(N)
พระสมเด็จวัดโนนผึ้ง เป็นพระสมเด็จหลวงปู่หมุน รุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.2540 ที่วัดโนนผึ้ง จ.ศรีสะเกษ เมื่อครั้งที่หลวงปู่ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนผึ้ง ซึ่งเป็นวัดลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงพ่อประสาน พระสมเด็จวัดโนนผึ้ง สร้างและเสกด้วยเจตนาบริสุทธิ์ มวลสารที่อยู่ในองค์พระนั้นหามารวมกันหลายชั่วอายุคนรุ่นต่อรุ่น จากอาจารย์สู่ลูกศิษย์ ผงนี้ศักดิ์สิทธิ์อาถรรพ์ยิ่งนัก มีมวลสารจากชานหมากของครูอาจารย์มากมายและยอดมวลสารที่วิเศษอย่างยิ่งก็คือ มวลสารที่ได้จากพิธีการลบผงในโบสถ์ของหลวงปู่หมุน ซึ่งท่านได้บอกว่าการลบผงนี้ทำได้ยากมากๆ ในชีวิตคนหนึ่งจะทำสำเร็จได้เพียงไม่กี่ครั้ง ยากนักที่ใครจะทำได้ เห็นจะมีก็แต่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังฯ หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร และหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุนนาคเท่านั้นที่ทำได้ ซึ่งหลวงปู่หมุนท่านได้สำเร็จวิชาการลบผงสีตำรับของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)มาจากหลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุนนาค ซึ่งนับเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์ที่ศึกษาจนสำเร็จวิชานี้ได้ จึงไม่ต้องสงสัยแต่อย่างใดเลยว่า พระสมเด็จวัดโนนผึ้งชุดนี้จะดีจริงหรือไม่
พระสมเด็จวัดโนนผึ้ง มีพุทธศิลป์เดียว คือ ด้านหน้าเป็นพระสมเด็จปางสมาธิ ฐาน 3 ชั้น ฐานชั้นกลางจะขึ้นเป็นเส้นคม ปลายฐานจะค่อยๆโค้งงอขึ้นด้านบนอย่างอ่อนช้อยสวยงาม อยู่ภายในเส้นครอบซุ้มผ่าหวายยอดปลายพระเกศจะไม่จรดติดกับเส้นขอบซุ้ม ด้านหลังเป็นยันต์ใหญ่ และตัวอักษร วัดโนนผึ้ง อ.กันทรารมย์ จ. ศรีสะเกษ
แยกเป็น 3 พิมพ์ ตามขนาดขององค์พระ ดังนี้
1. พิมพ์จัมโบ้ ขอบล่างกว้าง 2.4 ซ.ม. ขอบบนกว้าง 2.2 ซ.ม.สูง 3.6 ซ.ม.
2. พิมพ์ใหญ่ ขอบล่างกว้าง 2.2 ซ.ม. ขอบบนกว้าง 2.1 ซ.ม.สูง 3.3 ซ.ม.
3. พิมพ์เล็ก ขอบล่างกว้าง 2.0 ซ.ม. ขอบบนกว้าง 1.9 ซ.ม.สูง 3.0 ซ.ม.
ทั้ง 3 พิมพ์จะมีทั้งแบบองค์พระบาง และองค์พระหนา
จำแนกตามเนื้อมวลสารหลักที่สร้าง ซึ่งมีทั้งประเภทเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด โดยจะเรียงลำดับจากที่หายากพบเห็นน้อยไปหามาก ดังนี้
แบบที่ 1. เนื้อผงพุทธคุณ 108 มีเม็ดพระธาตุงอก
แบบที่ 2. เนื้อผงพุทธคุณ 108 แก่เส้นเกศา
แบบที่ 3. เนื้อผงพุทธคุณ 108 แก่ชานหมาก
แบบที่ 4. เนื้อผงพุทธคุณ 108 แก่ว่าน
แบบที่ 5. เนื้อผงพุทธคุณ 108 แก่ผงตะไบ
แบบที่ 6. เนื้อผงพุทธคุณ 108 แก่ผงธูป
แบบที่ 7. เนื้อผงพุทธคุณ 108
จำแนกตามโซนสีขององค์พระ ซึ่งการเกิดโซนสีที่ต่างกันนั้น ก็เนื่องมาจากอัตราสัดส่วนผสมและชนิดของเนื้อผงพุทธคุณ ว่านและชานหมากที่ใช้สร้างแตกต่างกัน โดยจะเรียงลำดับจากที่หายากพบเห็นน้อยไปหามาก ดังนี้
แบบที่ 1. โซนสีดำ (แก่ว่านไพรดำ)
แบบที่ 2. โซนสีขาว (แก่ว่านขาวจ้าวทรัพย์)
แบบที่ 3. โซนสีน้ำตาลเข้ม (แก่ชานหมาก)
แบบที่ 4. โซนสีเหลืองขมิ้น
แบบที่ 5. โซนสีเทา (แก่ผงธูป)
แบบที่ 6. โซนสีน้ำตาลอ่อน
จำแนกตามวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุเพิ่มเติมลงในองค์พระ เรียงลำดับจากที่หายากพบเห็นน้อยไปหามาก ดังนี้
แบบที่ 1. ฝังเพชรหน้าทั่ง
แบบที่ 2. ทาทองด้านหน้าและหลัง อุดจีวรใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 3. ทาทองด้านหน้า ลงรักด้านหลัง อุดจีวรใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 4. ทาทองด้านหน้าและหลัง ไม่อุดจีวรใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 5. ทาทองด้านหน้า ลงรักด้านหลัง ไม่อุดจีวรใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 6. ติดเส้นเกศาและปิดแผ่นจีวรทับบริเวณกลางองค์พระด้านหลัง
แบบที่ 7. ติดแผ่นจีวรกลางองค์พระด้านหลัง
แบบที่ 8. อุดจีวรใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 9. ติดเศษธนบัตรใบละ 100 บาทที่ผิวองค์พระ
แบบที่ 10 อุดเศษธนบัตรใบละ 100 บาทใต้ขอบสันด้านล่าง
แบบที่ 11. โรยผงตะไบที่ผิวพระ
แบบที่ 12. ฝังพลอยดิบเม็ดใหญ่ที่ผิวพระ
แบบที่ 13. โรยแร่ที่ผิวพระ
แบบที่ 14. ผสมพลอยดิบเม็ดเล็กลงไปในเนื้อมวลสาร
ประวัติโดยย่อ หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล สกุลเดิม ศรีสงคราม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. 2437 ณ บ้านจาน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ บิดาชื่อดี มารดาชื่ออั๊ว บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี ครอบครัวได้นำไปฝากกับพระอาจารย์สีดา เจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ผู้เป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกัมมัฎฐานและมีวิชาอาคมที่เก่งมาก กระทั่งปี พ.ศ. 2460 ทำการอุปสมบท โดยมีหลวงพ่อสีดา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐิตสีโล" แปลว่าผู้มีศีลตั้งมั่น หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดบ้านจาน ศึกษาเล่าเรียนอักษรไทย อักษรขอม ฝึกกัมมัฎฐานในหมวดสมถะและวิปัสสนากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปี จากนั้นท่านมีความคิดว่าจะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไปอีก จึงออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระเถระชื่อดังหลายรูปเกือบทั่วประเทศจนถึงประเทศลาว มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ตลอดชีวิตแห่งการครองเพศบรรพชิต อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ได้อุทิศตน ปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งคำสอนของพระศาสดาอันพึงจะกระทำ สมกับฉายานามอันได้รับเมื่อครั้งอุปสมทบคือ "ฐิตสีโล" 85 พรรษาแห่งการครองผ้ากาสาวพัตร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยออกจาริกธุดงค์ ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อวิมุติ คือ ความหลุดพ้นตลอดจนออกโปรดญาติโยมไปยังทิศานุทิศ ทั่วทุกภาคของประเทศ ในช่วงปัจฉิมวัย ตราบจนล่วงเข้าอายุ 80 ปี จึงได้หยุดจารึก กลับสู่มาตุภูมิ คือแดนแห่งบ้านเกิด คือวัดบ้านจานในปัจจุบัน และเป็นหลักชัยให้แก่ชาวบ้าน ต.บ้านจาน อันเปรียบเสมือน ลูก หลาน เหลน ของท่าน ไม่อาจจะพยากรณ์ได้ว่าพระเดชคุณ หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล จะเป็นพระอริยะสงฆ์ผู้สามารถประหารกิเลส บรรลุสู่คุณธรรมชั้นสูงหรือไม่ แต่ ศิษยานุศิษย์ก็กราบไหว้และเคารพนับถือท่านด้วยความสนิทใจในปฏิปทาอาจาริยวัตรที่ท่านประพฤติ ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลา 07:30 น. วันที่ 11 มี.ค. 2546 วงการสงฆ์และฆราวาส จ.ศรีสะเกษ ต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ โดย หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ต.จาน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา รวมอายุ 109 ปี 87 พรรษา
วาจาสิทธิ์ของหลวงปู่หมุน ที่ได้กล่าวไว้ก่อนละสังขาร ซึ่งลูกศิษย์และชาวบ้านต่างจดจำได้ติดหู คือ "..ของๆฉันสร้างเองกับมือ ใครมีไว้บูชาจะ หมุนโชคลาภร่ำรวยตลอดเวลา ทำมาค้าขึ้น ไม่มีวันจนประกอบสัมมาอาชีพใดก็รุ่งเรือง เจริญลาภยศสรรเสริญ จะมีชื่อเสียงหอมขจรขจาย ขอให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี ละเว้นชั่ว คุณพระจะรักษา เทวดาจะคุ้มครอง แม้นว่าฉันจะตายไป ของๆ ฉันจะขลังกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า น้ำลาย ไอปาก ลมปราณที่ประจุลงไปด้วยพลังจิตอันเข้มขลังของฉัน ย่อมเป็น หนึ่งบ่เป็นสอง ครบเครื่องเป็นองค์พระที่ดีทั้งนอก ดีทั้งใน ฝากไว้ในแผ่นดิน ให้เลื่องชื่อลือนาม ลือเรื่องถึงเมืองแมน " |