(N)
วัดนางชีเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณ สืบไม่ได้ความชัดเจนนักว่าสร้างมาแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่ก็พอสรุปได้ว่าเป็นวัดเก่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดเล็กๆ และสาเหตุที่เรียกชื่อว่าวัดนางชี น่าจะมาจากพระนามของสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์ มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยดฟ้าจุฬาโลกหมาราช (รัชกาลที่1 พ.ศ. 2325-2352) ซึ่ง สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์ฯ ท่านได้เสด็จหนีออกมาบวชเป็นชี เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดความขัดแย้งกันในพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3 พ.ศ.2367-2394) จึงได้รับพระราชทาน การสถาปานาเป็นพระอารามหลวง และโปรดเกล้าให้ให้เจ้า พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นแม่งานซ่อมสร้างจึงปรากฏฝีมือเป็นศิลปะแบบอย่างช่างจีน เช่นที่พระอุโบสถวิหาร ส่วนประกอบเครื่องบน ไม่นิยมทำช่อฟ้าใบระกาอย่างสถาปัตยกรรมไทย หลังคามักจะมุงกระเบื้องสีเหลืองกับสีเขียว บานประตูพระอุโบสถจำหลักเป็นลวดลายเชิงศิลปะช่างจีน ทำนองเดียวกับพระอุโบสถวัดเทพธิดาฯ ตามพระราชนิยมในยุคนั้น
หากเคยไปกราบหลวงปู่เอี่ยม ที่วัดหนังราชวรวิหาร วัดนางชีจะอยู่ยริเวณเดียวกับห่างกันแค่ชั่วข้ามคลองบางขุนเทียน ในปัจจุบันแค่เดินข้ามถนนเล็ก ๆ ที่ตัดผ่านวัดก็ถึงวัดนางชีแล้ว ภายในวัดนางชีที่หน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์ราย แบบย่อไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ 4 องค์ อันเป็นที่บรรจุกรุพระปิดตาพิมพ์ต่างๆ ไว้ การเปิดกรุที่วัดนางชีมีอยู่หลายครั้งหลายหน แต่การเปิดกรุในครั้งแรกอยู่ระหว่างสงครามอินโดจีน ราวๆ ปี พ.ศ. 2484-2487 โดยได้มีคนร้ายได้เข้าเจาะพระเจดีย์ค้นหาสมบัติเป็นการเริ่มแรกก่อน ทางวัดเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นช่องทางให้คนร้ายย้อนกลับมากระทำการอีก จึงได้เปิดกรุต่อและขุดพบพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่วมากมายหลายสิบพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นพระปิดตา พิมพ์ต่างๆ และพิมพ์อื่นๆ อีกสองสามพิมพ์ รวมถึงพิมพ์นาคปรกขนาดเล็กกระทัดรัดและพิมพ์ปรกโพธิ์อีกด้วย เนื้อพระที่พบเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว พระทั้งหมดที่พบได้มีความนิยมเล่นหากันมานานแล้ว แต่พระของวัดหนังจะได้รับความนิยมสูงกว่าจวบจนปัจจุบัน พระทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในกรุนี้สันนิษฐานได้ว่า หลวงปู่เอี่ยม (ท่านเจ้าคุณภาวนาโกศลเถระ) เป็นผู้สร้างพระเครื่องเหล่านี้ไว้ โดยอาจจะมีพิธีพุทธาภิเษกของทางวัดและได้นิมนต์ท่านหลวงปู่เอี่ยมเป็นเจ้าพิธี เนื่องจากพิมพ์หลายๆ พิมพ์ก็ละม้ายเหมือนกับพระของวัดหนังมาก และพระเครื่องอีกหลายๆ วัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้มีการจัดสร้างพระพิมพ์ต่าง ๆ ในสมัยนั้นก็มักจะนิมนต์หลวงปู่เอี่ยมท่านช่วยสร้างให้แทบทั้งสิ้น กล่าวกันว่าพุทธคุณของพระกรุนี้เด่นดังทางแคล้วคลาดคงกระพันเป็นเยี่ยม ไม่แพ้ของวัดหนังเลย |