(N)
ในปีพ.ศ.2482 ณ เทวสถาน เสาชิงช้า ที่เราท่านรู้จักกันในนาม โบสถ์พราหมณ์ ได้ดำริจัดสร้างวัตถุมงคลพระเครื่องในรูปของ พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ขึ้นโดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีสุทธิคุณ(สวาดิ์ รังสิพราหมณกุล) และภรรยา เป็นประธานจัดสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่สักการะบูขาและเป็นอนุสรณ์แห่งสกุล รังสิพราหมณกุล
ในการนี้ ทางคณะผู้สร้างได้เข้าเฝ้ากราบทูล สมเด็จพระสังฆาราช (แพ) วัดสุทัศน์ เพื่อทูลขอทองชนวนเพื่อนำมาผสมเป็นเนื้อโลหะเพื่อใช้ในการเทหล่อพระเป็นกรณีพิเศษ และในการนี้ ทางคณะผู้สร้างได้ทูลขออนุญาตอาราธนานิมนต์ พระศรีสัจจญาณมุนี(สนธิ์)และคณะศิษย์เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์
พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ที่จะจัดสร้างนี้ ได้รับการออกแบบพิมพ์โดย พระเทพรจนา(สิน ประติมาปกรณ์)ช่างหลวงในรัชกาลที่ 6 โดยประกอบพิธีเทภายหลังจากการสร้าง พระกริ่งหน้าอินเดีย คือประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2482 และใช้สถานที่ประกอบพิธีคือ ภายในบริเวณ เทวสถาน หรือ โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงเช้า การสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ดังกล่าว ท่านเจ้าคุณศรีฯ(สนธิ์)ได้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งนั่งปรกบริกรรมร่วมกับพระคณาจารย์หลายรูปดังนี้
ชุดที่1 สวดเจริญพระพุทธมนต์รวม 10 รูป โดยมี พระธรรมเจดีย์(อยู่)วัดสระเกศ เป็นประธาน
ชุดที่2 1.พระญาณโพธิ(เข็ม)วัดสุทัศน์ 2.พระครูอาคมสุนทร(มา)วัดสุทัศน์ 3.พระครูธรรมกลาสุนทร (หลี)วัดสุทัศน์ 4.พระอาจารย์เกลี้ยง วัดสุทัศน์ 5.พระครูปลัดแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี เป็นต้น
ชุดที่3 1.พระศรีสัจจญาณมุนี(สนธิ์) วัดสุทัศน์ 2.พระครูอาคมสุนทร(มา) วัดสุทัศน์
มวลสารเป็นโลหะผสมต่างๆ ตามสูตรของวัดสุทัศน์ และ มีทองชนวนพระกริ่งในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จำนวนหนึ่งผสมอยู่ด้วย สำหรับจำนวนพระที่เทได้นั้น มี จำนวนดังนี้
1.พระกริ่ง มีจำนวน 108 องค์ 2.พระชัยวัฒน์ ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง
เมื่อเทพระเสร็จเรียบร้อย จึงได้ถวายสมัญญานามวัตถุมงคลพระเครื่องชุดนี้ว่า พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ โบสถ์พราหมณ์
พุทธลักษณะ : พระกริ่งโบสถ์พราหมณ์ เป็นพระที่หล่อแบบกริ่งในตัว องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายทรงวัชระ เหนือฐานอาสนะ 2 ชั้น ด้านหน้าเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบ ใต้ฐานมีตัว อุ แบบเส้นนูน รายละเอียดโดยทั่วไปปรากฏชัดทุกส่วน
ส่วนพระชัยวัฒน์โบสถ์พราหมณ์องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายทรงหม้อน้ำมนต์เหนือฐานอาสนะ 2 ชั้น ฐานด้านหน้าเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบ รายละเอียดทั่วไปปรากฏชัดทุกส่วน ไม่มีการแต่งพิมพ์แต่อย่างใด ในส่วนด้านกระแสเนื้อ ผิวนอกของเนื้อพระจะเป็นสีออกน้ำตาลเข้ม ผิวในออกเหลืองนวลเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า พระกริ่งและพระชัยวัฒน์โบสถ์พราหมณ์นั้น มีจำนวนการสร้างน้อย และได้รับความนิยมไม่มากเท่ากับพระสายวัดสุทัศน์แท้ๆแต่เมื่อเป็นพระเครื่องที่มีท่านเจ้าคุณศรีฯเป็นประธานเทหล่อ รวมทั้งมีชนวนพระกริ่งในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ผสมอยู่ เชื่อได้ว่าพระกริ่งและพระชัยวัฒน์โบสถ์พราหมณ์ย่อมต้องเป็นสุดยอดพระเครื่องไม่ด้อยไปกว่าพระกริ่งสายวัดสุทัศน์แตอย่างใด
ที่มา: http://www.xn--42cgm7ec1abs3e1a2ab2d1g9eg.com/ |
|