(N)
ประวัติ ลพ.จ้อย จันทสุวัณโณ วัดศรีอุทุมพร ( วัดวังเดื่อ ) ต.หนองกรด อ.เมือง นครสวรรค์
นามเดิม จ้อย ( ภาษาลาวพื้นบ้านเรียกว่า จ่อย แปลว่าผอม ) ชาติภูมิ ต.พรวงสองนาง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
ฉายา จันทสุวัณโณ ชาติกาล วันอังคารที่ ๘ เมษายน ๒๔๕๖ (ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนาย แหยม-นางบุญ ปานสีทา มีพี่น้องด้วยกัน ๖ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๓ คน คือ
๑. นางทองดี ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
๒. พระครูจ้อย หรือ หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ
๓. พระภิกษูสิงห์ ( มรณภาพแล้ว )
๔.นางแต๋ว ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
๕.นางหนู เหล่าเขตกิจ
๖. พระภิกษุสุเทพ
วิทยฐานะ พ.ศ.๒๔๗๐ จบการศึกษาชั้นปฐมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนวัดดอนหวาย อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
นามสกุล ปานสีทา
ประวัติ วัดศรีอุทุมพร
สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีพระครูจ้อย ดำเนินการและปกครองวัดมาตั้งแต่แรก เริ่งสร้างวัดชาวบ้านมักเรียกว่า วัดวังเดื่อ ตามชื่อบ้านมาแต่เดิม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔
ประวัติการอุปสมบท
หลวงพ่อจ้อยอุปสมบทที่ วัดดอนหวาย ต.พรวงสองนาง จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๗๖ โดยมีพระครูปลัดตุ้ยเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญตาเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จันทสุวัณโณ ซึ่งแปลว่า ผู้มีผิวพรรณงามดั่งพระจันทร์
ด้านการศึกษาวิชาอาคม
ในขณะที่หลวงพ่อได้ไปตั้งต้นเดินธุดงค์จากเหนือลงมา ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ จนถึง จ.นครปฐม ได้มีการศึกษาวิชาอาคมไสยเวทย์ต่าง ๆกับพระอาจารย์หลายรูป เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก โดยเรียนวิชาการทำตะกรุดโทน ผ้าประเจียด การทำน้ำมนต์ เกี่ยวกับยันต์มหาอำนาจ แก้กันคุณไสยต่าง ๆ และการทะยันต์ตรีนิสิงเห หลังจากนั้นได้เดินทางไปเรียนวิชาต่อกับหลวงพ่อฉาบ วัดคลองจัน อ.หันคา จ.ชัยนาท โดยได้ทำการเรียนวิชา การเขียน ลบผงอิทธิเจ ปถมัง พุทธคุณ และมหาราช ต่อมาได้เดินทางไปหาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เพื่อแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ต่าง ๆ แก่กัน โดยหลวงพ่อได้เรียนวิชา พระคาถานะ ๑๐๘ ธาตุทั้ง ๔ และหัวใจพระคาถาต่าง ๆ และหลวงพ่อยังได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาอาคม กับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ โดยได้ศึกษาวิชาการทำมีดหมอเทพศัสตราวุธ สักกัสสะ วชิราวุธทัง ปลายันติ วิชาการปลุกเสกเกี่ยวกับงาแกะ และคาถาทำน้ำมนต์ต่าง ๆ
การไม่ยึดติด วัตถุ บุคคล สถานที่ ตำแหน่ง
วัตถุ เช่น ท่านจะไม่ยึดติด เรื่องเงินทอง ต่าง ๆ หรือสิ่งของ
บุคคล ท่านรับญาติโยมต่าง ๆเสมอภาคกันหมด ไม่เลือก รวย หรือจน ใครทำอะไรเพลี้ยงพลั้งไปหลวงพ่อท่านจะไม่ถือโทษ โกรธเคือง ไม่ยึดถือมาเป็นอารมณ์ ให้คนนั้นรู้ว่าท่านโกรธเขาอยู่
ไม่ยึดติดสถานที่ เรียบง่ายสมถะ จะฉันภัตตาหารตรงไหนก็ฉันได้ จะนอนตรงไหนก็นอนได้ ไม่พิถีพิถัน หรือมีพิธีรีตรอง จะเรียบง่ายตามความเหมาะสม
ไม่ยึดติดตำแหน่ง เมื่อประมาณปี ๒๕๑๔ ทางศิษยานุศิษย์ได้ทำเรื่องเสนอต่อคณะสงฆ์ของตำบล ไปจนถึงอำเภอ และจังหวัด ในเรื่องของตำแหน่ง ให้ท่านเป็น พระครู จวบจนทางคณะสงฆ์ได้มอบหมายตำแหน่งให้ท่าน ท่านได้ยอมรับตำแหน่งนี้ แต่ท่านไม่ได้เดินทางไปรับตำแหน่งพัดยศจากทางคณะสงฆ์ ท่านจึงมีตำแหน่งเพียงพระครู โดยที่ท่านไม่ได้มีตำแหน่งพัดยศแต่อย่างไร ต่อมาทางคณะสงฆ์มีมติมอบหมายตำแหน่งต่างๆ มากมาย เช่น พระครู พระอุปัฌชาย์ เป็นเจ้าคณะตำบล เป็นต้น แต่ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ครั้งหนึ่งท่านเคยกล่าวว่า บอกทางคณะสงฆ์และคณะตำบลด้วยว่า ไม่ต้องเอาอะไรมาให้ผม ถึงไม่เอามาให้ผม ผมก็ทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้ผมเป็นพระก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจะเป็นอะไรอีกแล้ว |