(N)
ดูพระเครื่อง เก๊แท้กันตรงอายุความเก่า
อายุความเก่า
พระเครื่องวัตถุทุกชนิดหรือแม้แต่สิ่งมีชึวิตก็ตามย่อมมีการแปรเปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลาอย่างคนเราแรกเกิดเป็นทารกก็แบบหนึ่ง โตเป็นเด็กก็แบบหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่ก็แบบหนึ่ง เป็นคนแก่คนชราก็แบบหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดที่จะคงสภาพเดิมรักษาอยู่ได้ตลอดไป
พระเครื่องก็เช่นกัน เมื่อแรกสร้างมาใหม่ๆก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อผ่านระยะเวลาไปนานก็จะมีสภาพอีกแบบหนึ่ง อย่างพระเครื่องเนื้อผงตึงเรียบดีแต่พอนานไปความชื้นที่อยู่ภายในเนื้อหาอันเกิดจากตัวประสานก็จะเกิดการระเหยแห้ง ทำให้พระมีรอยย่น รอยหด หรือรอยแตกหรืออาจมีคราบฝ้าจับคลุมตามพื้นผิวถ้าเป็นพระเนื้อดินเมื่อสร้างนานๆไปแล้วก็จะเกิดการรวมตัวกันเข้าทำให้ดูหนึกนุ่มแน่นและแห้ง ส่วนเนื้อโลหะถ้าเก่าก็จะแห้งซีด ดูด้าน ไม่มีประกายแวววาวสดใส เหตุที่ว่าโลหะเมื่อเก่าแล้วจะไม่มีประกายแวววาวสดใสเขาเรียกกันว่าเพราะโลหะมันหมดน้ำยาเสียแล้ว ถ้าเป็นเนื้อชินเงินก็จะแสดงความเก่าโดยมีคราบปรอทจัดตามผิวหรือมีรอยระเบิด รอยสนิมขุม ถ้าเป็นชินตะกั่ว ก็จะมีคราบไข ซึ่งคราบไขของชินตะกั่วจะดูเปล่งปลั่ง สดใส มีน้ำมีนวล แต่ที่ว่าเปล่งปลั่ง สดใส มีน้ำมีนวลนี้ไม่ใช่ว่าชื้นแต่จะแห้ง คือ แห้งแบบสดใสเปล่งปลั่งไม่ใช้แห้งผาก คราบไขของพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วถ้าแห้งแบบแห้งผากก็แสดงว่าเก๊แน่นอน
อันธรรมชาติความเก่าของพระเครื่องที่สร้างด้วยเนื้อหาเหล่านี้จะมีขึ้นได้ต้องอาศัยระยะกาลเวลาเป็นตัวทำ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การดูธรรมชาติความเก่าของพระเครื่อง ก็ต้องแยกให้ออกว่าอันไหนเก่าเพราะแกล้งเก่า ซี่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ของแบบนี้มันไม่เหมือนกัน
เครดิตข้อมูล: http://www.xn--42cgm7ec1abs3e1a2ab2d1g9eg.com/ |
|