาง ชมรมพระเครื่องจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางชมรมฯได้อธิบายและชี้แจงไปแล้วว่า
เหรียญเข็มกลัดหลวงพ่อเพชรพิมพ์กนกใน ไม่มีการสร้างเนื้อเงินออกมาเลย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง
เป็นมาตรฐานในทางเดียวกัน ทางชมรมพระเครื่องจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้นำข้อมูลมาเผยแพร่และแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน ตามข้อมูล
ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น |